"โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอมิครอน BA.4 BA.5 เราต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน?
ประเด็น "โควิดสายพันธุ์ใหม่" สายพันธุ์ย่อย BA.4 / BA.5 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (อาจารย์เจษฎ์) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ "โควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เราต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน?"
ประเด็น "โควิดสายพันธุ์ใหม่" สายพันธุ์ย่อย BA.4 / BA.5 หลังจากที่เมื่อวานนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงพบโควิด-19 โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ระบาดในไทยแล้ว 45% ขณะที่ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (อาจารย์เจษฎ์) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ "โควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เราต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน?"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- BA.4/BA.5 ครองระบาดในไทยกว่า 45 % เคยติด "โควิดโอมิครอน"แล้วติดซ้ำได้
- ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 2,236 ราย ตาย 16 ราย ATK อีก 3,637 ราย
- อัปเดต โควิดวันนี้ 10 จ.ติดเชื้อสูง กทม. 1,415 จับตาปากน้ำ อุบล ตราด
หลังจากที่เริ่มมีรายงานข่าวว่าพบไวรัสโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ชื่อว่า BA.4 และ BA.5 ระบาดมากขึ้นในหลายประเทศ และล่าสุด ก็มีพบจำนวนหนึ่งในประเทศไทยเราด้วย ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่า เราจะต้องกังวลเกี่ยวกับเชื้อตัวนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องเตรียมการรับมืออะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ผมลองสรุปข้อมูลที่พอจะหาได้มาให้พิจารณากันนะครับ
- โควิดสายพันธุ์โอมิครอนนั้น มีวิวัฒนาการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เช่น สายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งระบาดเป็นหลักในประเทศไทยเราช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
- แต่ตอนนี้ มันก็มีวิวัฒนาการไปอีก เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 (ดูแผนภูมิในรูปประกอบ) ซึ่งมีอัตราการแพร่ระบาดที่เร็วขึ้นกว่าเดิม มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในปอดได้มากขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วมันอาจจะเป็นตัวที่อันตรายขึ้นกว่าโอมิครอนเดิม (คือ BA.2) แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานโดยตรง ว่ามันทำให้เกิดอาการของโรคที่ซีเรียสขึ้นจริง
- แม้จะฟังดูน่ากังวล แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณชี้บ่งว่ามันจะทำให้เกิด "คลื่น (wave)" การแพร่ระบาดใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตมากมายขึ้นอีก แต่อาจจะมีการเพิ่มขึ้นบ้างพอเห็นเป็นพีค และผู้ที่จะเสี่ยงชีวิตกับเชื้อนี้ ก็ยังคงเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน
- ตอนนี้ สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดกว่า 97% ที่ระบาดอยู่ทั่วโลกนั้น เป็นโอมิครอน โดยมีสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากที่สุด (39% ของพวกโอมิครอนทั้งหมด) ขณะที่สายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 มีอยู่ 28%, BA.5 มี 6%, และ BA.4 มี 3%
- แต่การที่สายพันธุ์ย่อยหลังๆนั้น เริ่มมีมากขึ้น และอาจจะเข้าแทนที่ BA.2 ได้ องค์การ อนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้พวกมันเป็น “สายวิวัฒนาการ ที่กำลังจับตามอง ของสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern lineages under monitoring)
- มีรายงานการระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในประเทศอัฟริกาใต้ และประเทศโปรตุเกส ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นพีค และตอนนี้ก็มีรายงานว่าเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อยนี้ มีอัตราส่วนเพิ่มมากขึ้น ในประเทศยุโรปอื่นๆ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา โดยมีแนวโน้มว่าอาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอนาคต
- ประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์กังวลกันของเชื้อพวกนี้ (ทั้ง BA.4 , BA.5 และ BA.2.12.1) ก็คือการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นที่ยีนโปรตีนหนาม ในตำแหน่ง LR452 ที่อาจจะเป็นตัวการทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ย่อยเดิม
- รวมทั้ง พวกมันเหมือนจะติดเชื้อที่เนื้อเยื่อปอดได้มากขึ้น ซึ่งคล้ายคลึงกับสายพันธุ์อื่นๆ อย่าง อัลฟ่า Alpha หรือ เดลต้า Delta (โอมิครอนตัวเก่า อย่างสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 มักจะติดเชื้อที่เนื้อเยื่อทางเดินหายใจตอนบน เช่นเซลล์บุในโพรงจมูก มากกว่า
- ข้อมูลเบื้องต้นจากงานวิจัยของ Kei Sato และคณะที่มหาวิทยาลัยโตเกียว แสดงให้เห็นว่า BA.4/5 และ BA.2.12.1 นั้นเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดของคน ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า BA.2
- ส่วนการทดลองของพวกเขา ในหนูแฮมสเตอร์ ก็พบว่า BA.4 และ BA.5 สามารถทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงได้ (แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานในมนุษย์ก็ตาม) รวมถึงการที่มันเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น และอาจจะดื้อต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายหนู ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อก่อนหน้านั้น
- เป็นไปได้ว่า ที่ BA.4 และ BA.5 จะมาแทนที่สายพันธุ์อื่นได้นั้น เนื่องจากว่ามันมีความสามารถในการที่จะหลบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่เกิดจากการที่เคยติดเชื้อหรือจากการฉีดวัคซีน จนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้
- อย่างไรก็ตาม วัคซีนก็ยังเป็นเกราะป้องกันที่ดี ต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อพวกนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นบูสเตอร์ ก็ยังมีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยเสริมระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในการรับมือกับสายพันธุ์ย่อยใหม่นี้
สรุป เชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อยู่ในกลุ่มของเชื้อที่ต้องจับตามอง ว่าจะมาแทนที่สายพันธุ์ย่อยเดิม อย่าง BA.2 เมื่อไหร่ ซึ่งการคาดการณ์ที่มีอยู่ขนาดนี้ ยังไม่มีตัวชี้บ่งว่า จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรง และมีผู้เสียชีวิตมาก เหมือนช่วงปีก่อนๆ
การฉีดวัคซีน และฉีดกระตุ้น ยังเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ในการปกป้องตนเองและสังคม จากการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ด้วยสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ครับ
ข้อมูลจาก www.gavi.org