องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) สร้างได้ ต้องเริ่มจาก ผู้นำองค์กรสูงสุด
“ความสุข” เป็นพลังงานบวกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตสนุกสนาน มีสีสันและรู้สึกได้ถึงการถูกเติมเต็มในชีวิต คนที่ทำงานอย่างมีความสุขก็อยากจะมาทำงานทุกวันและรู้สึกได้ถึงคุณค่าของงานที่ทำนั้น ท้ายที่สุด ผลสัมฤทธิ์ของงานก็มีประสิทธิภาพตามไปด้วย
"ความสุข" จากการทำงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การได้ทำางานในองค์กรแห่งความสุขที่มั่นคง
++ ความสำคัญของ องค์กรแห่งความสุข
“องค์กรแห่งความสุข” ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2513 จากองค์กรด้านสุขภาพ ประเทศแคนาดา ซึ่งมีความสนใจในสุขภาพของสถานที่ทำงาน และความอยู่ดีมีสุขขององค์กร จึงได้สร้างระบบสุขภาวะของสถานที่ทำงานขึ้นมาโดยมีหลักการและเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาองค์กรแห่งความสุขที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพและจิตวิทยาทางสังคม ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านการปฏิบัติการด้านสุขภาพหรือรูปแบบการใช้ชีวิต
องค์กรแห่งความสุข เป็นแนวคิดหลักที่มุ่งดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือ “คนทำงานในองค์กร” ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักของทั้งครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม มีการส่งเสริมและพัฒนานโยบาย
องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ต้องเป็น กระบวนการพัฒนาคนในองค์กรอย่างมีเป้าหมายและมียุทธศาสตร์ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้องค์กรมีความสามารถและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
การสร้างความสุขในที่ทำงาน นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารองค์กร มุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความสุขในการทำงาน ความสุขที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดการรังสรรค์ทางความคิด งานที่ได้รับมอบหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความตึงเครียดจากการทำงาน และสภาพแวดล้อมลดความขัดแย้งในองค์กรความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำงานเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้พฤติกรรมคนปรับเปลี่ยนและพัฒนาในแนวโน้มที่ดีขึ้น
หากองค์กรใดปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสำคัญ ต้นเค้าแห่งความเสื่อมถอยขององค์กรนั้นย่อมปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากคนทำงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีความสุขในการทำงาน ในที่สุดองค์กรนั้นก็ล่มสลาย
++ ปัจจัยที่ส่งผลให้บรรยากาศขององค์กรแห่งความสุข
บรรยากาศขององค์กรแห่งความสุข มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานเป็นอย่างมาก หากบรรยากาศขององค์กรดี เป็นองค์กรแห่งความสุข ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานก็จะดีตามไปด้วยและคนทำงานก็จะให้ความสำคัญในการทำงานมากขึ้น
บรรยากาศในการทำงานในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่สภาพแวดล้อมทางกายภาพในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตรระหว่างเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหารหรือผู้นำเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีกลยุทธ์ มีธรรมาภิบาลในการบริหารงาน รวมถึงมีเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยที่จะช่วยให้สามารถปฏิบัติงานได้ดี และผลตอบแทนหรือสวัสดิการในองค์กรเป็นไปอย่างเหมาะสม แต่ในทาง กลับกัน หากบรรยากาศในองค์กรไม่ดี ไม่เป็นองค์กรแห่งความสุข ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานก็จะลดลงเช่นกัน
การสร้างองค์กรแห่งความสุข ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จนั้นองค์กรจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการและการร่วมมือทั้งในด้านองค์ความรู้และการวิจัยปฏิบัติการ ซึ่งหลักสำคัญที่เป็นแกนกลางจะต้องปรากฏอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการ คือ ความเป็นผู้นำ (Leadership engagement) การมีส่วนร่วมของพนักงาน (worker involvement) ซึ่งขึ้นอยู่กับจริยธรรมและการให้คุณค่า (values and ethics)
++ ปัจจัยหลักในการสร้างองค์กรแห่งความสุข ก็คือ “ผู้นำสูงสุดขององค์กร”
ในแต่ละวัน คนทำงานจะใช้เวลาประมาณหนึ่งในสามอยู่ในที่ทำงาน จนที่ทำงานเป็นเสมือนบ้านหลังที่สอง ดังนั้น หากที่ทำงานน่าอยู่ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสุข แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรและพร้อมด้วยเครื่องมือที่เอื้อต่อการทำงาน คนทำงานก็จะอยากไปทำงานทุกวัน และทำงานเต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของงานในที่สุด
การจะสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งความสุขจึงเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองพนักงานมีความสุขในการทำงาน เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับองค์กรเป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสามารถสร้างได้ในพริบตา หากแต่ต้องใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำสูงสุดขององค์กร แนวคิดของผู้นำสูงสุดขององค์กรที่มุ่งให้ความสำคัญกับบุคลากร และให้ความใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง จะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นความสุขที่เกิดขึ้นอย่างมั่นคง
++ HR จะส่งเสริมการสร้างความสุขในการทำงานได้อย่างไร
เพราะคนคือหัวใจขององค์กร การรักษาความสุขของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหาร หัวหน้างาน รวมไปถึงทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ควรให้ความสำคัญ ซึ่งจะว่าไปแล้วการสร้างความสุขในการทำงานนับเป็นหนึ่งในหน้าที่ของ HR ด้วย โดยสามารถส่งเสริมได้ ดังนี้
ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในองค์กร การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรจะช่วยให้พนักงานมีความผูกพันกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในทีม หรือระหว่างแผนก สิ่งนี้จะช่วยให้ทุกคนในองค์กรรู้จักกัน และเข้าใจกระบวนการทำงานซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ระบบการทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น โดย HR มีเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์มากมายให้เลือกใช้ เช่น การสร้าง Team Building ผ่าน Company Outings เป็นต้น
ใช้ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะปัจจุบันที่หลายคนจำเป็นต้อง Work From Home ทำให้กฎระเบียบข้อบังคับแบบเดิมๆ ไม่สามารถใช้ได้ในสถานการณ์นี้ HR จึงมีหน้าที่ช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจทางเลือกในการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงให้เหมาะสมกับแต่ละคน รวมถึงพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปด้วย
ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในเส้นทางอาชีพ ด้วยรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เส้นทางอาชีพ หรือ Career Path ก็ค่อยๆ เลือนลานลง พนักงานคนหนึ่งอาจไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียวในเลือกเดิน แถมยังมีงานหลากหลายให้รับผิดชอบ สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารและ HR ควรตระหนักก็คือการวางแผนพัฒนาอาชีพ (Career Development) ให้ก้าวหน้า องค์กรจึงต้องพร้อมให้ข้อเสนอแนะหรือช่วยออกแบบความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงานด้วย
มอบผลตอบแทนและสวัสดิการที่ดี นอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความสุขให้คนทำงานได้เหมือนกัน ซึ่งไม่เพียงการมอบสวัสดิการพื้นฐาน เช่น สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แต่รวมไปถึงสวัสดิการด้านความปลอดภัยและความสะดวกสบายใจองค์กร ถ้าทุกอย่างตอบโจทย์คนทำงานก็จะเพิ่มความสุขในระยะยาวได้เลย