ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรครำคาญใจ แพทย์จุฬาฯ แนะวิธีดูแลสุขภาพผิว
"ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพิ่มขึ้น"ต่อเนื่อง แพทย์จุฬาฯ แนะผู้ป่วยและญาติเข้าใจเหตุของโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เน้นการปรับตัว ลดพฤติกรรมการใช้ชีวิตติดแอร์ และความเครียด เลี่ยงแสงแดดและรู้วิธีรักษาสุขภาพผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
“คัน” ทุกคนล้วนคุ้นและเคยมีอาการคันกันบ้าง แต่หากอาการคันเกิดขึ้นบ่อยๆ ต้องเกากันไม่หยุดจนน่ารำคาญ พาลทำให้ผิวหนังถลอก ก็คงทำลายความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย
“อาการคัน” จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก โดยเฉพาะหากมีอาการคันบ่อยๆ ติดต่อกันนานๆ แบบเป็นๆ หายๆ รวมทั้งมีผื่นขึ้นร่วมด้วย เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ “โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” ที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และในบางรายก็พัฒนาเป็นโรคตุ่มน้ำพองที่บั่นทอนความมั่นใจและคุณภาพชีวิต
รศ.นพ.นภดล นพคุณ อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลกระทบของการเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังว่า “ผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนังได้ง่ายจากรอยถลอกที่เกิดจากการเกา
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจะมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับเนื่องจากมีอาการคันมาก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เกิดความเครียด สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่อยากเข้าสังคม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามมา”
- อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่สำคัญคืออาการคันที่เรื้อรัง เป็นติดต่อกันมานาน มีผื่นแดงขึ้นแบบเฉพาะเจาะจง
โดยเด็กอายุขวบปีแรก ผื่นจะขึ้นบริเวณแขนขาและแก้ม แต่เมื่ออายุ 1 ปีไปแล้ว จะพบผื่นที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นบริเวณข้อพับแขน ขาและคอเป็นส่วนใหญ่ มีผิวแห้งโดยเฉพาะรอบๆ ดวงตา ลายนิ้วมือชัดขึ้น มีผื่นที่หู หัวนม หน้าแข้งมีผิวแห้งคล้ายเกล็ดปลา และโดยมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการทางการหายใจร่วมด้วย เช่น หอบหืด ภูมิแพ้จมูก แพ้อากาศ เป็นต้น
- สาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญคือ
พันธุกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างเซลล์ผิดปกติ ทำให้ปราการป้องกันไม่ให้น้ำระเหยจากร่างกายเสียไป ผิวหนังจึงแห้งง่าย สิ่งแปลกปลอมซึมเข้าผิวหนังได้ง่ายจนเกิดการอักเสบและการระคายเคือง
ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายมีความไวต่อสิ่งแปลกปลอมภายนอก อย่างเช่น การสัมผัสกับสารเคมีในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก สบู่ น้ำหอม เครื่องสำอาง เมื่อสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดการแพ้ ก็จะเกิดการระคายเคือง มีอาการคัน และมีผื่นขึ้นได้ ซึ่งถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่ทำให้การแพ้เหล่านี้ได้ อาการก็จะหายไป
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตก็มีส่วนที่กระตุ้นให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้เช่นกัน อาทิ การอาบน้ำอุ่นและการอยู่ในห้องแอร์ต่อเนื่องและนานเกินไป ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ผิวแห้ง และความเครียดที่ส่งผลต่อภูมิต้านทานในร่างกาย
- วิธีการตรวจว่าเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือไม่
แนวทาง การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะใช้วิธีทางคลินิกโดยดูลักษณะการกระจายของผื่น ซึ่งโดยมากดูจากระยะเวลาที่เป็นผื่นนานเกิน 6 เดือนขึ้นไปและมีอาการคันร่วมด้วย นอกจากนั้น ก็อาจมีการเจาะเลือดเพื่อดูการเพิ่มขึ้นของภูมิต้านทาน
