ขึ้นค่าเช่า 2 เท่า-ประมูลใหม่ เปิดปมฉาว ม็อบตลาดน้อยลุยผู้บริหาร มมส
ความคืบหน้า ความเดือดร้อน ขึ้นค่าเช่า 2 เท่า-ประมูลใหม่ เปิดปมฉาว ม็อบตลาดน้อยลุยผู้บริหาร มมส มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ม็อบตลาดน้อย มมส ผู้ค้าเดินถือป้ายเดินขบวนประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เหตุขึ้นค่าเช่าแผงร้านค้า 2 เท่า ทำให้ได้รับความเดือดร้อน หวั่นถูกลอยแพ
จากที่ตลาดน้อยเป็นตลาดที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มมส มีนิสิตและบุคลากรใช้บริการ เนื่องจากมีร้านอาหารมากมายให้เลือกรับประทาน ทั้งคาว หวาน ขนม ผลไม้ น้ำปั่น อาหารไทย อีสาน ในราคาถูก ตลาดน้อยจึงเป็นพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นิสิตและบุคลากร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต่อมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีนโยบายปรับปรุงโรงอาหาร ตลาดน้อยโดมหนึ่ง เพื่อยกระดับโรงอาหารให้มีมาตรฐาน ด้านการจัดการและการดูแลที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
โดยในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ได้มีการจัดสรรพื้นที่ภายในโดมหนึ่งรูปแบบใหม่ โดยจะมีการแยกโซนพื้นที่ ตามประเภทอาหาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาใช้บริการโดยแบ่งเป็นหลายโซน คือ โรงอาหารกลาง (ตลาดน้อย) ดังนี้
- โซน A ตลาดน้อยโรงอาหาร
- โซน B ข้าวราดแกง/ข้าวมันไก่/ขาหมู/สุกี้/ผัดไทย
- โซน C ปิ้งย่าง
- โซน D ทอด
- โซน E อาหารบรรจุถุง/อาหารอิสาน/ส้มตำ/ยำ/ลูกชิ้น
- โซน F เครื่องดื่ม/น้ำปั่น/น้ำดื่ม/ผลไม้แช่เย็น
- โซน G เบเกอร์รี่/ขนมหวาน/ขนมไทย
- โซน H ผลไม้สด
- โซน I พวงมาลัย/กุญแจ
ล่าสุด พ่อค้าแม่ค้าในตลาดน้อยจะถูกไล่ที่ โดยทางมหาวิทยาลัยนำพื้นที่ตลาดไปประมูลใหม่ ขึ้นค่าเช่า 2 เท่า ทำให้พ่อค้าแม่ค้ากว่า 300 ร้าน ในพื้นที่ตลาดน้อยหวั่นถูกลอยแพ จึงออกมารวมตัวเพื่อขอความเป็นธรรม
วันนี้ 21 กรกฎาคม 65 ที่บริเวณตลาดน้อย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (วิทยาเขตขามเรียง) อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดน้อยกว่า 300 ร้านค้า รวมตัวกันหยุดขายอาหาร 1 วัน พร้อมเดินขบวนจากตลาดน้อยไปที่หน้าอาคารบรมราชกุมารี ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อเรียกร้องขอพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายหลังจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าเดิม การขึ้นค่าเช่าแผงค้า และเปิดประมูลใหม่ทั้งหมด ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากโควิด-19 ในรอบ 2 ปี ได้รับผลกระทบอย่างมาก
โดยกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเริ่มรวมตัวกันที่บริเวณตลาดน้อย พร้อมมีป้ายประท้วง เรียกร้องข้อความต่าง ๆ อาทิ เราไม่เอาประมูล , หยุดโควิด 2 ปี เปิดร้านอีกทีโดนเท, “พนูนํ ปณฺฑิโต ชีเว” ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน, ทำรักมหา’ลัย แต่มหา’ลัยไม่รักเรา เป็นต้น
ก่อนจะเดินเคลื่อนขบวนมายังหน้าอาคารบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อขอให้อธิการบดีและคณะผู้บริหารลงมาพบและพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า ให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น
นายชนะพงษ์พันธ์ แพงวิเศษ ตัวแทนกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดน้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางพ่อค้าแม่ค้าต้องประสบกับวิกฤต โควิด-19 ตลอด 2 ปีครึ่ง เมื่อทางมหาวิทยาลัยมีการเปิดภาคการศึกษาแบบ On site กำหนดเปิดเรียน 24 มิถุนายน 2565 มีนิสิตเดินทางมาเรียนมากขึ้น
พอที่จะให้พ่อค้าแม่ค้าที่มาขายอาหารและเครื่องดื่มให้กับนิสิต พอที่จะลืมตาอ้าปากได้ ผ่านมาเพียง 20 วัน เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนก็จะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ โดยทางมหาวิทยาลัย ได้ยกเลิกการต่อสัญญา และเปิดให้มีการประมูลเสนอราคาค่าธรรมเนียมในการใช้พื้นที่ เพื่อประกอบกิจการร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย ทำให้พ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก
