สธ. พบ ป่วยโควิดอาการไม่รุนแรง เข้าระบบ OPSI กว่า 2.07 แสนราย
สธ. เผย BA.4 / BA.5 ระบาดในหลายประเทศ ไทยพบผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง เข้าระบบ OPSI เพิ่มจาก 1.9 แสนราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็น 2.07 แสนราย เสียชีวิตรายสัปดาห์ 106 ราย 100% เป็นกลุ่ม 608 ในจำนวนนี้ กว่า 44% ไม่ได้ฉีดวัคซีน ครองเตียงทั่วประเทศ 10.9% คาดยังพบผู้ติดเชื้อไปอีก 10 สัปดาห์
วันนี้ (4 ก.ค. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงาน สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก พบว่า หลายประเทศในทวีปเอเชีย มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะญี่ปุ่น เกาหลี หรือสิงคโปร์ มาเลเซีย ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเพิ่ม และมีรายงานผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง
สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์รายวันค่อนข้างเพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 / BA.5 เพิ่มขึ้นเช่นกัน ข้อมูล ณ 1 ก.ค. 65 ตัวอย่าง 6 ประเทศ ดังนี้
แอฟริกาใต้
- BA.4 สัดส่วน 64%
- BA.5 สัดส่วน 27%
- ฉีดวัคซีนครอบคลุม 32%
อังกฤษ
- BA.4 สัดส่วน 19%
- BA.5 สัดส่วน 28%
- ฉีดวัคซีนครอบคลุม 73%
สหรัฐอเมริกา
- BA.4 สัดส่วน 13%
- BA.5 สัดส่วน 24%
- ฉีดวัคซีนครอบคลุม 67%
ฝรั่งเศส
- BA.4 สัดส่วน 6%
- BA.5 สัดส่วน 22%
- ฉีดวัคซีนครอบคลุม 78%
ออสเตรเลีย
- BA.4 สัดส่วน 14%
- BA.5 สัดส่วน 21%
- ฉีดวัคซีนครอบคลุม 84%
ไทย
- BA.4 สัดส่วน 17%
- BA.5 สัดส่วน 20%
- ฉีดวัคซีนครอบคลุม 76%
วัคซีนปัจจัยสำคัญ ลดป่วยตาย
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อไปว่า อัตราการเสียชีวิต สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ การฉีดวัคซีน หลายประเทศแม้จะมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างสูงก็ยังมีการติดเชื้อสูงได้ สำหรับในประเทศไทยอยู่ในระยะที่พบการระบาดเพิ่มเติมหลังจาก โอมิครอน ระบาดของสายพันธุ์ BA.1 / BA.2 ดังนั้น BA.4 / BA.5 ก็จะมีผลตามมาบ้าง
เมื่อดูการครอบคลุมวัคซีน แม้บางประเทศจะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุม แต่ผู้เสียชีวิตหลักหลายสิบราย อาจเป็นไปได้ว่าวัคซีนที่ฉีดนานแล้ว และมาตรการป้องกันโรคย่อหย่อนไปพอสมควร หลายประเทศเลิกใส่หน้ากาก อาจจะต้องกลับมาใส่หน้ากากใหม่ การครอบคลุมการฉีดวัคซีนเป็นตัวช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อที่ปริมาณมาก โอกาสป่วยน้อยลง และหากป่วย อาการรุนแรงก็จะลดลง เมื่อดูกราฟผู้เสียชีวิต ออสเตรเลียไม่เยอะเพียงหลักสิบต้นๆ
จับตาผู้ป่วยใส่ท่อ หลังปอดอักเสบเพิ่ม
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,995 ราย เสียชีวิต 18 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 677 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มเพิ่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยรายใหม่ แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจยังไม่เพิ่มมาก ยังทรงตัว เป็นไปได้ว่าปอดอักเสบ อาจจะต้องรอสักระยะถึงจะมีอาการหนัก
เสียชีวิตลด ป่วยอาการไม่รุนแรงเพิ่ม
ขณะที่ผู้เสียชีวิตคงตัวแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ผู้ป่วยรายใหม่ยังทรงตัว ผู้ป่วยรักษาใน รพ.ยังไม่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น ในระบบ HI จากที่ในระดับหมื่นต้นๆ ตอนนี้ 14,780 ราย แสดงว่าการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้างระหว่างครอบครัว ผู้สัมผัสใกล้ชิด ติดเชื้อและลงทะเบียนรักษาตัวที่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยระบบ OPSI เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากประมาณ 191,000 ราย เป็น 207,643 ราย
