ยอดโควิดพุ่ง! เปิดข้อกำหนด "ถอดแมสก์" ตามสมัครใจ ทำได้กรณีไหนบ้าง?
แม้ที่ผ่านมาจะอนุญาตให้ถอด "หน้ากากอนามัย" ตามสมัครใจได้แล้ว แต่ก็มีข้อกำหนดการถอดแมสก์เฉพาะกรณีๆ ไป โดยเฉพาะช่วงนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงขึ้น ยิ่งต้องใส่ใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ที่ผ่านมาแม้ว่าทางการไทยจะอนุญาตให้ "ถอดแมสก์" ในพื้นที่สาธารณะได้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็อนุญาตเฉพาะบางกรณีเท่านั้น เนื่องจากยังต้องควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ยิ่งในช่วงนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยกลับมาพุ่งสูง ทะลุกว่า 2,000 รายติดต่อกันเกือบทุกวัน
เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงแบบนี้ การจะถอด "หน้ากากอนามัย" ในที่สาธารณะจึงต้องใช้ความระมัดระวัง และทำตามข้อกำหนด "ถอดแมสก์ในที่สาธารณะตามความสมัครใจ" ให้เคร่งครัดมากขึ้น โดยมีข้อมูลสรุปข้อกำหนดการถอดแมสก์ฯ จากศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี และ กรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำประชาชนเอาไว้ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ติดโควิด“โอมิครอนกี่วันหายป่วย”ระยะการแพร่เชื้อ และวิธีนับวันกักตัว
- "ติดโควิด" ต้องกินยาอะไรบ้าง ? เตรียมพร้อมไว้อุ่นใจกว่า
ถอดแมสก์ตามความสมัครใจ ทำได้กรณีไหนบ้าง?
1. ถอดแมสก์ตามความสมัครใจได้ เมื่ออยู่คนเดียว
2. ถอดแมสก์ได้เมื่ออยู่ในที่เปิดโล่ง ไม่แออัด
3. ถอดแมสก์ได้เมื่อรับประทานอาหาร
4. ถอดแมสก์ได้เมื่อออกกำลังกาย
5. ถอดแมสก์ได้เมื่อทำการแสดงศิลปะการแสดง
6. ถอดแมสก์ได้เมื่อ ให้บริการ/ใช้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับใบหน้า
ต้องสวมใส่แมสก์เสมอ กรณีไหนบ้าง?
1. กรณีเป็นบุคคลกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ยังควรสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น
2. กลุ่มที่เป็นผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ทั้งนี้ "หน้ากากอนามัย" ยังคงมีประโยชน์ในการป้องกัน ทั้งการแพร่เชื้อและการรับเชื้อโควิด ดังนั้น ประชาชนจึงควรสวมใส่ทุกครั้งเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในทุกสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก โดยไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ตามเหมาะสม ได้แก่
- พื้นที่ที่มีความแออัด
- พื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี
- พื้นที่บริเวณขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬา หรือสถานที่แสดงดนตรี ฯลฯ
ในสถานการณ์ที่โควิดระบาดระลอกล่าสุดนี้ ทุกคนจึงยังควรพกพา "หน้ากากอนามัย" ติดตัวไว้ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 4 เข็ม 5) ช่วงนี้ กทม. ก็มีบริการเปิดจองฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งในและนอกสถานพยาบาลมากกว่า 100 แห่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสามารถ "จองฉีดวัคซีน" ผ่านแอป QueQ ด้วยวิธีง่ายๆ แค่ 7 ขั้นตอน สามารถเลือกสถานที่ฉีด และวันเวลาได้
รวมถึงจุดฉีดวัคซีนพื้นที่ขนาดใหญ่อย่าง "ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1" และ "ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง" ก็เปิดรับ Walk In ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น.
โดยให้บริการฉีดวัคซีนตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือตามที่ได้รับการจัดสรร เน้นย้ำว่า ผู้ที่จองคิวขอให้มาตรงกับวันเวลาที่นัดหมาย เตรียมบัตรประชาชน/Passport ปากกาส่วนตัว พร้อมหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการเยียวยาเกี่ยวกับการแพ้วัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องได้ที่ สปสช. เขต 13 หรือสอบถามได้ที่ สายด่วน1330