"อียู" ร่วมมือ "แอ็คชั่นเอด" ประเทศไทย ดันแคมเปญ "โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ"

"อียู" ร่วมมือ "แอ็คชั่นเอด" ประเทศไทย ดันแคมเปญ "โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ"

สหภาพยุโรป (อียู) ร่วมมือ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด (ประเทศไทย) และ องค์กรภาคีในเครือข่ายที่ทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จัดแคมเปญ #โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ วอนสังคมเลิกตีตรา หยุดแบ่งแยก ไม่ทอดทิ้ง แรงงานข้ามชาติ

กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทุกชาติทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่า โรคระบาดดังกล่าวนี้จะจบลงเมื่อใด

 “ความไม่รู้” และ “ความไม่แน่นอน” ส่งผลให้ ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา การรับมือในทุกภาคส่วนของหลายประเทศทั่วโลกนั้น เป็นไปอย่างสับสน วุ่นวาย ไร้ทิศทาง 

สำหรับประเทศไทย แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกสะสมพอกพูนจากการต่อสู้กับโควิด-19 ยังคงเป็นบาดแผลเรื้อรัง สะท้อนถึงการรับมือปัญหาโดยขาดแบบแผน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบางอย่างเช่นแรงงานข้ามชาติ เช่น ชาวเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา 

  • กลุ่มเปราะบางที่ถูกตีตรา

ในคลัสเตอร์การระบาดระลอกหนึ่งในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2564 แรงงานข้ามชาติถูกตีตราว่าเป็นตัวเชื้อโรค นำพาโรคระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทย และเป็นตัวการสำคัญในการแพร่เชื้อออกไปสู่สังคม

ถ้ายังจำกันได้ ในเวลานั้นพวกเขาถูกกีดกันทางสังคม ถูกแบ่งแยกจากโอกาสต่าง ๆ ในการเข้าถึงการเยียวยาและสวัสดิการ 

ปัจจุบันแม้ว่าคนไทย เจ้าของกิจการ ที่ต้องใช้กลุ่มแรงงานข้ามชาติจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 มากขึ้น แต่จากเสียงสะท้อนของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า การตีตรา แบ่งแยก เลิกจ้าง และ ทอดทิ้งกลุ่มคนเหล่านี้ ยังคงมีอยู่ไม่หายไปแต่อย่างใด ซ้ำยังทวีคูณความรุนแรง ก่อให้เกิดเป็นปัญหาของสังคม อีกหลายด้านตามมา ที่อาจกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมภาพรวมของประเทศอย่างมาก

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง สหภาพยุโรป (อียู)  มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และ องค์กรภาคีในเครือข่ายที่ทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติอื่นๆ ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด จัดแคมเปญ #โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์และผลักดันให้ประชาชนคนไทย ผู้ประกอบการ ฝ่ายบุคคล และ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ เลิกการตีตรา หยุดแบ่งแยก ไม่ทอดทิ้ง และให้ความเท่าเทียมกัน

สิ่งที่ถูกสื่อสารผ่านโครงการนี้ คือการตั้งคำถามและสร้างความตระหนัก ผ่านการจัดทำข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งในรูปแบบ Infographic  บทความ และ วิดีโอ ภายใต้ “โครงการอียูรับมือโควิด” เผยแพร่ผ่าน Facebook Fanpage : โครงการอียูรับมือโควิด EU Covid-19 Response and Recovery Project

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็น เจ้าของกิจการ ฝ่ายบุคคล หรือ ใครก็ตาม ควรมองกลุ่มคนเหล่านี้เท่ากัน  เลิกตีตรา เชื้อชาติ สถานะทางสังคม หยุดแบ่งแยก กลุ่มแรงงานข้ามชาติว่าเป็นเพียงชนชั้นแรงงาน 

สำหรับผู้สนับสนุน สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญได้โดยการติด # ที่เกี่ยวข้องได้แก่

#อียูรับมือโควิด

#EUCovid19ResponseThailand

#โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ

#เราก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติและแบ่งแยกเชื้อชาติเช่นกัน

#COVID19isNotAboutRace

#LetsStopStigmatization