ไม่มีกฎหมายสธ.คุมขายกัญชาท้องถนน-กัญชามวน สูบผิดต้องมีผู้ร้อง
ไม่มีกฎหมายสธ.คุมขายกัญชาท้องถนน-กัญชามวน ส่วนสูบผิดเมื่อมีผู้ร้องเหตุรำคาญ ย้ำเป็นสมุนไพรควบคุมห้ามขายให้คน 3 กลุ่ม รับพ.ร.บ. 2 ฉบับที่มีอยู่ ไม่ทันกับความพยายามของคนที่จะฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ เชื่อพ.ร.บ.กัญชาฯออกเร็วช่วยคลี่คลายปัญหา
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2565นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พบการขายกัญชามวนและการสูบในสถานที่สาธารณะว่า กฎหมายของ สธ.ไม่ได้สนับสนุนเรื่องการสูบอยู่แล้ว และมีกฎหมายเพื่อป้องปรามต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้อง หากพบการขายเช่นนี้ ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ต้องไปดำเนินการ หรือหากฝ่าฝืนผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดำเนินการต่อไป
ส่วนการติดตามสนับสนุนการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย มีมาตรการ 5 ด้าน คือ 1.การส่งเสริมการใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ โดย สธ.เป็นห่วงว่าเมื่อมีการใช้กัญชาอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็ต้องพยายามให้ความรู้ประชาชนเรื่องประโยชน์ เรื่องโทษ การใช้อย่างเหมาะสมให้เกิดประโยชน์ คือ สุขภาพ โดยจัดทำคู่มือการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ มีแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย
2.การควบคุมด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายออกมา ทั้งควบคุมการเสพ ไม่ให้เสพที่สาธารณะ เพราะมีกลิ่นมีควันก็ถือเป็นเหตุรำคาญ การไม่ให้ใช้ในผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร นอกจากนี้ เรายังเป็นกรรมาธิการในการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. ... ซึ่ง รมว.สธ.ให้นโยบายชัดเจนว่า สธ.ต้องสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ ดังนั้น การเสพ การสันทนาการ ไม่ได้สนับสนุน ก็ต้องมีกฎหมายเข้าไปควบคุมป้องกันในกฎหมายกัญชงกัญชา
3.การเฝ้าระวังป้องกันการใช้ในทางที่ผิด เราวางระบบรายงานเฝ้าระวังว่าจะมีจำนวนที่มีผลจากการใช้กัญชา ทั้งพิษจากัญชาเอง หรือมีปัญหาทางด้านจิตประสาทมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ายังไม่ได้มีมากขึ้น 4.การวางระบบการดูแลรักษาพยาบาลและบำบัดรักษา ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติดทุกจังหวัด และเปิดวอร์ดจำนวนมากเพื่อดูแลยาเสพติดแต่ถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตก็สามารถดูแลได้ และ 5.การกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเป็นอย่างไร
"มีการวางระบบเฝ้าระวังป้องกันและรายงานการใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้ว ทั้งการใช้ในแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย ซึ่งมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แต่พบว่าผู้ที่มีปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์มีเพียง 1% กว่าๆ เท่านั้น และเป็นกลุ่มที่อาการเล็กน้อย ไม่มาก เพราะเป็นการใช้อย่างควบคุม ส่วนที่ไม่ได้ใช้ผ่านการควบคุมหรือไม่เป็นไปตามนโยบายของ สธ. ซึ่งมีกฎหมายป้องปรามไว้แล้ว หากใครฝ่าฝืน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปดำเนินการ" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าอาหารหรือขนมมีส่วนผสมของกัญชาแล้วซื้อให้ลูกกิน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สธ.ดูเรื่องกัญชาทางการแพทย์เป็นหลัก เรื่องอาหารทาง อย.ก็ต้องเป็นคนจัดการ ได้สั่งการไปเรื่องฉลากอาหาร การเตือนผู้บริโภคต่างๆ ต้องเข้มงวด อย่างข้อจำกัดการรับประทาน มีคำเตือนที่เหมาะสม โดยช่วงรอยต่อ อย.ต้องทำงานให้หนัก ซึ่งอาหารต้องมาขออนุญาต ก็ขออนุญาตได้ง่าย แต่หลังวางจำหน่ายก็ต้องไปตรวจติดตาม ทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากผิดก็ต้องไปจัดการ หากพบก็แจ้งมาที่ อย.ได้และรีบไปดำเนินการ ซึ่งยังไม่เห็นด้วยหากนำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารแล้วเกิดผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงจากสารสกัดกัญชาที่ใส่ไปก็มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ใส่มากกว่าที่กำหนดหรือไม่