- มีการปรับขึ้นค่าเช่าแผงจากเดิม 100% เช่น ค่าล็อกอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว จากเดิมค่าล็อกเดือนละ 6,000 บาท
- ค่าน้ำค่าไฟค่าส่วนกลางต่างหาก ปรับเป็นเดือนละ 12,000 บาท ถ้าเป็นล็อกตรงกลางล็อกใหญ่ เดือนละ 3,000 ปรับเป็น 6,000 บาท ล็อกเล็กล็อกละ 1,500 ปรับเป็น 3,000 บาท
- ส่วนโซนปิ้งย่าง หน้าร้านแคบ เพียง 1.9 เมตร แต่ล็อกยาวลึกเข้าไปด้านในไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ล็อกละ 1,500 บาท ปรับขึ้นเป็น 7,000 บาท พ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบอย่างมาก
ส่วนข้อเรียกร้องของทางพ่อค้าแม่ค้า ตอนนี้มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ
1. ต้องไม่มีการประมูล หรือหากจะประมูลก็ขอให้ประมูลล็อกที่ว่าง
2. ขอให้พิจารณาค่าล็อกใหม่ เราเข้าใจว่าตลาดน้อยมีการปรับปรุง ทำให้ดูดีสวยงามขึ้น จึงต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ขอให้มีการปรับขึ้นแบบขั้นบันได ไม่ใช่ปรับขึ้นทีเดียว 100% เราจะเอาเงินมาจากไหนในเมื่อไม่ได้ขายของมา 2 ปีกว่า เพราะเจอโควิด
3. เงินค้างค่าประกันสัญญาของพ่อค้าแม่ค้าที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ค้างจ่าย ตั้งแต่ปี 2562 เหตุเกิดจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ไม่เอาเงินเข้าระบบ เงินส่วนที่ไม่มีใบเสร็จก็แล้วไป แต่เงินประกันสัญญาจะมีใบเสร็จอยู่แล้ว ก็ขอเงินคืนให้กับพ่อค้าแม่ค้าด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยฯ อ้างว่ากำลังดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่เอาเงินไป ต้องรอก่อนเพราะว่าทางมหาวิทยาลัยฯ ไม่มีเงินมาจ่ายให้
4. พ่อค้าแม่ค้าขอต่อสัญญาให้ผู้ประกอบการการรายเก่า 5 ปี
ด้านนิสิตรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการส่วนตัว และเห็นใจแม่ค้าเพราะจะต้องค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ค่าเช้าต่อเดือนค่าประกันารายปี หากมีการประมูลถ้าหากประมูลไม่ก็ต้องเสี่ยง ถ้าเงินไม่ถึงก็ประมูลไม่ได้ก็ต้องพื้นที่ทำมาหากิน ซึ่งตลาดน้อยสำคัญกับนิสิตมาก เปรียบเสมือนครัวให้กับนิสิต นึกอะไรไม่ออกเดินไปซื้อที่ตลาดน้อยอาหารทีตลาดน้อยอถูกมาก ถูกกว่าข้านอก
ยิ่งในช่วงนี้ ที่ข้างนอกราคาอาหาร น้ำ ปรับราคาขึ้นสูงมากเป็น 50-60 บาท ซึ่งข้างนอกเงิน 100 บาทได้ไม่กี่อย่าง แต่ที่ตลาดน้อยถูกมาก ข้าวราดแกงจานละ 20-25 บาท หากพอรับได้ ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้แล้ว จะปรับเป็น 30 บาทพอรับได้ ถ้าร้านข้างนอก 50-60 บาท ซึ่งตนเองเห็นใจแม่ค้าเป็นอย่างมาก จากการที่ตนเองไปสอบถาม บางคนต้องไปกู้เงินมาหรือเอาที่ไปจำนอง เพื่อที่จะเอาเงินมาสู้
แม่ค้าตลาดน้อย เปิดเผยว่า แต่เดิมสร้างตลาดเพื่อลดปัญหาเกิดปัญหาลดอุบัติเหตุนอกพื้นที่ไม่ให้ออกไปข้างนอก เลยมาสร้างตลาดน้อยโดยเพื่อให้พ่อค้ามาขายของ โดยเป็นชาวบ้าน เดือดร้อนเพราะชาวบ้านที่มาขายในตลาดน้อย คือคนในพื้นที่
อยู่ๆ วันหนึ่ง มหาวิทยาลัยยุบโรงอาหารกลางตลาดน้อย ให้โรงอาหารกลางมาอยู่กับตลาดน้อย และขายได้ทั้งวันเมื่อก่อนขายได้เฉพาะตอนเย็น แลมาสร้างปรับปรุงตลาดน้อยให้โดยมีโครงหลังคาให้ดูดี และมีการปรับค่าเช่า แต่ก็ยอมเสีย แต่ไม่เคยมีการประมูล เข้ามาตั้งแต่ต้นอยู่มา 10-15 ปี ล่าสุดบอกให้เราออกทั้งหมด และมาบอกว่าให้มีการประมูล ค่าเช่าขึ้นจากเดิม 2 เท่า
ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและพัสดุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองคลังและพัสดุ ได้ออกมาพบและรับทราบข้อเรียกร้องของทางพ่อค้าแม่ค้าในตลาดน้อย กล่าวกับพ่อค้าแม่ค้าตลาดน้อยว่า ทางมหาวิทยาลัย ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของพ่อค้าแม่ค้าตลาดน้อยแล้ว
ที่ผ่านมาได้ทราบถึงปัญหามาโดยตลอด จากนี้ทางมหาวิทยาลัย จะได้ทบทวนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งตอนนี้เราคุยกันด้วยวาจา แต่อยากให้ทางพ่อค้าแม่ค้า ได้ทำหนังสือเป็นบันทึกข้อความเข้ามา เพื่อเป็นหลักฐาน โดยทางคณะกรรมการมหาวิทยาลัยจะได้นำไปพิจารณาถึงข้อเรียกร้องต่าง ๆ และจะได้แจ้งผลการดำเนินการให้ทราบโดยเร็วที่สุด
ความคืบหน้าล่าสุด อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีการพูดคุยตกลงกันได้และมีการเปิดขายอาหารตลาดน้อยตามปกติ