ซึมเศร้ารู้เร็วลดเสี่ยงฆ่าตัวตาย เช็กง่ายๆ ผ่าน "DMIND” ด้วยตนเอง
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน
ศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 100 คน จะเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น พบว่าเพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าเพศชาย แต่เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- “DMIND” แอปพลิเคชั่น คัดกรองโรคซึมเศร้า
“นวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า" เป็นโครงการที่พัฒนาร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (UTC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือกับทางกรมสุขภาพจิต ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาวิเคราะห์ใบหน้า น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ซึ่ง DMIND ใช้เวลาในการพัฒนากว่า 3ปี จึงสามารถมั่นใจได้กับความแม่นยำ
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า DMIND Application ซึ่งเข้าผ่านระบบหมอพร้อม นั้นจะช่วยให้ทุกคนได้เข้ามาประเมินภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเอง อีกครั้งจะเป็นการส่งข้อมูลไปยังทีมแพทย์ จุฬาฯ และทีมแพทย์จากกรมสุขภาพจิตในการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหากมีภาวะรุนแรงได้ทันที ดังนั้น DMIND Application จะช่วยผู้ป่วยสุขภาพจิต ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้
- ขั้นตอน "DMIND" เช็กโรคซึมเศร้าด้วยตนเอง
ภาวะโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ทุกคนรวมถึงในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย
โดยสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า มักมองว่าเป็นเพียงอาการ หรือสภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือมองว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ
ทั้งที่ในความจริงแล้ว “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพื่อการบำบัดหรือใช้ยาร่วมด้วย
สำหรับขั้นตอนการคัดกรองภาวะโรคซึมเศร้าด้วยตนเอง มีดังนี้
- เข้าผ่านระบบ “หมอพร้อม” คลิกเมนูหลัก
- กดตรง “ตรวจสุขภาพใจ”และจะเริ่มต้นทำแบบทดสอบด้วยตนเอง
- เลือกความรู้สึกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และคำถามอื่นๆ
- แชทบอท กับคุณหมอพอดี
- คุณหมอพอดีจะตอบคำถาม และประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้น
- วิเคราะห์ผ่านใบหน้า น้ำเสียง และข้อความ
- แบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็นระดับสีเขียว (ปกติ) สีเหลือง(ปานกลาง) สีแดง (รุนแรงมาก)
- หากเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลือง จะมีทีมแพทย์ติดต่อกลับไปภายใน 1-2 วัน
- หากเป็นผู้ป่วยระดับสีแดง จะมีทีมแพทย์ติดต่อกลับไปภายใน 5 นาที
- แนะคนไทยประเมินภาวะซึมเศร้าให้เร็ว
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า DMIND Application เป็นผลการทำงานโดยมีการนำ AI มาใช้ ซึ่งจะทำให้ระบบบริการสุขภาพจิตดีขึ้น ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยตั้งแต่เปิด DMIND Application มาแล้วประมาณ 2 เดือน พบว่ามีผู้เข้ามาใช้บริการผ่านระบบหมอพร้อม สู่การประเมินด้วยคุณหมอพอดีแล้วเดือนละ 4,000 คน ถือว่าสูงมาก และขณะนี้ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าระดับรุนแรงเสี่ยงฆ่าตัวตายไปแล้ว 100 กว่าคน
“จากจำนวนผู้มาใช้บริการ DMIND Application พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าระดับปานกลาง และรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าตัวเองเป็นหรือไม่เป็น แต่กว่าพวกเขาจะตระหนักเข้ารับการประเมินส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับรุนแรงแล้ว ดังนั้น ขอให้ทุกคนที่มีความเสี่ยง หรือสงสัยว่าตัวเองมีอาการ ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ อยากให้ลองเข้าDMIND Application เพื่อจะได้รู้ระดับอารมณ์ของตนเอง และรู้ถึงระดับของภาวะโรคดังกล่าว ลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายที่จะเกิดขึ้น” พญ.อัมพร กล่าว