เสียชีวิตรายสัปดาห์แนวโน้มลดลง
เมื่อดูสถานการณ์ประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 65 พบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ 675 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 290 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมสัปดาห์นี้ 106 ราย จากสัปดาห์ที่ผ่านมา 161 ราย แนวโน้มลดลง ผู้ป่วยรายใหม่ที่มา รพ.รับการรักษา 16,000 ราย เฉลี่ยแล้ว 2,000 กว่ารายต่อวัน
สถานการณ์ผู้ป่วยที่มารับการรักษาใน รพ. สัปดาห์ที่ 16 – 26 พบว่า สัปดาห์ที่ 24-26 สถานการณ์คงตัว แต่สถานการณ์รายวันดูสูงขึ้นเล็กน้อย อัตราครองเตียงภาพรวมทั้งประเทศ 10% ผู้ลงทะเบียน OPSI (ATK) ของ สปสช. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 207,643 ราย จาก 190,000 ราย
เสียชีวิต 44% ไม่ได้ฉีดวัคซีน
รายงานผู้เสียชีวิตจากสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ผู้เสียชีวิต จากโควิด-19 จำนวน 106 รายเป็นกลุ่ม สูงวัย โรคเรื้อรัง 608 ทั้งหมด และในจำนวนนี้ พบว่า
- ไม่ได้รับวัคซีน 44%
- ฉีดเข็มเดียว 4%
- ฉีด 2 เข็ม เกิน 3 เดือน 31%
- ฉีดเข็ม 2 ไม่เกิน 3 เดือน 4%
- ได้รับ 3 เข็ม 17%
"ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ป่วยรุนแรงต้องฉีดครบ 2 เข็มและเข็มกระตุ้น กลุ่มโรคเรื้อรังที่เสียชีวิตเยอะ คือ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง ที่อาจไม่ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ เสียชีวิตเพิ่ม"
ครองเตียงทั่วประเทศ 10.9%
ขณะที่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ที่รักษาใน รพ. และอัตราการครองเตียง พบว่า การครองเตียงผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งประเทศราว 10.9% ถือเป็นเกณฑ์ที่ดี เพราะมีการตั้งเกณฑ์ไว้ว่าหากเกิน 50% เมื่อไหร่ต้องส่งสัญญาณเพิ่มเตียง แต่ตอนนี้ 10.9%
หลายจังหวัดมีการปรับเปลี่ยนเตียงจากผู้ป่วยโควิดอาการหนัก ไปใช้สำหรับโรคอื่นๆ ได้ ทำให้จำนวนเตียงที่เหลือสำหรับโควิดน้อยลง ทำให้มีสัดส่วนอัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด เช่น กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต แต่ 20-30% ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รองรับได้
ยืนยัน ระบบสาธารณสุขรองรับได้
ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ ยืนยันว่า เตียงภาพรวมทั้งประเทศ ที่ใช้สำหรับโควิด อยู่ในเกณฑ์ยังน้อยมาก ขณะที่ยาไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แพคซ์โรวิด เรมดิซีเวียร์ หรือฟ้าทะลายโจร โดยเฉพาะ เป็นฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ มีจำนวนรองรับได้เพียงพอแน่นอนและมีการสั่งซื้อเพิ่มเติม อัตราการคงคลังของยาอย่างต่อเนื่อง
"ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขยังคงรองรับได้ไม่ว่าจะ เตียง ยา เวชภัณฑ์ ขณะที่ วัคซีนมีมากพอสำหรับทุกคน และขอรณรงค์ให้ไปฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะ 608 ย้ำว่า โอมิครอน หากไม่ฉีดเข็มกระตุ้น อาจจะป้องกันการป่วยหนักไม่ได้”
ป่วยหนัก นอน รพ. เพิ่มในบางจังหวัด
สำหรับ ในรพ. ที่ผู้ป่วยรักษาใน รพ. ระบบรายงานที่รายงานเข้ามาสำหรับผู้ป่วยที่ตรวจ RT-PCR และ ATK ที่ต้อง นอน รพ. ขณะนี้ กทม. และปริมณฑล ยังมีผู้ติดเชื้ออาการป่วย นอน รพ. พอสมควร และมีเพิ่มขึ้นในบางจังหวัด ทำให้ข้อมูลสะสมรายสัปดาห์ 22- 26 พบว่า กทม. ผู้ป่วยนอน รพ. จากที่เริ่มลดลงในสัปดาห์ที่ 24 จำนวน 9,784 เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 26 จำนวน 10,543 ราย
