เปิดประสิทธิผลใช้จริง "วัคซีนโควิด"เข็ม 3,4,5 ต่อโอมิครอน
กรมควบคุมโรคเปิดประสิทธิผลวัคซีนโควิด19ใช้จริง เข็ม 3,4,5 ต่อโอมิครอน พบเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อ 71% ป่วยหนัก-เสียชีวิต 99% เข็ม 5 ป้องกันติดเชื้อ 83% ขณะที่สถาบันวัคซีนฯเผยวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ไทยเริ่มทำต่อโอมิครอน
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึง ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น เข็ม 3 และ4 จากการใช้จริงในประเทศไทย และอัปเดตข้อมูลสำหรับวัคซีนรุ่นใหม่ ในการเสวนาวิชาการ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom webinar) ว่า มีการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนตั้งแต่ช่วงสายพันธุ์เดลตา ประมาณปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเดลตา พบว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็มทุกสูตร เมื่อฉีดใหม่ๆจะป้องกันติดเชื้อเดลตาได้ 50% แต่เมื่อผ่านไปมากกว่า 90 วันจะเหลือ 40%
หาก 2 เข็มป้องกันติดเชื้อช่วงแรกๆได้เกือบ 80% ไปจนถึง 90% เมื่อเกิน 3 เดือนตกลงมานิดหน่อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ป้องกันได้ 80%
แต่หากฉีด 3 เข็มป้องกันการติดเชื้อได้ 90% และยังป้องกันได้เกิน 3 เดือนถึง 90% ภาพรวมคือ 3 เข็มป้องกันการติดเชื้อได้เกือบ 100%
ในยุคโอมิครอนระบาดช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ BA.1 และBA.2 เป็นหลัก แต่อย่างที่ทราบสายพันธุ์นี้จะดื้อต่อวัคซีนน้อยกว่า BA.4 /BA.5 ที่พบในตอนนี้ ซึ่งจากการติดตามข้อมูลการป้องกันการติดเชื้อ 1 โดส และ 2 โดส ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ แต่ 3 โดสมีประสิทธิภาพ หากกระตุ้นมากขึ้นก็จะป้องกันได้มากขึ้น
ส่วนป้องกันความรุนแรง 2 โดสป้องกันได้ 70% แต่เดลตาป้องกันได้ถึง 80% ดังนั้น หากจะป้องกันได้มากต้องกระตุ้น 3 โดสขึ้นไป
สำหรับโอมิครอน BA.1และBA.2 การป้องกันความรุนแรง กรณี 2 โดส ที่เป็นแอสตร้าและไฟเซอร์ได้ถึง 83% ส่วนซิโนแวค+ไฟเซอร์ 79%
ส่วนการฉีด 3 โดสส่วนใหญ่จะเป็นมิกซ์แอนแมกซ์กัน อย่างแอสตร้า 2 เข็ม+ ไฟเซอร์ ได้สูงถึง 85%
ซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตร้าได้ 94%
ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ได้ 100%
การป้องกันความรุนแรงในคนทำงาน และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ไม่แตกต่างกัน หากฉีด 3 โดส หรือ 4 โดส
พญ.ปิยนิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาจากผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนใช้จริงระดับประเทศ ช่วงการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือน ม.ค.- เม.ย.2565 มีการติดตาม 3 ล้านคน ซึ่งมีการแยกกลุ่ม 608 ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มี 450,193 คน
พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อช่วยหายใจ 70% และลดการเสียชีวิต 72%
ผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 6%**** ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 90% และลดการเสียชีวิต 91%
ผู้ที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 71% ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 99% และลดการเสียชีวิต 99%
และผู้ที่ฉีดวัคซีน 5 เข็มป้องกันการติดเชื้อ 83%
การฉีดวัคซีน 2 เข็มแบบไขว้ มีประสิทธิผลลดการป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจได้ 72-83% โดยสูงกว่าการฉีด 2 เข็มแบบคู่ทุกแพตฟอร์ม
หากฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4 จะเพิ่มประสิทธิผลลดการป่วยที่รุนแรงแบบใส่ท่อหายใจและลดการเสียชีวิตจาก 70% เป็น 90% และ99% ตามลำดับ โดยไม่ว่าจะฉีดกระตุ้นด้วย mRNA หรือ Viral Vector ประสิทธิผลไม่ต่างกัน
และหากฉีดเข็ม 4 เข็ม 5 จะป้องกันติดเชื้อ 71% และ83% ตามลำดับในช่วงการระบาดโอมิครอนปี 2565
"ประชาชนควรได้รับวัคซีนโควิด 3 เข็ม สูตรใดก็ได้เป็นพื้นฐาน เพื่อให้ปลอดภัยจากการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากโควิดมากกกว่า 90% ทั้งนี้ สูตร 2 เข็มแรกแบบไขว้และกระตุ้นเข็ม3ด้วยไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA มีประสิทธิผลสูงในช่วงโอมิครอน"พญ.ปิยนิตย์ กล่าว
ต่อคำถามการฉีดวัคซีนเข็ม 4ยังสามารถติดเชื้อได้ พญ.ปิยนิตย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 4 ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่ไม่ใช่ว่าติดทุกคน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนใหม่ๆ ช่วงแรกภูมิฯย่อมดี แต่เมื่อฉีดไปนานเกิน 4 เดือนภูมิคุ้มกันย่อมตก ดังนั้น จึงต้องมีการกระตุ้น โดยเฉพาะหากเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว ขอแนะนำหากครบ 4 เดือนขอไปกระตุ้นอีกครั้ง
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หากไม่มีข้อห้ามขอให้มาฉีด ขอให้มาฉีดเข็ม 3 จาก 45% ณ วันนี้ ต้องฉีดให้มากถึง 70% ให้ได้ อย่างมาเลเซีย ฉีด 3 เข็มไปถึง 70% แล้ว จึงขอให้ช่วยกันเชิญชวนคนอายุ 18 ปีขึ้นไปมาฉีดเข็ม 3 ส่วนอาการข้างเคียง หากเป็นโควิด มีอาการข้างเคียงหนักกว่าการฉีดวัคซีนอีก ยกเว้นมีข้อห้ามจริงๆ ซึ่งโอกาสเกิดข้างเคียงแม้จะมี แต่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม เข็ม 3 ไม่ว่าจะเป็น mRNA หรือไวรัลเวกเตอร์ ฉีดได้หมด
ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงวัคซีนโควิด19รุ่นใหม่ ว่า ขณะนี้มีการติดตามข้อมูลวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นใหม่ที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์โอมิครอน แต่องค์การอาหารและยาของอเมริกา( US FDA) ก็บอกว่า วัคซีนโอมิครอน ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เข้าไปในการทำ BA.1 ด้วย หมายความว่า ทำจนเสร็จแล้วผ่านไป 6 เดือนเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่มา ทาง US FDA ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ใหม่เข้าไปอีก ซึ่งหากเพิ่ม BA.4 และ BA.5 เข้าไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า ในอนาคตจะมีสายพันธุ์อะไรอีกหรือไม่ เพราะต่อจากโอมิครอน ก็ยังมีสายพันธุ์อื่นๆอีก จึงยังไม่มีจุดจบของตัวสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมามีการพัฒนาวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลตาแล้ว ปรากฏว่า มีสายพันธุ์อื่นอีก ซึ่งเป็นไปได้ว่า เมื่อพัฒนาสายพันธุ์ BA.1 แล้ว อาจไม่ได้ใช้ เพราะต้องมาเพิ่ม BA.4/BA.5 อีกก็ได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของโควิดที่ต้องวิ่งไล่ตาม
ในส่วนของประเทศไทย มีนักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนซึ่งมีเสนอขอพัฒนาสายพันธุ์โอมิครอน และสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ให้ทุนสนับสนุน ขณะนี้ทั้งชนิด mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือไบโอเทคที่พัฒนาตัวไวรัล เวคเตอร์ ก็มีการพัฒนาวัคซีนต้นแบบที่เป็นโอมิครอน BA.4 /BA.5 ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทันเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ แต่ต้องเตรียมไว้
“ขณะนี้นี้ต้องมีการจับตาดูว่า ต่างประเทศมีการพัฒนาอย่างไรด้วย ซึ่งขณะนี้ในส่วนสถาบันฯ ยังไม่ได้สั่งวัคซีนรุ่นใหม่ตรงนี้ เพราะประเทศต้นทางยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ แต่ขอย้ำว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่มีอยู่ในมือ ณ ขณะนี้ ใช้ได้จริง ไม่ต้องรอรุ่นใหม่ๆ” นพ.นคร กล่าว
พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคซีนจำนวนมากที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ทั้งเชื้อตาย ทั้งไวรัลเวคเตอร์ (Viral Vector) วัคซีน mRNA และวัคซีนโปรตีนซับยูนิต หรือในชื่อโคโวแวกซ์ ส่วนวัคซีนที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ขึ้น คือ สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 พัฒนาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลพื้นฐานมาจากการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม mRNA ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาลูกผสม รวมถึง โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน ตั้งแต่ตัวเดี่ยวๆ จนถึงสองตัวผสมกัน โดยมีการเสนองานวิจัยเฟส 3 ให้กับ US FDA เมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โปรตีนซับยูนิต อย่างโนโวแวกซ์ก็พัฒนาเช่นกัน ทั้งสไปรท์ของ BA.1 และของอู่ฮั่น แต่ยังเป็นงานวิจัยเฟส 3
พญ.สุเนตร กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนรุ่นใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ด้วยความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิตได้ แม้วัคซีนที่มีอยู่อาจไม่ดีที่สุดกรณี BA.4/BA.5 แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้ และทันเวลา เพราะตอนนี้กำลังระบาดอยู่ หากใครฉีดเข็มสุดท้ายห่างมาแล้วเกิน 4 เดือน ยิ่งมีโรคประจำตัวขอให้มาฉีดบูสเตอร์ เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นลดอัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตอย่างชัดเจน” พญ.สุเนตร กล่าว