สุดยอดไอเดียคนรุ่นใหม่ ดีไซน์ "เมือง" และ "พื้นที่สาธารณะ" แห่งอนาคต
"สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย" จับมือ ครีเอทีฟ แล็บ มอบรางวัลสุดยอดไอเดีย “Uniquely Thai” เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ร่วมดีไซน์ เมือง และ "พื้นที่สาธารณะ" แห่งอนาคต
กระแส "พื้นที่สาธารณะ" ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น ทว่าในประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และแม้ว่าในปัจจุบันหลายภาคส่วนในไทยเริ่มตื่นตัวกับการสร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดียิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกที่จะสามารถออกแบบได้ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง
อาจจะเป็นเพราะการพัฒนาพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ในไทยยังขาด “กระบวนการที่มีส่วนร่วม” (inclusive process) ของผู้คนที่จะเข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์และมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิมใน การพัฒนาเมือง
จึงเป็นที่มาของการเปิดโอกาสให้ คนรุ่นใหม่ ร่วมแชร์ไอเดียความคิด วิสัยทัศน์ และมุมมองในการออกแบบพื้นที่สาธารณะและอนาคตเมืองในโครงการประกวดแบบ “Uniquely Thai” Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition ด้วยความร่วมมือของ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) และครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab)
ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC) ค้นหาสุดยอดผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน หรือ “Civic Center” แห่งอนาคตที่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนบนความยั่งยืน รองรับความต้องการที่หลากหลายมิติ เข้าถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังหมายมั่นให้เป็นจุดหมายด้านวัฒนธรรมและสร้างเสน่ห์ความเป็นไทยสู่สากลโลกด้วยการใช้พลัง "ซอฟต์พาวเวอร์ไทย" ผ่านผลงานออกแบบ
คนรุ่นใหม่ เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
การประกวดครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อประชันไอเดียออกแบบพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะมากถึง 178 ผลงาน รวมแล้วกว่า 1,000 คน
- รางวัลชนะเลิศ Gold Award ระดับนิสิตนักศึกษาเป็นของนางสาวมนัสนันท์ เดชะสุวรรณ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงานที่นำแนวคิด “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มาใช้
- รางวัลชนะเลิศระดับบุคคลธรรมดาได้แก่ ทีม Cosmic Civic Center จากผลงานที่ผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับโลกอนาคตสุดล้ำอย่าง “Metaverse”
- รางวัล Popular Vote ตกเป็นของผลงาน “เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล” จากผู้เข้าแข่งขันประเภทบุคคลทั่วไป ซึ่งผู้ชนะทุกประเภทจากโครงการฯ ได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 700,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชนะเลิศ Gold Award รวมทั้งรางวัลเดินทางศึกษาดูงานและได้รับประสบการณ์ชมพื้นที่สาธารณะต่างประเทศ ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทั้งนี้ ทุกผลงานของผู้เข้าประกวดผ่านกระบวนการตีความภายใต้โจทย์ “Uniquely Thai” เพื่อออกแบบ "พื้นที่สาธารณะ" จุดหมายปลายทางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่จะสร้างเสน่ห์ความเป็นไทยให้โลกรับรู้ ผ่านการนำเสนอ ‘Thai Soft side – Soft power’ ดึงทุกแง่มุมของอารยธรรมและความลึกซึ้งของความเป็นไทย
โดยมีความท้าทายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยในรูปแบบใหม่ ผ่านการคิดทบทวนและตีความประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเชื่อที่แทรกซึมอยู่ในสังคมไทย รวมถึงความเข้าใจในพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อดีตประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวในพิธีมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดว่า ปัจจุบันเทรนด์ของการออกแบบและพัฒนาเมืองทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับ พื้นที่สาธารณะ หรือ กรณีนี้คือ Civic Center เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้น เราจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน
