"ฐานข้อมูล" ปิดทุกช่องว่างการเรียนรู้ถดถอย หยุดการสูญเสียเด็กทั้งระบบ
กสศ.ยืนยัน พลังฐานข้อมูล เครื่องมือสร้างความเสมอภาคสู่สังคม ปิดทุก GAP “Learning Loss สู่ Learning recovery” หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น (Lost Generation) : ดึงพลังทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูการเรียนรู้
วันนี้ (2 ส.ค.) ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดแถลงข่าว พลังฐานข้อมูล เครื่องมือสร้างความเสมอภาคสู่สังคม ปิดทุก GAP “Learning Loss สู่ Learning recovery” หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น (Lost Generation) : ดึงพลังทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูการเรียนรู้ เพื่อนำเสนอข้อมูลความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย เป็นการติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทุกมิติ จนเกิดผลลัพธ์ที่ส่งต่อเชิงนโยบาย นำไปสู่การปฏิบัติ และด้วยพลังความร่วมมือจากทุกฝ่าย มาร่วมกันฟื้นฟูการเรียนรู้ หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ได้ให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน สำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัยนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญหนึ่งของ กสศ. เช่นกัน
โดยเด็กควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงทองของชีวิตที่จะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในทุกด้าน เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงตลอดชีวิต ดังนั้น การพัฒนาและการลงทุนในเด็กปฐมวัย จึงมีความสำคัญสำหรับทุกครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
- ใช้ระบบฐานข้อมูลแก้ปัญหาเด็กเรียนรู้ถดถอย
ปัจจุบัน กสศ. ร่วมกับ 3 ต้นสังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)ช่วยเหลือเด็กปฐมวัยยากจนในโรงเรียนอนุบาล ผ่านทุนเสมอภาค พร้อมทั้งพัฒนากลไกเชิงระบบในจังหวัดต้นแบบเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยนอกระบบอีกด้วย
วันนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของ กสศ. ที่ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาระบบฐานข้อมูลและงานวิจัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงในสถานการณ์สำคัญของกลุ่มเด็กปฐมวัย ทั้งระบบฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ (Early Childhood Longitudinal Data) ซึ่งเริ่มต้นเก็บมาตั้งแต่ปี 2558 และระบบฐานข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey)
“กสศ. เป็นองค์กรที่มีความพร้อมในการเคลื่อนที่เร็วต่อการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในทุกมิติ ทั้งนี้ การดำเนินการสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (school readiness) มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือของประเทศ ซึ่งเก็บข้อมูลลงลึกรายบุคคลและนำเสนอออกมาเป็นรายจังหวัด ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ของประชากรกลุ่มสำคัญคือ เด็กปฐมวัย โดยเครื่องมือนี้ได้ถูกใช้ตามวัตถุประสงค์แล้ว”ดร.ไกรยส กล่าว
- โควิด-19 ช่องว่างเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาขยายกว้างมากขึ้น
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้จัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบบนฐานงานวิชาการ พบว่า COVID-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบเป็นรายบุคคลที่เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) แต่ยังทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาขยายกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำข้อมูล School Readiness มาวิเคราะห์ร่วมกับฐานข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ (CCT) และผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทำให้รู้ว่า รอไม่ได้อีกแล้ว ไม่เช่นนั้นประเทศจะต้องสูญเสียเด็กไปทั้งรุ่น หรือ Lost Generation
ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ.เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เป็นรากฐานของการพัฒนาชีวิต จึงเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัย ส่งผลให้คุณภาพของประชากรของประเทศดีขึ้น ในการดำเนินงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุผลสำเร็จ ทำให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
- ปิดสถานศึกษาเด็กปฐมวัยเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยอย่างชัดเจน
