ตั้งเป้าผลิต "ฉุกเฉินการแพทย์" 15,000 คน รองรับอัตราการขาดแคลน

ตั้งเป้าผลิต "ฉุกเฉินการแพทย์" 15,000 คน รองรับอัตราการขาดแคลน

สาขา “ฉุกเฉินการแพทย์” เป็นสาขาของการประกอบโรคศิลปะที่จะกระทำต่อมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน  เกี่ยวกับการประเมิน การคัดแยก การวินิจฉัย การบำบัด และการเคลื่อนย้ายหรือการลำเลียง นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จัดเป็นสาขาขาดแคลนที่เป็นความต้องการของประเทศ

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ประมาณการความต้องการนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ในประเทศกว่า 35,000 คนในระยะเวลา 5 ปี และจำนวนที่ต้องการเร่งด่วนภายใน 1-3 ปี ไม่น้อยกว่า 10,000 คน ในขณะ ที่ปัจจุบันนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ในประเทศไทยมีเพียง 674 คน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในระบบเพียงครึ่งหนึ่ง และอัตราการผลิตปัจจุบันของประเทศ ผลิตได้เพียงปีละประมาณ 180 - 200 คนเท่านั้น

  • 10สถาบันลงนามผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์

วันนี้ (2 ส.ค.2565)วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ 8 สถาบันการศึกษา และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดพิธีลงนาม “องค์กรภาคีเครือข่าย10 สถาบัน เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ ด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา” เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ที่ตอบโจทย์นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

ด้วยการพัฒนารูปแบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น ให้บุคคลที่ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาโดยไม่ต้องลาศึกษาหรือเว้นจากการปฏิบัติงานประจำ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าศึกษาต่างถิ่นที่อยู่

ส่งผลให้มีนักฉุกเฉินการแพทย์ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ และเพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเป็นต้นแบบในการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นได้ในอนาคต

 

  • บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ช่วยอัตรารอดชีวิต

ศ.คลินิก พญ.โฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  กล่าวว่าการบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เป็นงานบริการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการปฏิบัติการทางการแพทย์ขั้นสูงตั้งแต่เมื่ออยู่นอกโรงพยาบาล ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ

“ในฐานะหน่วยงานจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญาในประเทศไทยร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันหาทางออกเพื่อให้ประเทศมีบุคลากรด้านฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถระดับสูงอย่างเพียงพอและรวดเร็ว โดยใช้โอกาสจากการที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายในเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นำมาสู่งานแถลงข่าวการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ” ศ.คลินิก พญ.โฉมศรี กล่าว

ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการฯ นี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานชั้นนำ แบ่งบทบาทความรับผิดชอบของแต่ละส่วน ประกอบด้วย คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ บทบาทคือ เป็นองค์กรรับรองความรู้ในวิชาชีพของผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาสาขาฉุกเฉินการแพทย์ให้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์, วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย

 

 

  • ตั้งเป้า 10 ปี ผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ 15,000 คน

ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้เริ่มมีการจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญามาแล้วประมาณ 13 ปี ตราบจนปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถในระดับนี้จำนวน 674 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน พ.ศ.2565) อัตราการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพียงปีละ 180-200  คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

สำหรับบทบาท ความร่วมมือในครั้งนี้ คือการจัดหาและเตรียมความพร้อมให้อาจารย์ผู้สอน สถาบันฝึกอบรมความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินทุกแห่ง รวมถึงเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการ และจัดหาอาจารย์ผู้สอน, กระทรวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภากาชาดไทย รวมทั้งสถานพยาบาลและหน่วยปฏิบัติการอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน บทบาทคือ เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติการ จัดหาอาจารย์ผู้สอน และครูช่วยฝึกปฏิบัติการ รวมทั้งเป็นผู้ใช้บัณฑิต ระยะเวลาการดำเนินการปีงบประมาณ 2566-2675  โดยเริ่มรับผู้เรียนปีงบประมาณ 2566-2570  เริ่มมีผู้จบการศึกษาปี 2568 เป็นต้นไป จำนวนบัณฑิตที่คาดว่าจะผลิต 15,000 คน

โดยได้รับเกียรติจาก อธิการบดีและตัวแทน10 สถาบัน ร่วมลงนามในความร่วมมือ ประกอบด้วย 1. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 2. มหาวิทยาลัยมหิดล 3.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 5.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 6.มหาวิทยาลัยพะเยา 7.มหาวิทยาลัยบูรพา 8.มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 9.สถาบันพระบรมราชชนก  และ10.วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ประเทศไทยจะมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ระดับสูง ซึ่งมีผู้ปฏิบัติการที่เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลเพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น รวมถึงเป็นการพัฒนาต้นแบบของรูปแบบการศึกษาแนวใหม่ในการผลิตบัณฑิตสายวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา  เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เป็นระบบบริการทางการแพทย์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม การสร้างระบบที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล รวมทั้งการขนย้ายลำเลียงที่ถูกวิธี ก็จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น  

ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย เริ่มต้นจากจิตอาสา และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมายังขาดระบบบริหารจัดการด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้ง ยังขาดหน่วยงานรับผิดชอบ จนกระทั่ง ในปี พ.ศ.2551 ได้มีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน ขึ้น และให้มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ การประสาน กำกับ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมทั้งจัดให้มีการศึกษาและฝึกอบรมการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี หลังการมีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มีทิศทาง และความชัดเจนมากขึ้น โดยมีแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นแนวทางการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันเป็นแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินฉบับที่ 4 (2566-2570) และในแผนหลักทุกฉบับ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลากร กำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นำมากำหนดเป็นทิศทางและนโยบายในการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน 

โดยมีเป้าหมายคือ การผลิตบุคลากรให้มีจำนวนเพียงพอ ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากรระดับวิชาชีพ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ โดยได้กำหนดเป้าหมายไว้คือ ทุก 1 ตำบลของประเทศไทย ต้องมีหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับสูงอย่างน้อย 1 หน่วย แต่ข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์อยู่เพียง 674 คน เท่านั้น และกำลังผลิตของแต่ละสถาบันโดยรวมประมาณ 200 คนต่อปี ซึ่งคาดการณ์จำนวนความต้องการประมาณ 35,00 คน จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดบุคคลากรประเภทนี้อีกจำนวนมาก 

ดังนั้น นโยบายเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มกำลังการผลิตนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้มากขึ้น