"ถือเป็นเวทีที่ให้นักออกแบบ ที่เป็นอนาคตของเมือง ได้นำเสนอไอเดีย ที่ถอดรหัส อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยผสานกับความเป็นสากล เพื่อให้ Civic Center มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเราได้รับผลงานถึง 178 ผลงาน ล้วนแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่พฤติกรรมของคนในเมือง สถานการณ์ปัจจุบัน รวมไปถึงรูปแบบการใช้พื้นที่ในอนาคต ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกคน เพราะท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็คือเจ้าของพื้นที่สาธารณะในอนาคตอย่างแท้จริง”
ผลงาน Civic Center จาก “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เจ้าของผลงานชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา นางสาวมนัสนันท์ เดชะสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่าถึงผลงานว่า “จากสายตาของเราทุกคน กรุงเทพมหานคร คือ เมืองหลวงที่สามารถสะท้อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งความสวยงามของวัดวาอารามหลวง ตึกระฟ้าสูงใหญ่ ศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ ที่ตั้งของโรงเรียนชั้นนำและมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวมผู้คนหนุ่มสาวในทุกช่วงเวลาจนมีคนให้สมยานามว่า “มหานครที่ไม่เคยหลับใหล” แม้กรุงเทพมหานครในสายตาของทุกคนจะสวยงามมากเพียงใด แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาใหญ่แอบซ้อนอยู่ เบื้องหลังภาพจำสุดประทับใจเหล่านี้เรากลับลืมไปว่าที่นี่คือศูนย์รวมปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนระดับต้นๆ แห่งหนึ่งในโลก
"บ้านเมืองที่สวยงามตั้งอยู่บนความไม่สมบูรณ์ของระบบผังเมืองซึ่งส่งผลลามไปถึงปัญหาการคมนาคมในวงกว้าง ไม่สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตอันเร่งรีบของคนในพื้นที่ได้ แถมยังส่งผลร้ายถึงสุขภาวะของผู้คนอีกด้วย ไหนจะปัญหาทางการศึกษาของเยาวชนในสังคมที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้รับการศึกษาตามที่สมควรจะได้รับ จึงเป็นที่มาของแนวคิดหลักของผลงาน Civic Center มาจาก ความเหลื่อมล้ำทางสังคม"
ด้วยความต้องการจะขจัดความไม่เท่าเทียมในสังคมให้หมดไปนางสาวมนัสนันท์ จึงได้ออกแบบอาคาร Civic Center ให้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังชุมชนต่าง ๆ เพราะ Civic Center มีความสำคัญกับสังคมและเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมาก การเชื่อมต่อจะเป็นในรูปแบบทางเดินเท้าเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของชุมชน ผ่าน 4 เส้นทางหลักได้แก่
- Cultural Loop เส้นทางพัฒนาต่อยอดและสืบสานวัฒนธรรมไทย
- Commercial loop เส้นทางเสริมสร้างอาชีพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้กับคนในสังคม
- Education loop เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างโอกาสด้านความคิดรวมถึงความรู้เทียบทันยุคสมัย
- Recreation loop เส้นทางสำหรับคนเมืองเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับทุกคน
โดยได้ดีไซน์โครงสร้างอาคารให้ล้อไปกับองค์ประกอบในสถานที่จริงทั้งการเล่นกับความสว่างของแสง ลม เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความ Private และ Public ในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกสถาปัตยกรรมล้ำสมัยเข้ากับสิ่งที่ชาวไทยมีร่วมกันนั่นก็คือ ความอ่อนช้อย ตามความตั้งใจที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นถึงความเป็นไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้
“ขอขอบคุณ CDAST, CREATIVE LAB และ CPCF มากค่ะที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น อยากให้มีการจัดกิจกรรมนี้อีก เพราะจะช่วยระดมความคิดของคนรุ่นใหม่ให้มาช่วยกันวิเคราะห์เมืองกันมากขึ้น ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดมุมมองของความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ ๆ ต่อไปด้วยค่ะ” นางสาวมนัสนันท์ กล่าวเสริม
ผลงาน “Metaverse - ดินแดนสุขวดี สู่ พื้นที่สามัญชน”
สำหรับ รางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ผลงาน “Metaverse - ดินแดนสุขวดี สู่ พื้นที่สามัญชน” จากทีม Cosmic Civic Center โดย นายสิปปวิชญ์ รู้อยู่ และ นางสาวฑิมพิกา เวชปัญญา กล่าวว่า ด้วยการนำแนวคิด “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” ผนึกเข้ากับ “กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง” นำเสนอความวิจิตรงดงามและล้ำสมัยผ่านตัวผลงาน ท่ามกลางกระแสที่ต้องยอมรับกันแล้วว่าโลกดิจิทัลเสมือนจริงเริ่มมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของเรา และ “Metaverse” ยิ่งตอกย้ำถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของโลกในยุคปัจจุบัน
จึงเกิดไอเดียที่ดึงเอาความน่าสนใจของ Metaverse มาใช้ร่วมกับการออกแบบ Civic center และด้วยความไร้ขีดจำกัดของโลกเสมือน จึงก่อให้เกิดวิสัยทัศน์อย่าง “go limitless” ที่จะออกแบบพาคนไทยก้าวไปอีกขั้น แต่ยังคงยึดมั่นในรากฐานภูมิปัญญาความเป็นไทย
ผลงานชี้นนี้ออกแบบโดยใช้ภูมิทัศน์แบบ “เขามอ” ซึ่งเป็นภูมิจักรวาลตามความเชื่อของไทย และ “เขาพระสุเมรุ” ที่เป็นดั่งสรวงสวรรค์ สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างเมืองของเราที่ว่า “กรุงเทพ เมืองเทพสร้าง” ทั้งสองคนได้ดึงจุดเด่นนี้มาปรับใช้และต่อยอดออกไปดั่งที่ว่ามนุษย์เราเองก็สามารถที่จะอวตารไปสู่สวรรค์ในจินตนาการด้วยสิ่งที่เรียกว่า Metaverse ได้เช่นกัน
คอนเซ็ปต์ในออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้สะท้อนความเชื่อแบบไทย ๆ ออกมาในรูปแบบการนำสวรรค์ที่ลอยอยู่เหนือเขาพระสุเมรุมาใช้ในการออกแบบตัวอาคาร และการนำเขามอมาใช้ในส่วนของภูมิทัศน์โดยรอบล้อไปกับลักษณะทางกายภาพและน้ำเปรียบได้ดั่งมหานทีสีทันดร ขมวดออกมาเป็นการดีไซน์ตัวอาคารให้ลอยอยู่เหนือพื้น ทำให้มีพื้นที่ใต้ถุนไว้สำหรับใช้งานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับรับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับตัวเมืองได้อีกด้วย
ภายในโครงการนั้นก็น่าตื่นตาตื่นใจเหมาะสมกับวิสัยทัศน์อย่าง go limitless พร้อมที่จะเสริมสร้างและส่งเสริมศักยภาพของคนไทยผ่านพื้นที่ที่ครอบคลุมครบครันและมีการพัฒนาอยู่เสมอเพราะมีความตั้งใจที่จะเป็น Big data หรือคลังความรู้ของคนกรุงเทพอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั่นโครงการยังมีพื้นที่ให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์โลกเสมือนอย่าง Metaverse ซึ่งนี่จะสามารถต่อยอดและส่งเสริมต่อผู้ใช้ในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม ความไร้ขีดจำกัดนี้จะเป็นอาวุธดึงศักยภาพให้กับคนไทยอย่างแน่นอน
“เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล” ผสานความหลากหลายของเวลา
อีกหนึ่งผลงาน Popular vote จากแนวคิด “เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล” คือการผสมความหลากหลายบนเวลาที่แตกต่างกัน เกิดเป็นมิติเอกลักษณ์สร้างสรรค์ในทุกห้วงเวลา ด้วยการนำเอาเสน่ห์ในความหลากหลายของอัตลักษณ์ไทย มาสร้างมิติความสัมพันธ์ให้เชื่อมโยงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวบนตัวแปรกาลเวลา ตั้งแต่ความงามยุคโบราณที่เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์
ความจริงในปัจจุบันของสังคมไทย และอนาคตที่คนไทยวาดฝันที่จะสร้างเมืองไทยในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ล้วนจะถูกนำมาแสดงในตำแหน่งเดียวกันภายใต้อาคารสาธารณะแห่งนี้ เพื่อนำภาพลักษณ์อดีต ปัจจุบัน อนาคตมาอยู่รวมกัน เพื่อให้เกิดอาคารที่มีแนวทางผสมผสานมิติความหลากหลายต่าง ๆ ของความเป็นไทยสู่อาคารที่มีชีวิตเหมือนดั่งต้องมนต์ที่สามารถหลุดไปยังกาลเวลาต่าง ๆ ของประเทศไทย
โดยวางคอนเซ็ปต์แต่ละเดือนให้มีกิจกรรมหมุนเวียนไปตามเทศกาลไทยทั้ง 12 เดือน เพื่อสัมผัสประสบการณ์การเฉลิมฉลองใจกลางเมือง เกิดพื้นที่ที่มีประโยชน์เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ไทยเดิมให้คงอยู่ เพื่อเผยแพร่ให้คนรับรู้ถึงสิ่งดีงามของไทยมากขึ้น และพร้อมที่จะนำเอกลักษณ์ไทยเคลื่อนตัวไปในโลกอนาคต
ผลงานจากคนรุ่นใหม่ทั้ง 178 ผลงาน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ "พื้นที่สาธารณะ" ว่าไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ที่มีแค่ความสวยงามของทัศนียภาพและสถาปัยกรรมเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนและการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของผู้คน ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้คนทุกช่วงวัย และเปิดโอกาสให้ประชาชนออกมาแสดงศักยภาพร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกคนในสังคม ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยแก้ปัญหามลภาวะของเมืองอีกด้วย ดังนั้น Civic Center นี้จึงไม่เพียงแค่สร้างตึกแต่เป็นการสร้างเมืองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแท้จริง
นอกจากผลงานสุดประทับใจของผู้ชนะทั้งสองประเภท และรางวัล Popular Vote แล้ว ยังมีผลงานการออกแบบที่น่าทึ่งจากไอเดียของเหล่าผู้เข้าร่วมประกวดคนรุ่นใหม่ให้ได้เข้าร่วมชมและสัมผัสผลงานที่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร
ผู้สนใจรายละเอียดโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของโครงการฯ สามารถติดตามข่าวสารได้ผ่านทางเฟซบุ๊ก Bangkok Civic Center Architectural Design Competition 2021