4 จังหวัด เตียงป่วยหนักโควิด-19 เริ่มตึงตัว แต่ระบบยังพร้อมขยายรองรับได้

4 จังหวัด เตียงป่วยหนักโควิด-19 เริ่มตึงตัว แต่ระบบยังพร้อมขยายรองรับได้

สธ.เผยแนวโน้มผู้ป่วยหนักโควิด-19เพิ่มขึ้น ชุกในกทมปริมณฑล จังหวัดใหญ่ จับตาใกล้ชิดหลังหยุดยาว อัตราครองเตียงป่วยหนัก 4 จังหวัดเริ่มตึงตัว  ยันระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ พร้อมขยายเตียงรองรับ ห่วงระบบส่งต่อผู้ป่วยในกทม. เร่งกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงรักษาโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลายประเทศมียอดเป็น 0 ราย แสดงว่าหลายประเทศไม่ได้รายงานเป็นรายวันแล้ว  ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลกแม้ผู้ติดเชื้อยังสูง แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้สูงขึ้น  เช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

       สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 18 ก.ค.2565 มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ป่วยมีปอดอักเสบ 794 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 369 ราย ผู้ป่วยนอกสัปดาห์ที่ผ่านมา 143,827 ราย ต้องมีการดูในส่วนของผู้ป่วยหนัก ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ต้องมีการจับตาใกล้ชิดโดยเฉพาะหลังจากหยุดยาว  ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตสูงอยู่ในพื้นที่กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม มีพี่น้องที่ทำงานในกรุงเทพฯเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา อาจมีการติดเชื้อในต่างจังหวัดขึ้นได้  สธ.กำลังจับตาใกล้ชิด

กลุ่มที่ให้ความสำคัญคือกลุ่มที่จะเสียชีวิตในการระบาด ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว และคนท้อง คิดเป็น 98% ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบถ้วน ทั้งนี้  ระยะหลังพบผู้ที่มีโรคประจำตัวแม้ได้รับวัคซีนกระตุ้นแล้ว 3 เข็มก็ยังมีการเสียชีวิตสูงขึ้น หลังรับวัคซีนเข็มล่าสุดมาแล้วหลัง 3 เดือน ดังนั้น ควรเข้ารับการฉีดเข็มกระตุ้นต่อจากที่รับล่าสุด 3-4 เดือนโดยประมาณ  

     อัตราครองเตียงระดับ2-3 ที่เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบกำลังรักษาในรพ. พื้นที่กทม.อยู่ที่ 47.30 % นนทบุรี 49.70 % สมุทรปราการ 31.80 % และปทุมธานี 36.50 % ดูเหมือนเริ่มตึงตัว แต่ความสามารถระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ เพราะแม้ผู้ป่วยหนักในรพ.สูงขึ้น ซึ่งเตียงส่วนหนึ่งได้ถูกนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์สูงขึ้น ก็สามารถขยายเตียงมารองรับผู้ป่วยหนักได้ ซึ่งในส่วนของต่างจังหวัดปลัดสธ.ได้มีการสั่งการให้มีการเตรียมพร้อมแล้ว

     ส่วนพื้นที่กทม.มีความจำเป็นที่สธ.จะต้องหารือร่วมกัน เพราะจะเป็นจุดที่มีปัญหา และต้องเห็นใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีรพ.จำนวนมากหลากหลายสังกัด ทั้งเอกชน มหาวิทยาลัย รพ.สังกัดกทม. และรพ.ภาครัฐอื่นๆ ทั้งสังกัดตำรวจ ทหาร การบูรณาการจัดการหากไม่คุยกันจะมีปัญหาเรื่องการจัดการ ซึ่งต้องยอมรับว่ากทม. ไม่มีระบบการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งแตกต่างจากรพ.ในสังกัดสธ.สามารถสั่งการเรื่องการส่งต่อได้ ดังนั้นกทม.จึงต้องหารือ โดยสธ.ก็ต้องเป็นผู้ประสานให้มีการหารือกันเพื่อจัดระบบ ให้ชัดเจนว่าสมมติไปรพ.แห่งหนึ่งแล้วไม่พร้อมรับ จะส่งต่อไปยังรพ.ไหนต่อไป

      นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  อัตราตายต่อประชากรแสนคน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 -16 ก.ค. 2565 พบว่าอัตราเสียชีวิตสูงสุดในช่วงท้ายปี 2564 ที่เป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ส่วนช่วงเม.ย.2565 ที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน  BA.4 /BA.5ล่าสุด อัตราตายลดลง เป็นการบอกว่าความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา อีกทั้งการฉีดวัคซีนภาพรวมฉีดได้กว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งเป็นตัวลดอัตราการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการรักษาโดยเร็วของกลุ่มเสี่ยงเป็นประเด็นสำคัญในการลดการเสียชีวิตในระยะต่อไป

       นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า  สรุปมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ คือ ทุกคนช่วยกันถือปฏิบัติมาตรการป้องกันส่วนบุคคล 2U โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์หลังวันหยุดยาว ต้องดำเนินการเคร่งครัดทั้ง Universal prevention และ Universal vaccination กลุ่มเสี่ยง 608  เร่งรับการฉีดวัคซีนในทุกเข็ม  นอกจากนี้  หน่วยงานต่างๆพบผู้ติดโควิด-19 หากอาการน้อยให้แยกที่บ้านอย่างน้อยเป็น 7 วัน แล้วให้กลับมาทำงานได้ แต่ 3 วันที่กลับมาให้ออกมาได้แต่ต้องเคร่งครัดการป้องกันตัว เป็นระบบ 7+3 วัน ส่วนกรณีกลุ่ม 608 การลดการติดเชื้อและลดการเสียชีวิตจำเป็นมากเพราะเกือบ 100% คือกลุ่มนี้ที่เสียชีวิตเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องจำเป็น

   ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีมีรายงานคนเสียชีวิตตามบ้านนั้น มีรายงานเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตที่มีโรคโควิดร่วมด้วย (died with covid 19) มีทั้งที่ตรวจเจอโควิดอยู่ก่อน หรือมาตรวจเจอว่ามีโควิดร่วมด้วยในภายหลัง แต่สาเหตุที่เสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่เดิม ไม่ใช่เสียชีวิตจากโควิด เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย หรือผู้ป่วยที่อยู่ป่วยต้องรับการรักษาแบบประคับประคอง ให้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายกับครอบครัวมากกว่า ทั้งนี้ กรณีครอบครัวที่ต้องดูแลก็ให้สวมหน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนซึ่งจะสามารถป้องกันได้ หลังจากนั้นก็เฝ้าระวังตัวเอง 7 วัน ส่วนกรณีที่เสียชีวิตจากโควิดจริงๆ (died from covid 19) มีเล็กน้อย