รศ.ศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า RIPED ได้ดำเนินงานร่วมกับ กสศ. เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand School Readiness Survey: TSRS) จะเป็นเครื่องมือเพื่อประเมินว่า เด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสำรวจไปได้ 73 จังหวัด เหลืออีก 4 จังหวัดจะเลื่อนไปสำรวจในช่วงต้นปี 2566
ข้อค้นพบจาก TSRS ที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือ การปิดสถานศึกษาในช่วงการะบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยดูได้จากผลเปรียบเทียบระดับความพร้อมฯ เฉลี่ยด้านวิชาการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลของกลุ่มเด็กที่เก็บในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่มีการปิดเรียนอย่างยาวนานมีระดับความพร้อมฯ ต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่เก็บในปี 2563 ซึ่งยังไม่มีผลกระทบจากโควิด
- เศรษฐานะ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
นอกจากนั้น ถึงแม้ช่วงปิดสถานศึกษาจะทำให้เด็กปฐมวัยอยู่กับครัวเรือนมากขึ้น แต่จากข้อมูล พบว่า ครอบครัวอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลง โดยจะเห็นได้จากค่าเฉลี่ยของจำนวนวันต่อสัปดาห์ที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กปฐมวัยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เปรียบเทียบกับก่อนการระบาดลดลงอย่างชัดเจนฃรวมถึง เด็กปฐมวัยจากครอบครัวที่ยากจนกว่ามีความพร้อมฯ ต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวฐานะดี
ขณะที่ ข้อมูลสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยที่สำรวจในปี 2563 (ปีการศึกษา 2562) เชื่อมโยงกับข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก กสศ. ผลการวิเคราะห์เชิงลึกชี้ว่า เด็กยากจนพิเศษมีระดับความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปประมาณร้อยละ 5.7 และร้อยละ 4.2 ของคะแนนเต็ม ในขณะที่เด็กยากจน มีระดับความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปประมาณร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.5 ของคะแนนเต็ม (ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 7.2 ของคะแนนเฉลี่ยแต่ละด้าน) ผลการวิเคราะห์ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความยากจนหรือความขัดสนมีผลต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนผลการทดสอบการอ่าน (Reading Test หรือ RT) ของ สพฐ. ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2564 (ปีการศึกษา 2563) ผลการวิเคราะห์เชิงลึกชี้ว่า เด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 มีแนวโน้มที่จะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านออกเสียงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.46 และร้อยละ 0.40 ของคะแนนเต็ม และ จะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านรู้เรื่องเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.28 และร้อยละ 0.23 ของคะแนนเต็ม
- บ้าน-ครอบครัวขาดทักษะและความเข้าใจอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
จากข้อมูลที่ดำเนินการสำรวจในช่วงที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
1) การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างมาก
2) ความยากจนมีผลทำให้เด็กปฐมวัยได้ไม่เต็มศักยภาพหรือไม่มีความพร้อมฯ เท่าที่ควร
3) บ้านหรือครอบครัวยังขาดทักษะและความเข้าใจในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
4) เครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness)
ภายใต้โครงการ TSRS เป็นเครื่องมือประเมินเด็กปฐมวัยที่เหมาะสมสำหรับการติดตามสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย
ด้าน ผศ.ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า ความท้าทายในช่วงโควิด-19 คือ จะปรับเปลี่ยนระบบการผลิตครูที่เน้นการใช้ห้องเรียนเป็นที่บ่มเพาะนักศึกษาร่วมกับการออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่โรงเรียนนั้นไม่เพียงพอต่อการสถานการณ์โลกที่ได้รับผลกระทบจนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ขณะนี้บริบทของโรงเรียนที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องความพร้อมของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ดังนั้นการพัฒนาครูประจำการให้มีความพร้อมในองค์ความรู้ ทักษะและคุณลักษณะของครูในศตวรรษที่ 21 เสมือนการติดอาวุธให้กับครูฝึกหัดที่อยู่ในระบบการผลิต และครูประจำการที่อยู่ในสถานศึกษาให้เป็นครูที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ฉลาดรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานเป็นทีมในชุมชนได้โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