ผลสำรวจชี้ ลูกจ้างไทยยอม "ไม่ขึ้นเงินเดือน" เพื่อ "ชีวิตที่ดีขึ้น"
ผลสำรวจจาก ไมเคิล เพจ ชี้ 69% ของลูกจ้างในประเทศไทยยอม "ไม่ขึ้นเงินเดือน" และ "ไม่เลื่อนตำแหน่ง" เพื่อสมดุลชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ฝั่งนายจ้าง 33% มีแผน "ปรับขึ้นเงินเดือน" มากกว่า 5%
นอกจากปรากฏการณ์ "การลาออกครั้งใหญ่" หรือ Great Resignation ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ ที่มีสาเหตุจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ในโลกของการทำงานจะมีการเปลี่ยนเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคนทำงาน มุมมองในการทำงาน ตลอดจนการเปลี่ยนงาน
ไมเคิล เพจ ประเทศไทย (Michael Page Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางาน ได้เปิดตัว "รายงานทาเลนท์ เทรนด์ 2022" (Talent Trends 2022) ในหัวข้อ "เดอะ เกรท เอ็กซ์" (The Great X) ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกด้านการจ้างงาน ระบุว่าแม้ "เงินเดือน" และ "โบนัส" ยังคงเป็นแรงจูงใจอันดับต้นๆ ของผู้สมัครงาน แต่ผลสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่า ผู้คนเริ่มหันเหความสนใจไปยัง "ผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน" มากขึ้น
โดย 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยยอมไม่ขึ้นเงินเดือนและ/หรือไม่เลื่อนตำแหน่ง เพื่อแลกกับสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่โดยรวมที่ดีขึ้น และความสุขในชีวิต
ซึ่งมีแนวโน้มคล้ายกับผลสำรวจของอีกหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ 73% ฮ่องกง 69% อินโดนีเซีย 68% เวียดนาม 68% ออสเตรเลีย 66% ญี่ปุ่น 65% สิงคโปร์ 65% มาเลเซีย 64% ไต้หวัน 63% อินเดีย 61% และ จีน 59%
คริสตอฟเฟอร์ พาลูแดน ( Kristoffer Paludan) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค บริษัทไมเคิล เพจ ประเทศไทย กล่าวว่า "บริษัทต่างๆ ที่กำลังเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจพบกับช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนในระยะยาวนั้นคุ้มค่า การโอบรับเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคที่การทำงานทางไกลกลายเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ บริษัทที่นำเอาระบบดิจิทัลมาใช้จะมีความได้เปรียบในการสรรหาบุคลากร เนื่องจากการจ้างงานจะไม่ถูกจำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์อีกต่อไป"
เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น บริษัทต่างๆ คงไม่อาจมองข้ามผลกระทบทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจากการรวม "งาน" เข้ากับ "ชีวิตส่วนตัว" ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาได้อีกต่อไป ซึ่ง 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการทำงานในรูปแบบผสมผสานทั้งจากการทำงานที่บ้านและที่ทำงาน
- คนทำงานอยากมีสุขภาพจิตในที่ทำงาน
นอกจากนี้ 61% ของพนักงานผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยเคยถามหรือคิดที่จะถามเกี่ยวกับ "นโยบายด้าน DE&I" (ความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม) ของบริษัทในการสัมภาษณ์ ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 33% จะล้มเลิกความตั้งใจคว้าโอกาสในการทำงาน หากบริษัทแห่งนั้นไม่ใส่ใจเรื่องนโยบาย DE&I
การระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่ได้เปลี่ยนลำดับความสำคัญไปเช่นกัน โดย 70% ของผู้สมัครงานเชื่อว่า สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีควรมีบทบาทในการทำงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ซึ่งบริษัทจะต้องสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกที่พนักงานทุกระดับรู้สึกพึงพอใจร่วมกัน
- หลายบริษัทจ่อขึ้นเงินเดือน
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 86% เชื่อว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้ดำเนินการในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานอย่างจริงจัง จากข้อมูลข้างต้น บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้านนายจ้าง หริอบริษัทต่างๆ เองแม้จะต้องเจอกับสภาวะวิกฤติ แต่หลายบริษัทมีแผนที่จะปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานในปี 2022 โดย 13% ของผู้ถูกสำรวจบอกว่ามีแผนปรับเพิ่มเงินเดือน 1.2% อีก 30% บอกว่ามีแผนปรับเพิ่มเงินเดือน 3.4% และอีก 33% บอกว่ามีแผนปรับเพิ่มเงินเดือนมากกว่า 5% เลยทีเดียว
ส่วน 8% ระบุว่ายังไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือน และที่เหลืออีก 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ/ยังไม่ทราบว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนหรือไม่