เช็ก 23 จังหวัด โควิดขาขึ้น ต้องเฝ้าระวัง คาดก.ย.ยอดผู้ป่วยพุ่งสูง
ศบค.เผย 23 จังหวัดพบผู้ป่วยโควิดขาขึ้น พร้อมเฝ้าระวังกลุ่ม 608 ขอประชาชนสวมหน้ากาก ฉีดวัคซีน คาดการณ์ ก.ย.นี้ ผู้ป่วยโควิดพุ่งสูงขึ้น เผย 4 กิจกรรม ประเมินสถานการณ์โควิด เตรียมพร้อมบริหารจัดการ
วันนี้ (8 ก.ค.2565) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์โควิด-19 พบว่า หลายพื้นที่ทั่วโลกมีการระบาดแบบ Small wave โดยขณะนี้เป็นระลอกเล็กๆ การเสียชีวิตก็ลดลงแม้จะมีสายพันธุ์ BA.4/BA.5
- เช็ก 23 จังหวัดพบผู้ป่วยโควิดขาขึ้น
สำหรับผู้ป่วยใหม่ของประเทศไทยวันนี้ พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,144 ราย หายป่วย 1,946 ราย เสียชีวิต 20 ราย รักษาตัวในรพ.สะสม 25,082 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยหนัก 763 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 327 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 11.9%
“หากพิจารณาตามรายสัปดาห์ตัวเลขป่วยใหม่ถือว่าลดลง แต่รายวันอาจเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย ส่วนที่ว่าป่วยแล้วไม่เข้า รพ.นั้น กรมควบคุมโรคมีข้อมูลการรักษาแบบผู้ป่วยนอกเจอ แจก จบ สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วย 207,643 คน เฉลี่ยวันละ 2.9 หมื่นคนทั่วประเทศ นี่คือตัวเลขป่วยจริง นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ให้ข้อแนะนำว่าตัวนี้มีความสำคัญที่ต้องสื่อสารประชาชนรับทราบว่าป่วยจริง ไปแสดงสิทธิเพื่อรับยาและการดูแล แต่กลุ่มนี้อาการไม่หนัก”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ 20 ราย ยังเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง 100% ส่วนจังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถานการณ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง พบว่า 54 จังหวัดแนวโน้มลดลง
โดยมี 23 จังหวัด มีขาขึ้นแบบระลอกเล็กๆ ได้แก่ กทม. ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต เชียงใหม่ ระยอง ตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สงขลา กระบี่ พังงา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และยะลา ซึ่งในส่วนของจะเป็นในส่วนของ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว จึงขอให้ทั้ง 23 จังหวัดนี้และคนในจังหวัดช่วยกันลดยอดระลอกเล็กๆ ลง
- คาดก.ย.นี้จะพบผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตหลังการระบาดใหญ่ ระลอกเม.ย. - ส.ค. 2564 เป็นยอดระลอกหนึ่ง และมีระลอก ม.ค. 65 ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ก็คาดว่าหลังจากนี้จะมีการเกิดยอดภูเขาเล็กๆ ขึ้นมาได้ ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ขึ้นกับเหตุปัจจัยคือ ภูมิคุ้มกัน การสวมหน้ากาก และการรวมกลุ่มกันทำกิจการกิจกรรม และลักษณะของเชื้อคือ BA.4/BA.5
ย้ำประชาชน เรื่องหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน และการรวมกลุ่มแม้จะผ่อนคลายได้ ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันดูแลภาพรวมด้วยกัน จะได้ไม่เจอเวฟที่สูงกว่านี้ รายใหม่อาจเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะไปสูงช่วง ก.ย. และ พ.ย.น่าจะมีแนวระนาบลงมา หากพวกเราช่วยกันฉากทัศน์นี้ก็อาจจะกดให้ต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ การเสียชีวิตก็จะเพิ่มช่วง ก.ย.เช่นกัน
- ขอให้สวมใส่หน้ากาก กลุ่ม 608 มาฉีดวัคซีน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใน ตลอดสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งยังมีเตียงรองรับเพียงพอ แม้มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจทั้งประเทศจำนวน 327 ราย ส่วนเสียชีวิตรายสัปดาห์แม้ลดน้อยลง แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น ขอให้กลุ่ม 608 มารับวัคซีน คนที่เอาเชื้อไปติดผู้สูงอายุคือลูกหลานที่ออกไปมีกิจกรรมนอกบ้าน ยังขอความร่วมมือสวมหน้ากากกันให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตของสูงอายุ
นอกจากนั้น สธ.เสนอแนวทางขับเคลื่อนโควิด 19 หลังการระบาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่โรคประจำถิ่น มียุทธศาสตร์ที่ต้องวางแผนไว้ โดยเสนอแผนให้มีมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางสังคมและองค์กร และมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน มี 4 มาตรการสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมายสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์
- 4 กิจกรรมประเมิน เตรียมพร้อมบริหารโควิด-19
ทั้งนี้ สธ.เสนอขึ้นมาเพื่อ ศบค.อนุมัติ และหน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการ คือ
1.การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.ไม่เกิน 4 พันรายต่อวัน ป่วยตายน้อยกว่า 0.1% เสียชีวิตไม่เกิน 40 รายต่อวัน ครองเตียงหนัก-วิกฤตไม่เกิน 25% กลุ่ม 608 รับวัคซีนเข็มสองมากกว่า 80%
2.การเตรียมบริหารจัดการโควิด 19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย
3.มาตรการดำเนินการเมื่อโรคโควิดเป็นติดต่อต้องเฝ้าระวัง เช่น การแนะนำประชาชน การดำเนินการด้านการแพทย์
4.การประเมินผล
การพิจารณาเกณฑ์ความรุนแรง ปัจจุบันอยู่ในช่องสีเขียวมีรักษาตัวนอนใน รพ.ประมาณ 2 พันรายต่อวัน อยากลงไปสู่ช่องสีขาว คือ ต่ำกว่า 2 พันราย แต่หากมีสมอลเวฟอาจเป็นสีเหลืองคือรุนแรงน้อย 4-6 พันรายต่อวัน ต้องสร้างความตระหนักประชาชน
ส่วนสีส้มคือรุนแรงปานกลาง มีผู้ป่วย 6-8 พันรายต่อวัน และสีแดงคือรุนแรงมาก 8 พัน - 1 หมื่นรายต่อวัน ตรงนี้จะโยงเรื่องการจัดซื้อยา วัคซีน การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การเบิกจ่ายรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาภาครัฐส่งงบประมาณเต็มที่เพื่อดูประชาชน แต่อาจจะต้องเปลี่ยนผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาต่างๆ รพ.เอกชนก็มีความพร้อมช่วย สิ่งสำคัญคือ สปสช.หรือคนดูแลการเบิกจ่ายต้องปรับตัว เพื่อนนำไปสู่การใช้สิทธิฉุกเฉิน UCEP ให้ช่วยการเปลี่ยนผ่านลื่นไหลไปด้วยดี การเปิดกิจการกิจกรรมต้องขอความร่วมมือ เพราะเราให้เปิดกันแล้ว เพื่อให้ตัวเลขไม่พุ่งมากไปกว่านี้