ขณะที่ ปริมณฑล สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สถานการณ์เริ่มลดลงในสัปดาห์ที่ 23-24 และ เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 26 เช่นกัน สถานการณ์ตอนนี้สอดคล้องทั้งประเทศมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ ท่องเที่ยว ขณะที่จังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ลดลง
รักษาผ่านระบบ OPSI เพิ่ม
รายงานผู้ลงทะเบียนรับบริการผ่านระบบ HI / OPSI (ตรวจด้วย ATK) ของ สปสช. ระลอก ม.ค. 65 พบว่า จากสัปดาห์ที่ 23 จำนวน 205,296 ราย และสัปดาห์ที่ 26 จำนวน 207,000 ราย ตอนนี้เริ่มกลับขึ้นมา เป็นสัญญาณเตือนแต่สถานการณ์ยังไม่รุนแรงมาก
"กทม. ปริมณฑล และ จังหวัดใหญ่ๆ ท่องเที่ยว ต้องควบคุมการระบาด อาจจะมีการเพิ่มเติมมาตรการป้องกันโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะที่มีคนจำนวนมาก การใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภทต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา" นพ.จักรรัฐ กล่าว
คาดผู้ป่วยเพิ่มไปอีก 10 สัปดาห์
สำหรับการคาดการณ์ตั้งแต่ 1 ก.ค. เป็นต้นไปจนถึงปี 2566 มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ของไทยผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยเสียชีวิต หลังจากโอมิครอนที่ค่อนข้างสูงหลัง ม.ค. ที่ผ่านมา อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ ไปจนถึงสัปดาห์ ที่ 35 อีกประมาณ 10 สัปดาห์ ทำให้พบผู้ป่วยรักษาใน รพ. เพิ่มขึ้น แต่ถามว่าสูงเท่าโอมิครอนหรือไม่ ในช่วงต้นๆ อาจจะไม่ถึง เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น วัคซีน
“แต่อีกปัจจัยสำคัญ ที่จะบอกได้ว่าเส้นกราฟจะสูงมากน้อยแค่ไหน คือ มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล หากยังคงมาตรการใกล้เคียงกับที่ผ่อนคลาย ก็ยังจะไม่สูงมาก แต่หากทุกคนไม่สวมหน้ากากกันแล้ว สถานการณ์อาจจะแตกต่างไป”
BA.4 / BA.5 ทำติดเชื้อเพิ่ม แต่ป่วยหนัก เสียชีวิต ยังไม่น่าห่วง
นพ.จักรรัฐ กล่าวสรุปว่า สถานการณ์ตอนนี้ ทั่วโลก มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มโดยเฉพาะ สหรัฐ ยุโรป และเอเชีย หลายประเทศพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิต ไม่เพิ่มมาก จากเรื่องของความรุนแรงของโรคโอมิครอน BA.4 / BA.5 ต้องติดตามข้อมูลกันต่อ ขณะที่ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนพอสมควรกว่าพันล้านโดส อาจทำให้สถานการณ์ในหลายประเทศไม่พบผู้ป่วยอาการหนักเพิ่ม ถึงแม้จะผ่อนคลายมาตรการแล้วโดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐ
สำหรับไทย ผู้ติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เตียงที่รับผู้ป่วยหนักระดับ 2-3 แม้ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น แต่เตียงก็ถูกปรับไปใช้กับผู้ป่วยโรคอื่นด้วย ฉะนั้น การบริหารจัดการเตียงสำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัดที่พบผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น อาจจะต้องปรับมาใช้กับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นได้ เป็นการบริหารจัดการที่จะดำเนินการต่อไปหากอัตราการครองเตียงสูง
พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน
ขณะเดียวกัน ยังพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ย่ง เช่น โรงเรียน สถานบันการศึกษา ในหลายจังหวัด แต่ยังมีการควบคุมได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ คลัสเตอร์แม้จะพบในนักเรียนนักศึกษา แต่อาจจะแพร่ไปยังบุคคลใกล้ชิด ครอบครัว และกลุ่ม 608 ดังนั้น พบสัญญาณ การติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว และ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ดังนั้น การป้องกันส่วนบุคคล มาตรการสำคัญ คือ สวมหน้ากากตลอดเวลา แม้จะมีการผ่อนคลายในสถานที่โล่งแจ้ง แต่การใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก เข้าสถานที่ปิด หรือกิจกรรมเสี่ยงสูง ยังคงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อลดการรับเชื้อและแพร่ต่อไปยังกลุ่ม 608
