เปิดแนวทางรักษา "ฝีดาษลิง" และ 6 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง
กรมการแพทย์เผยแนวทางรักษาฝีดาษลิงในไทย ผู้ป่วยสงสัยรับไว้ในรพ.ทุกรายจนทราบผลยืนยัน กรณีผลเป็นลบต้องยืนยัน 2 แล็ป สังเกตอาการตนเอง 21 วัน กรณีผลบวก รักษาแบบประคับประคอง 6 กลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงอาการรุนแรง
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์ฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวทางปฏิการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 ก.ค.2565 ซึ่งได้ผ่านการประชุมของศูนย์ EOC เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆในการวินิฉัย การดูแลรักษา โดยกรณีเป็นผู้ป่วยสงสัย ให้รับไว้เป็นผู้ป่วยในทุกรายก ระหว่างรอผลตรวจ
สำหรับผลการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิง กรณีไม่พบเชื้อจะต้องยืนยันตรงกัน 2 ห้องแล็ป ให้จำหร้ายหรือให้การรักษา และแยกโรคตามสาเหตุของโรค ให้ผู้ป่วยสังเกตอาการของตนเอง 21 วัน ถ้ามีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น ให้ไปพบแพทย์
ส่วนหากตรวจพบเชื้อ ให้รับเข้ารักษาในรพ.ทุกราย ให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ โดยจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง การรักษาจำเพาะ ยังไม่มียาต้านไวรัส อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ระยะเวลากักตัว 14-21 วัน จนสะเก็ดแผลแห้ง ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย
6 กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรครุนแรง ได้แก่
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ
- ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี
- ผู้ที่เป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี
- หญิงตั้งครรภ์ /ระหว่างให้นมบุตร
- ผู้ที่มีประวัติหรือกำลังเป็นโรคผิวหนังบางชนิด