ด้านนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ที่กรมอนามัยดูแลอยู่ มีเรื่องกลิ่นควัน กัญชาถือเป็นเหตุรำคาญ ถ้าถามว่าการสูบตามท้องถนน เจ้าหน้าที่เอาผิดได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้มาแจ้งว่าเป็นเหตุรำคาญได้หรือไม่นั้น ก็อาจจะยังต้องอาศัยคำว่าเหตุรำคาญ ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธาณรสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้เน้นย้ำชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของสธ. คือการใช้ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ ทั้งในรูปแบบของการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนปัจจุบัน
“เรื่องประกาศต่างๆที่เอามาใช้ในการควบคุมการใช้อยู่ทั้งในกลุ่มผู้ที่ต้องห้ามใช้ และการใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร ซึ่งกรมอนามัยดูแลและออกข้อกำหนดมาชัดเจนแล้ว ว่า 2 ใบต่อเมนู ใน 1 วันไม่ควรกินเกิน 2 เมนู เป็นต้น ส่วนอาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิทที่อย. กำกับดูแล จัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องมีการตรวจในห้องแล็ป ควบคุมปริมาณ THC ไม่เกินค่าความปลอดภัย และติดฉลากโภชนาการพร้อมคำเตือนอย่างชัดเจน ซึ่งที่อนุญาตไปแล้วทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ประมาณ 1,400 รายการ”นพ.ไพศาลกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการขายกัญชาตามท้องถนนทำได้หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า คงต้องใช้กฎหมายเกี่ยวกับการตั้งร้าน ส่วนกฎหมายของแพทย์แผนไทย กำหนดชัดเจนห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร
ถามต่อว่าหากขายกัญชามวน หรือบ้องกัญชาทำได้หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้คุมขนาดนั้น แต่ที่เห็นที่ถนนข้าวสารที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปแนะนำ ห้ามปราม ก็คงต้องใช้กฎหมายในส่วนนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ขอยืนยันว่าเจตนารมณ์สำคัญที่สุด ว่าเรื่องนันทนาการ เรื่องสูบ เรื่องเสพนั้นไม่แนะนำ และในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ได้มีการแสดงจุดยืนในนามของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจนว่าเจตนารมณ์การใช้เพื่อทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ แต่ไม่เห็นด้วยในการเอาไปใช้สูบ หรือนันทนาการ”นพ.ไพศาลกล่าว
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามกฎหมายของกรมอนามัย หากจุดมีควัน แล้วมีคนแจ้งว่าเป็นเหตุรำคาญ เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดำเนินการ ตักเตือน เอาผิดได้ ส่วนพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ตนได้ทำแนวปฏิบัติเวียนให้กับเจ้าหน้าที่แล้ว จะดูในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี ตรงนี้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้แน่นอน
“ขณะนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่มองเป็นช่องทางค้าขาย ใช้กัญชาเพื่อสนองความต้องการ แต่หากหยุดคิดสักนิดว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการทำลายโอกาสของกัญชา ที่จะมามีบทบาทช่วยในทางการแพทย์ ช่วยในทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่พอเปิดกลับทำทุกอย่างจนสร้างความตกใจในสังคมพอสมควร ส่วนตัวเห็นข่าวก็ยังตกใจ”นพ.ยงยศกล่าว
นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า รองนายกฯ ระบุในที่ประชุมผู้บริหารสธ. ว่าทุกอย่างจะไปแก้ไขในร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งคิดว่าหากกฎหมายออกมาเร็ว เหตุการณ์พวกนี้จะลดน้อย หรือไม่มีเลย ตอนนี้มันบอกยาก พ.ร.บ.การสาธารณสุข และพ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาฯ ก็ไม่ทันกับความพยายามของคนที่จะฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ คนตั้งใจละเมิด ท้าทายสังคม จึงเป็นเรื่องยากหากจะให้กฎหมาย 2 ฉบับนี้ให้ไปครอบคลุมการกระทำผิดทั้งหมด
“ถ้าให้โอกาสกัญชาทำหน้าที่ในการเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรค บทบาทตัวนี้จะเด่นชัดและทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ กรมฯ ยืนยัน ทำให้เป็นสมุนไพรที่ดูแลสุขภาพของคนมากกว่า ซึ่งอย่าว่าแต่สูบกัญชาตามท้องถนนเลย สูบบุหรี่ตามถนน ตามที่สาธารณะก็ยังผิดเลย แต่ก็เป็นเรื่องยากหากอ้างว่าที่ส่วนบุคคล หรือไม่มีคนแจ้งเหตุรำคาญ ตอนนี้คิดว่าตัวกฎหมายไม่มีเขียนว่าตรงนี้มันผิด แต่ระบุว่าการครอบครองจำหน่ายต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปี” นพ.ยงยศ กล่าว