สร้างภูมิคุ้มกันกลุ่ม 608
ถัดมา คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่ม 608 โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน หรือ ฉีด 2 เข็ม แต่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ย้ำว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่การสวมหน้ากากอนามัยเป็นการป้องกันการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนป้องกันการป่วยหนัก
หลายประเทศตอนนี้ มีการผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากไปมาก คนที่เดินทางไปต่างประเทศ ที่เริ่มผ่อนคลายกิจกรรม ต้องแนะนำให้คนที่เดินทางไปประเทศเหล่านั้น ยังคงต้องสวมหน้ากากเป็นการป้องกันตนเอง และป้องกันการกลับมาแพร่เชื้อให้กับคนในบ้าน หากหลีกเลี่ยงได้ ขอให้เลี่ยงกิจกรรมที่แออัดและที่ทุกคนไม่ได้สวมหน้ากาอนามัย เพราะแถบยุโรป และสหรัฐ ค่อนข้างเยอะ
"แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากเดินถึงไทย ขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลา โดยเฉพาะป้องกันกลุ่ม 608 หากมีอาการป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ โดย BA.4 / BA.5 พบว่า มีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ ค่อนข้างเยอะ หากสงสัยให้ตรวจ ATK"
เน้นติดตามผู้ป่วย เข้า รพ.
จากข้อสงสัยว่าการรายงานผู้ติดเชื้อปัจจุบัน ต่ำกว่าความเป็นจริง นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สธ. ติดตามเน้นผู้ป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อ หากเป็นระลอก 1-3 เราเน้นผู้ติดเชื้อ แต่โอมิครอน การระบาดอาการไม่รุนแรง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนค่อยข้างเยอะเข็ม 1 กว่า 80% แต่เข็มกระตุ้นเพียง 40% ดังนั้น หากฉีดเข็มกระตุ้นก็จะดีขึ้นเยอะ
ทำให้เห็นว่าสถานการณ์การรายงานโรค เน้นผู้ป่วยเป็นหลัก คือ กลุ่มป่วย และรักษาใน รพ. เพื่อติดตามว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับการรักษาให้พี่น้องประชาชนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น เราติดตามสถานการณ์ทั้งผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ มีหลายคนติดเชื้ออาการน้อย ไม่มีอาการ ซื้อยาฟ้าทะลายโจร รักษาที่บ้านโดยไม่ได้เข้าระบบลงทะเบียน หรือระบบรพ. ตัวเลขนี้อาจจะยังไม่ทราบ 100% แต่จะติดตามจากแนวโน้มผู้ป่วยที่รักษา ใน รพ. เป็นหลัก เพราะผู้ติดเชื้อคงมีจำนวนมาก เราต้องอยู่ร่วมกับโควิดและการติดเชื้ออาจจะพบเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ
ย้ำมาตรการ 3 พอ / 2U
การพบเชื้อ BA.4 / BA.5 ขณะที่ไทยผ่อนคลายมากขึ้น ปัจจัยที่จะทำให้ไทยกลับมาพิจารณาปรับมาตรการ คือ มาตรการ “3พอ” สำหรับทางการแพทย์ ได้แก่ 1.) เตียงพอ โดยมีเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยวิกฤตอย่างเพียงพอ 2.) เวชภัณฑ์และวัคซีนพอ มียาเวชภัณฑ์และวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนสายพันธุ์ BA.4 / BA.5 ปัจจัยที่ปรับมาตรการมี 2 ส่วน คือ 2U คือ universal Prevention มาตรการป้องกันส่วนบุคคล ต้องปรับกลับมาใช้ จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก ใช้ขนส่งสาธารณสุขทุกประเภท สถานที่ปิดยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และ การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโดยเฉพาะกลุ่ม 608
"และ Universal vaccination คือ การฉีดวัคซีนป้องกันตนเอง ไม่ให้ป่วยหนัก เป็นประเด็นสำคัญ ต้องฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรัง ให้ฉีดเข็มกระตุ้น 3-4 เพื่อลดอาการป่วยหนักเสียชีวิต" นพ.จักรรัฐ กล่าว