ไขคำตอบ! สารพัดคำถามเกี่ยวกับโควิด ติด - ไม่ติด ต้องใช้ชีวิตอย่างไร ?
ทำไม ? ติดโควิดสายพันธุ์เดียวกันแต่มีอาการแตกต่างกัน >> ทำไม ? อยู่ใกล้กับผู้ป่วยโควิด...บางคนติดเชื้อ บางคนไม่ติด >> ทำไม ? ฉีดวัคซีนโควิด-19 หลายๆ เข็มแล้วยังสามารถติดโควิดได้ >> ทำไม ? กินยารักษาโควิด แล้วอาการไม่ดีขึ้น
หลากหลายคำถามที่ถูกข้อสงสัยเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 เพราะโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ ระบาดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป
- ติดโควิดจริงหรือ? ทำไมติดแต่ไม่มีอาการ
ศ.ดร.ธีระศักดิ์ พัชรวิภาส อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ ม.รังสิต ได้ไขข้อข้องใจ ถึงอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีลักษณะเหมือนเชื้อไวรัสอื่นๆ คือ จะเข้าไปสู่เซลล์เป้าหมายได้ ต้องมีการจับเกาะแทรกเข้าไปภายในเซลล์ที่จำเพาะ และเหมาะสม จึงจะเพิ่มจำนวน ในเซลล์นั้นๆ ได้ โดยไวรัสโควิด-19 ใช้สารชีวภาพบนผิวเซลล์ เช่น ACE-2 และ TMPRSS-2 ให้เชื้อเข้าจับเกาะ และแทรกเข้าไปในเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวน
“ร่างกายของแต่ละคนจะมีความหลากหลายของสารชีวภาพแตกต่างกัน ตามพันธุกรรมของแต่ละคน เชื้อโควิดจะใช้จับเกาะเพื่อเข้าไปเซลล์เป้าหมาย สารชีวภาพอย่าง ACE-2 และ TMPRSS-2 ต้องเป็นรูปแบบที่เหมาะกับส่วนสไปค์ของเชื้อโควิดประมาณคล้ายกับกุญแจกับลูกกุญแจ ดังนั้น เมื่อคนเรารับเชื้อไวรัสโควิด ใช่ว่าทุกคนจะกลายเป็นผู้ที่มีการติดเชื้อจริงๆ เสมอไป การติดเชื้อไวรัสโควิดจึงแสดงอาการได้หลากหลาย บางคนต่อให้ตรวจพบเจอเชื้อแต่อาจจะไม่มีอาการอะไร ซึ่งอธิบายได้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ติดเชื้อโควิด จริงๆ ก็ได้” ศ.ดร.ธีระศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 1,814 ราย ตาย 17 ราย ไม่มีรายงานยอด ATK
ศูนย์จีโนม รพ.รามา เผยผลถอดรหัสพันธุกรรมโอมิครอนในรอบ 1 เดือน
รับมือ "ความเครียด" ด้วยวิธีง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้
ติดโควิด” กทม.- ปริมณฑล มี “บัตรทอง” รักษาตัวที่บ้าน ลงทะเบียนผ่านแอป รับยาฟรี
"ติดโควิด" ต้องกินยาอะไรบ้าง ? เตรียมพร้อมไว้อุ่นใจกว่า
- เมื่อผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิดอาการแตกต่างกัน
ต้องทำความเข้าใจว่าอาการป่วยต่างๆ ของคนที่ตรวจพบโควิดไม่ได้เกิดจากเชื้อโดยตรงแต่เกิดจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในรูปแบบหนึ่งของร่างกาย เมื่อเชื้อไวรัสที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างสารหลายชนิดที่เรียกรวมๆว่าไซโตไคน์เพื่อต่อต้าน แต่ขณะเดียวกันก็กลับทำความเสียหายต่ออวัยวะนั้นๆ ด้วย จนทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะล้มเหลวโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจซึ่งเป็นอวัยวะเป้าหมายหลักของไวรัสโควิด https://www2.rsu.ac.th/home
