'สอบ ก.พ.66' ใบรับรองผลการสอบ ก.พ. ใช้ยื่น 'สมัครงาน' อาชีพไหนได้บ้าง?

'สอบ ก.พ.66' ใบรับรองผลการสอบ ก.พ. ใช้ยื่น 'สมัครงาน' อาชีพไหนได้บ้าง?

ใกล้เข้ามาแล้ว! "สอบ ก.พ. 66" (ภาค ก) ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 แบบกระดาษ (Paper & Pencil) เป็นด่านแรกสำหรับผู้ที่อยากเป็น "ข้าราชการ" ต้องสอบให้ผ่าน ชวนรู้ผลสอบ ก.พ. เอาไปยื่น "สมัครงาน" อะไรได้บ้าง?

การสมัคร "สอบ ก.พ. 66" ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2566 แล้ว โดยเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) เป็นวันประกาศสนามสอบทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สมัครสอบเตรียมเช็กสถานที่สอบของตนเองให้พร้อม ก่อนจะถึงวันสอบจริงในวันที่ 2 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการสอบ ก.พ. แบบใช้ชุดสอบกระดาษ (Paper & Pencil) เท่านั้น ส่วนการสอบแบบ e-Exam (ออนไลน์) เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ 30 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา 

สำหรับใครที่ยังสงสัยว่าทำไมการสอบ ก.พ. ของแต่ละปี จึงเป็นฤดูกาลแห่งการสอบที่คึกคักและมีผู้คนให้ความสนใจล้นหลาม แล้วถ้าสอบผ่านจะสามารถเอาผลสอบไปยื่นสมัครงานอะไรได้บ้าง? กรุงเทพธุรกิจ ชวนหาคำตอบที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. สอบ ก.พ. คืออะไร? สอบไปทำไม?

การสอบ ก.พ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.พ. (OCSC) หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นองค์การที่ดูแลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน มีหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี รวมถึงร่วมพัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

การสอบ ก.พ. จึงเป็นการสอบแข่งขัน เพื่อคัดเลือกบุคคลในระดับวุฒิการศึกษา และสาขาวิชาชีพที่แตกต่างกัน ที่มีความสนใจอาชีพราชการให้เข้ามาทำงานให้กับหน่วยงานราชการ การสอบ ก.พ. จึงเปรียบเสมือนตัวกลางระหว่าง "ผู้ที่ต้องการทำงานราชการ" กับ "หน่วยงานราชการที่อาจขาดแคลนกำลังคน" นั่นเอง 

ในแต่ละปี มีผู้สนใจเข้าสมัครสอบ ก.พ. จำนวน 5 - 6 แสนคนต่อปี โดยเปิดรับสมัครที่นั่งสอบประมาณ 800,000 ที่นั่ง โดยคนไทยหลายคนอยากทำอาชีพข้าราชการ เพราะเห็นว่าสวัสดิการข้าราชการต่างๆ ตอบโจทย์ตนเองได้ แต่ทั้งนี้มีผู้สอบผ่าน ภาค ก เพียงปีละ 2-3% เท่านั้น 

2. สอบ ก.พ. ผ่านแล้ว "สมัครงาน" อะไรได้บ้าง?

โดยทั่วไปการสอบ ก.พ. จะต้องสอบทั้งหมด 3 รอบคือ ภาค ก , ภาค ข, ภาค ค เมื่อสามารถสอบผ่านแล้ว ก็สามารถนำผลสอบไปใช้ในการสมัครงานในหน่วยงานราชการต่างๆ ได้หลากหลายตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น

  • นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
  • นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ
  • นักวิชาการตรวจสอบภายในปฏิบัติการ
  • พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ 
  • เภสัชกรปฏิบัติการ 
  • นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ
  • นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ 
  • นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ

ทั้งนี้ คุณสมบัติและอายุของผู้เข้าสอบ ก.พ. ที่ผู้อยากเข้าร่วมสอบต้องผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ 

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ไม่กำหนดอายุสูงสุด)
  • มีสัญชาติไทย
  • ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
  • ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

3. "สอบ ก.พ." ภาค ก สอบวิชาอะไรบ้าง?

การสอบ ก.พ. ภาค ก คือ การสอบวัดความรู้ ความสามารถทั่วไป ที่มีการจัดสอบเป็นประจำในทุกปี โดยก่อนจะไปสมัครงานราชการได้นั้น ต้องสอบด่านแรกนี้ให้ผ่านก่อน จึงจะไปสอบขั้นต่อไปได้ โดย ภาค ก จะแบ่งออกเป็น 3 วิชา ได้แก่

  • วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ได้แก่ การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา, การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม และการคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยจะเป็นข้อสอบจำนวน 50 ข้อ 100 คะแนน
  • วิชาภาษาอังกฤษ วัดทักษะด้านต่าง ๆ ของภาษาอังกฤษในระดับเบื้องต้น ได้แก่ การพูด การเขียน การอ่าน และการฟังภาษาอังกฤษ ข้อสอบจำนวน 25 ข้อ 50 คะแนน
  • วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี ทดสอบความรู้พื้นฐานของการเป็นข้าราชการที่ดี ข้อสอบจำนวน 25 ข้อ 50 คะแนน เช่น ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน, หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี, วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, หน้าที่และความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ 

4. "สอบ ก.พ." ภาค ข สอบอะไรบ้าง?

สำหรับการสอบภาค ข เป็นการสอบวัดความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง โดยผู้สมัครสอบจะต้องนำหนังสือรับรองการสอบผ่านภาค ก มายืนยันก่อน จึงจะสามารถสมัครสอบในภาค ข ได้ 

ส่วนเนื้อหาที่ใช้ในการสอบ คือ เน้นใช้ความรู้และความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ผู้จัดสอบ ก.พ. ในภาคนี้จะเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เปิดรับสมัครเป็นหน่วยๆ ไป ซึ่งการสอบภาค ข จะมีการเปิดสอบสำหรับหลายตำแหน่ง โดยตำแหน่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่

  • นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
  • นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
  • นิติกร
  • เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน เป็นต้น

5. "สอบ ก.พ." ภาค ค สอบอะไรบ้าง?

เมื่อผู้เข้าสอบได้สอบผ่านทั้งภาค ก. และภาค ข. แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือก "ข้าราชการ" คือ "การสอบสัมภาษณ์" โดยจะมีผู้สัมภาษณ์จากหน่วยงานต้นสังกัดนั้นๆ มาร่วมทำการทดสอบ  นอกจากนี้อาจมีการทดสอบเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น ทดสอบร่างกาย  หรือทดสอบจิตวิทยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะทำข้อสอบให้ผ่านฉลุยตั้งแต่ครั้งแรกนั้น (โดยเฉพาะภาค ก) มีคำแนะนำว่าผู้สมัครสอบควรศึกษาข้อรายละเอียดข้อสอบ เพื่อให้ทราบเนื้อหาของข้อสอบ และจำนวนข้ออย่างชัดเจน ทำให้อ่านเนื้อหาสำคัญได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อได้

อีกทั้งควรฝึกทำข้อสอบเก่า พร้อมจับเวลาเหมือนสอบจริง เพื่อช่วยสร้างความคุ้นเคยกับข้อสอบ เมื่อลงสนามจริงจะได้ไม่ตื่นเต้น และช่วยลดความกังวลได้

----------------------------------------

อ้างอิง : gurupoliceacademy, สำนักงาน ก.พ.