- การทำงานของ DMIND Application
รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการทำงานของ DMIND Application ว่าด้วยข้อจำกัดการเข้าถึงบริการทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็น ทัศนคติด้านลยต่อโรคทางจิตเวช ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดนวัตกรรม DMIND Application ภายใต้การทำงานจากหลายภาคส่วน ในการช่วยประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้
รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า แอปพลิเคชั่นดังกล่าว จะเชื่อมกับระบบหมอพร้อม ซึ่งผู้รับการประเมินสามารถประเมินได้ด้วยตนเอง ผ่านการเข้าไปในแชทบอท และจะพบกับ คุณหมอพอดี AI ที่ถูกออกแบบมาเป็นคุณหมอ เป็นเพื่อนที่พร้อมรับฟังทุกความรู้สึกของทุกคน
คุณหมอพอดี สามารถตอบคำถาม และประเมินระดับความซึมเศร้าผ่านการวิเคราะห์ผ่านน้ำเสียง การแสดงสีหน้า และข้อความต่างๆ ในรูปแบบการพูดคุย ทำให้เกิดการวิเคราะห์ภาวะซึมเศร้าได้อย่างแม่นยำ เป็นเสมือนได้เข้าพบคุณหมอจริงๆ ในการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าความแม่นยำมีมากกว่า 75.82%
รศ.ดร.พีรพล กล่าวต่อว่า มีเพียงโมบายแอปพลิเคชั่น ก็จะสามารถเข้าสู่นวัตกรรม DMIND Application เพื่อเข้ารับการประเมินภาวะซึมเศร้าได้ โดยผลการประเมินจะมีการเชื่อมต่อกับรพ.จุฬาฯ และกรมสุขภาพจิต ซึ่งจะแบ่งผลการประเมินเป็นกลุ่มสีเขียว คือ ปกติยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กลุ่มสีเหลือง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าระดับปานกลาง จะมีทีมแพทย์ติดต่อกลับภายใน 1-2 วัน เพื่อให้คำแนะนำและเฝ้าติดตามอาการต่างๆ และกลุ่มสีแดง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าระดับรุนแรงมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย จะมีทีมแพทย์ติดต่อกลับไประมาณ 5 นาที เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างมาก
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพียงเสี่ยววินาทีฆ่าตัวตายได้
ดีเจมะตูม นายเตชินท์ พลอยเพชร นักแสดง พิธีกร และผู้ดำเนินการรายการวิทยุ กล่าวว่าโดยส่วนตัว ไม่คิดว่าตนเองจะมีโอกาส หรือเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เพราะเราเป็นคนสนุกสนาน จนกระทั่งเกิดเรื่องดราม่าเข้ามารุมเร้ามากมาย ตื่นมาเช้าวันหนึ่งจากโลกที่สดใส กลับเห็นทุกอย่างเป็นสีเทา และรู้สึกว่าชีวิตแย่มาก
“มีช่วงหนึ่งไปนั่งตรงระเบียงของคอนโด และมองว่าควรกระโดดลงไปหรือไม่ เพราะเราอยากปิดสวิสต์ ไม่อยากรับรู้เรื่องต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงเสี่ยววินาทีจริงๆ ที่เรามีความคิดอยากกระโดดลงไป แต่โชคดีที่มีเพื่อน มีแม่ ถึงเราจะไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า แถมเมื่อรู้ว่ามีอาการโรคซึมเศร้ากลับสะกดตัวเองว่าไม่เป็นโรคนี้ เพราะเชื่อว่าโรคนี้ไม่มี หากไปหาจิตแพทย์กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเป็นบ้า ดังนั้น การมีนวัตกรรม DMIND Application จะช่วยคนที่ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ หรือยังไม่มั่นใจว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ได้คัดกรอง และรู้ภาวะของตัวเองได้ดีขึ้น” ดีเจมะตูม กล่าว
- สิ่งที่ควรทำให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า
การคิดฆ่าตัวตายเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งอาการผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนจะแตกต่างกัน ตอนนี้ “ดีเจมะตูม” ไม่ได้รู้สึกอยากตาย แต่อยากหยุดตัวเอง แต่หากมีคนใกล้ตัว หรือมีใครที่จะอยู่ใกล้ๆ เขา ให้คำแนะนำ หรือดึงออกมาจากจุดนั้น เชื่อว่าการฆ่าตัวตายจะลดน้อยลง
ภาวะซึมเศร้าสามารถรักษาได้ทั้งการพบแพทย์ การบำบัด การทานยา แต่สิ่งที่ทุกคนควรทำเพื่อห่างไกลจากโรคนี้ คือ
- หมั่นดูแลตนเองให้มีสุขภาพกาย ใจ
- ฝึกคิดบวก มองโลกในแง่ดี
- ใช้ชีวิตไม่เคร่งเครียด
- ไม่กล่าวโทษไปทุกเรื่อง
- หากิจกรรมคลายเครียด