ศ.ดร.ธีระศักดิ์ อธิบายต่อว่า ความหลากหลายทางพันธุกรรมต่อการติดเชื้อ ทำให้เกิดผลที่แตกต่างกันต่อแต่ละคนที่ได้รับเชื้อไวรัส จะเห็นว่ามีคนประมาณ 70-80% ที่ตรวจพบเชื้อโควิด แต่ไม่ได้แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มีการติดเชื้อจริงเนื่องจากสารพันธุกรรมต่อการติดเชื้ออย่าง ACE-2 และ TMPRSS-2 ไม่เหมาะต่อการจับเกาะของเชื้อโควิดเพื่อเข้าเซลล์เป้าหมาย(ซึ่งหมายถึงเซลล์ปอดส่วนล่าง)
ขณะที่คนที่ติดเชื้อโควิดจริงจะมีการเพิ่มจำนวนของเชื้ออย่างมากมายตลอดเวลาและกระตุ้นให้สร้างสารไซโตไคน์ขึ้นมาอย่างมหาศาลที่เรียกว่า cytokine storm จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรุนแรง ส่วนคนที่มีพันธุกรรมไม่เหมาะต่อการติดเชื้อก็มักไม่มีอาการหรืออาจมีอาการเล็กน้อยเนื่องจากมีเชื้อปริมาณมากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างไซโตไคน์ได้บ้างแต่ก็อยู่ในระดับที่จำกัดทำให้มีอาการเล็กน้อยคล้ายไข้หวัดได้
ฉะนั้น การตรวจพบเชื้อไม่ได้หมายความว่าเราจะติดเชื้อจริงๆ เสมอไป เพราะพันธุกรรมต่อการติดเชื้อของเราแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างกัน หากพิจารณาจากข้อมูลคนที่ตรวจพบเชื้อโควิดอาจมีผู้ติดเชื้อจริงๆประมาณ 15-25% เท่านั้นโดยคนเหล่านี้จะมีอาการรุนแรง
- เช็คความต่างพันธุกรรมต่อการติดเชื้อ”และ”พันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน”
ตารางแสดงแยกกลุ่มประชากรจากความแตกต่างทาง “พันธุกรรมต่อการติดเชื้อ”และ”พันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน”พร้อมแสดงสัดส่วนของประชากรในแต่ละกลุ่มจากผลการได้รับเชื้อโควิด -19
กลุ่มที่ (สัดส่วนประชากร) |
พันธุกรรมต่อการติดเชื้อไวรัส |
พันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน |
ผลจากการรับเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย (ไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวอื่นๆหรือไม่ก็ตาม) |
1
(18-24%) |
ติดเชื้อได้จริง |
สร้างทีเซลล์นักฆ่าได้ |
เกิดอาการรุนแรง หากรักษาด้วยการประคองตามอาการได้ดี ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นก็จะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้หมดภายในเวลาประมาณ 2-3สัปดาห์ |
2
(0.2-2%) |
ติดเชื้อได้จริง |
ไม่สามารถสร้างทีเซลล์นักฆ่าได้ |
มีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเสียชีวิตจากอาการรุนแรงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ นอกจากจะมียาที่สามารถกำจัดเชื้อหรือยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ |
3
(65-75%) |
ไม่เหมาะต่อการติดเชื้อ |
สร้างทีเซลล์นักฆ่าได้ |
ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แต่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี อาจนำภูมิคุ้มกันนี้ไปรักษาช่วยคนที่มีอาการรุนแรงได้ |
4
(1-5%) |
ไม่เหมาะต่อการติดเชื้อ |
ไม่สามารถสร้างทีเซลล์นักฆ่าได้ |
มีอาการได้เล็กน้อยหรือไม่มีอาการเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 3 และน่าจะเป็นกลุ่มที่ควรจะมีการศึกษาติดตามต่อไปว่าจะมีการติดเชื้อแอบแฝงหรือไม่ซึ่งมีความสำคัญต่อกลไกการระบาด |
- โอกาสที่คนที่ติดเชื้อจริงจะหายป่วยได้ไหม?