สำหรับการทดสอบ Skin Test จะเป็นประโยชน์กับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางลมหายใจเพื่อดูการแพ้ของไรฝุ่น หรือแมลงชนิดต่างๆ ผู้ที่สงสัยว่าอาการแพ้เกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อมภายนอก อาจทำการทดสอบได้โดยนำสารที่สงสัยแปะไว้บนหลังเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง แล้วดูว่ามีผื่นหรือคันหรือไม่
ส่วนผู้ที่สงสัยว่าแพ้อาหาร จะทำการซักประวัติว่าแพ้อาหารอะไร และให้งดอาหารนั้นๆ จากนั้นก็ให้รับประทานอาหารนั้นๆ เข้าไปแล้วดูว่าจะเกิดการแพ้หรือไม่
- วิธีการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ยาทากลุ่มสเตียรอยด์เป็นยาตัวหลักในการรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งต้องเลือกใช้ในขนาดที่เหมาะสมและในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตามความจำเป็น เพราะหากใช้มากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ “หากใช้ยากลุ่มนี้มากเกินไป และใช้ในบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น ใบหน้า รอยพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือทาเป็นบริเวณกว้าง ก็อาจทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต คล้ายกับการรับประทานยา
ส่วนผลเฉพาะที่ ก็มีส่วนทำให้ผิวหนังบาง เส้นเลือดเปราะ ติดเชื้อรา เป็นสิว ถ้าทารอบดวงตา อาจทำให้ความดันในตาสูงขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการใช้ยา ต้องเลือกยาที่เหมาะสม ระวังบริเวณที่ใช้ และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
แม้ปัจจุบันมียารักษาอาการแพ้และคันที่ไม่ใช่สเตียรอยด์แล้ว แต่ราคาค่อนข้างสูง จึงมักใช้เฉพาะที่เท่านั้น สำหรับยารับประทานประเภทยาแก้แพ้ ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ที่แน่นอนว่าช่วยรักษาได้ ยาที่ช่วยได้คือยาแก้คันที่ออกฤทธิ์กดสมองทำให้เกิดอาการง่วงได้ สำหรับผู้ที่เป็นมากและควบคุมอาการไม่ได้ก็จะใช้ยากดภูมิเข้ามาช่วยด้วย
“โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าคนไข้และคนใกล้ชิดในครอบครัวเข้าใจสาเหตุของโรค ปรับตัวและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดการแพ้ เช่น เสื้อผ้าขนไหม ตุ๊กตา พรม สัตว์เลี้ยง ก็สามารถอยู่กับโรคนี้ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดการใช้ยาให้น้อยลงได้” รศ.นพ.นภดล กล่าว
- ดูแลสุขภาพผิวเบื้องต้นเพื่อป้องกันโรค
การป้องกันโรคผิวหนังที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพผิวพรรณให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ รศ.นพ.นภดล ได้ฝากข้อแนะนำง่ายๆ ดังนี้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ไม่ควรอยู่ในห้องแอร์นานกินไปเพราะจะทำให้ผิวแห้ง
- การอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเพื่อลดการติดเชื้อต่างๆ ไม่ควรอาบน้ำอุ่น หรือฟอกสบู่มากจนเกินไป สบู่ที่ใช้ควรมีส่วนผสมของสารเคลือบผิวเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง หลังอาบน้ำควรใช้โลชันทาผิวภายใน 3 นาที เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในผิวหนัง
- แสงแดดเป็นตัวทำลายผิวหนัง ควรเลี่ยงแสงแดดช่วง 10.00-15.00 น. และใช้ครีมกันแดดเป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสมจะมีส่วนช่วยป้องกันรักษาผิว ไม่แก่และกร้านเร็ว อีกทั้งป้องกันโรคผิวด่างดำต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
คลินิกโรคผิวหนังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ชั้น 14 อาคาร ภปร. ทั้งคลินิกในเวลาและคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ มีทีมแพทย์ที่พร้อมให้บริการตรวจรักษาผู้ที่ประสบปัญหาโรคผิวหนังทุกรูปแบบ ซึ่งมีการตรวจติดตามรักษาอย่างใกล้ชิด สามารถติดต่อได้ที่หน่วยผิวหนัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โทร.0-2256-5428, 0-2256-5434