ปกติแล้วเมื่อร่างกายได้รับเชื้อใดๆ ก็ตามจะมีการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต้องมี “สาร HLAs หรือสารพันธุกรรมทางภูมิคุ้มกัน” มาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเมื่อเชื้อโควิด-19 เข้ามาในร่างกายก็ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสได้ โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า “ทีเซลล์นักฆ่า” ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการกำจัดเซลล์ติดเชื้อไวรัส จำเป็นต้องมีโมเลกุล HLAs ชนิดที่เหมาะสม
โดย HLAs ก็มีความหลากหลายสูงมากเช่นกัน จากข้อมูลจะเห็นว่ามีประมาณ 0.2-2% ของผู้ที่ตรวจพบเชื้อที่เสียชีวิต ซึ่งอธิบายได้ว่าพันธุกรรมทางภูมิคุ้มกันของคนกลุ่มนี้ไม่สามารถสร้าง “ทีเซลล์นักฆ่า” เพื่อกำจัดเซลล์ติดเชื้อได้ ส่วนผู้ติดเชื้อจริงที่มีพันธุกรรมทางภูมิคุ้มกันสามารถสร้าง “ทีเซลล์นักฆ่า” ได้จะหายป่วยได้ภายในเวลา 2-3 สัปดาห์
- สั่ง “ยาโควิด” เสียดุลโดยเปล่าประโยชน์
คำถาม จากการศึกษาเบื้องต้นยารักษาโควิดที่มีการวางขายในตลาดตอนนี้ พบว่ามีผลดีกว่ายาหลอก 10-20% จึงยังไม่มีการรับรองว่าใช้ยาแล้วได้ผลทันที หรือมีการกำหนดชัดเจนว่า ยาควรใช้กับคนที่ติดเชื้อจริง
“การสั่งยาจากต่างประเทศมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนตัวไม่แน่ชัดว่าจะเป็นการเสียดุลไปเปล่าประโยชน์หรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่ายาได้ผลจริง โดยมักโทษว่ายาไม่ได้ผลเพราะผู้ป่วยอยู่ในกลุ่ม 608 ผมคิดว่าการศึกษาประสิทธิผลที่แท้จริงของยาควรต้องเลือกศึกษากับผู้ที่ติดเชื้อจริงซึ่งมีประมาณ 0.2-2% ของผู้รับเชื้อ ไม่ใช่เหมารวมเอาทุกคนที่ตรวจพบเชื้อมาศึกษา และทำให้ประเมินประสิทธิผลของยาผิดเพี้ยน ควรต้องศึกษาโดยใช้ยานั้นๆ กับ “กลุ่มที่ติดเชื้อจริง และไม่สามารถสร้าง “ทีเซลล์นักฆ่า” ได้ จึงจะประเมินประสิทธิผลของยาได้อย่างชัดเจนแน่นอน”
- ฉีดวัคซีน ควรเสริมแพ็กเกจตรวจภูมิคุ้มกัน
ส่วนการฉีดวัคซีน ตอนนี้ถึงจะฉีดไปหลายเข็มก็ใช่ว่าจะไม่ติดโควิด-19 แต่การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรคมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือกลุ่มเสี่ยงยิ่งจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพื่อช่วยให้เมื่อติดเชื้อ ไม่ต้องเสียชีวิต
“ประชากรทั่วโลกน่าจะมีคนที่มีพันธุกรรมต่อการติดเชื้อจริงประมาณ 15-25% คนที่เหลือประมาณ 70-80%ถึงได้รับเชื้อก็ไม่ติดเชื้อ แต่เราไม่อาจทราบได้ว่าใครมีพันธุกรรมต่อการติดเชื้อหรือไม่ การฉีดวัคซีนโควิดแก่ทุกคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และจะทำให้คนที่มีพันธุกรรมต่อการติดเชื้อสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าวัคซีน จะไม่มีประสิทธิผลให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อทุกคนจะมีบางคนที่พันธุกรรมไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันจดจำจากวัคซีนได้ โดยสรุปคือ การฉีดวัคซีนจะทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อจริงของประชากรจากประมาณ 70-80%เป็น 99%ขึ้นมา” ศ.ดร.ธีระศักดิ์ กล่าว
ศ.ดร.ธีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นมาตรการป้องกันโควิด และลดความรุนแรงของอาการป่วย แต่ทั้งนี้ ระบบของกระทรวงสาธารณสุข เป็นลักษณะการเหวี่ยงแหให้ทุกคนได้ฉีด แต่ไม่ได้มีการกำหนดชัดเจนว่าแต่ละคนควรฉีดอย่างไร ไม่มีการตรวจภูมิคุ้มกันว่าหลังฉีดวัคซีนแล้ว มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขนาดไหน มีเพียงการฉีดวัคซีนแต่ไม่มีแพ็กเกจตรวจภูมิคุ้มกันร่วมด้วย และตรงนี้เป็นปัญหา
ถ้ามีการตรวจพบว่าใครที่สร้าง IgG โดยเฉพาะ IgA ก็จะเป็นการระบุได้อย่างอ้อมๆ ว่าคนเหล่านั้นมีการสร้างเซลล์จดจำเพื่อสร้างภูมิป้องกันอย่างถาวรได้ และทำให้เราลดงบประมาณกว่า 70% จากการนำเข้าวัคซีน และอาจกำหนดระบบสาธารณสุขเพื่อเน้นกับคนที่เหลือ
“ขณะนี้สาธารณสุขเน้นไปที่การกลายพันธุ์ของเชื้อที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย และมีความวิตกทุกครั้งที่พบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีผลต่อพยาธิสภาพแต่อย่างใด ผมคิดว่าควรพิจารณาให้รอบคอบ ต้องเข้าใจว่าเชื้อไวรัสมีการกลายของรหัสพันธุกรรมตลอดเวลาบางครั้งกลายเป็นตัวที่ปรับตัวได้ดีขึ้น แต่บางครั้งก็กลายเป็นตัวที่ปรับตัวไม่ได้ในสิ่งแวดล้อมซึ่งก็สูญสลายไป ต้องเข้าใจว่าเชื้อไวรัสไม่มีสมอง การกลายพันธุ์ของเขาเป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติประมาณว่าลองผิดลองถูก เมื่อมีการกลายของรหัสพันธุกรรมเป็นตัวไหนที่ปรับตัวได้ดีขึ้นก็ทำให้อัตราการแพร่ระบาดมากกว่าเหนือตัวเดิม ไม่จำเป็นว่าทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น หากไม่ได้มีการกลายพันธุ์ในจุดสำคัญอย่างเช่นเปลี่ยนไปจับกับสารชีวภาพบนผิวเซลล์ชนิดอื่นๆ” ศ.ดร.ธีระศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ตอนนี้มีการผ่อนคลายมาตรการประเทศ และทุกคนสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นรายวัน (แม้จะไม่มากเท่าช่วงแรกๆ) ดังนั้น การป้องกันโควิดโดยการสวมใส่หน้ากาก เป็นประจำ การล้างมือ การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือพื้นที่เสี่ยง ยังคงเป็นพฤติกรรมที่ทุกคนควรปฏิบัติ และต่อให้จะฉีดวัคซีนแล้วกี่เข็ม ก็ควรใส่หน้ากากตลอดเวลา รวมถึงเมื่อพบผู้ติดเชื้อ หรือมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ อย่าตีความเหมารวม หรือกล่าวโทษพวกเขา
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการป้องกันโรค การปฏิบัติตัวให้ห่างจากโควิด-19
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์