"รักษ์ทะเล" ฟื้นฟูทะเลด้วยบ้านปะการัง นวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution
"รักษ์ทะเล" รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง นวัตกรรมจากCPAC 3D Printing Solution ของ เอสซีจี รวมกับทช. และคณะสัตวแพทย์จุฬาฯ ชู "นวัตปะการัง" ประติมากรรม แห่งเทคโนโลยี เพื่อชีวิต INNOVAREEF: Sculpture of Technology for Lives
"โลกใต้ทะเล" ดูจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่รบกวนธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรทางทะเลรวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง ซึ่งการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและปะการังนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างลึกซึ้งและการบริหารจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม จึงเกิดเป็นความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
โครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง นวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง “เอสซีจี” โดยบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จํากัด ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิ Earth Agenda พร้อม ภาคีสนับสนุน กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
โดยความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการขึ้นรูปปูนซีเมนต์จาก CPAC 3D Printing Solution ที่สามารถพิมพ์ขึ้นรูปวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง หรือบ้านปะการังได้ใกล้เคียงเสมือนจริง เน้นการออกแบบพัฒนานำโครงสร้างจากวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล
รวมถึงสามารถปรับแต่งรูปแบบลักษณะความซับซ้อนของช่องว่างแสงและเงาให้เข้ากับสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ ด้วยการพัฒนาคุณสมบัติโดยเฉพาะของหินปูนในเนื้อปูนซีเมนต์ให้มีความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับค่าของน้ำทะเล อันเป็นการช่วยย่นระยะเวลาที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ เพิ่มประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตสำหรับการปลูกถ่ายปะการัง และ ใช้ฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น พร้อมสามารถติดตั้ง ขนย้าย ได้สะดวก ง่าย โดยสามารถเพิ่มลูกเล่น การถอดประกอบชิ้นส่วนได้
- ตั้งเป้าฟื้นฟูพื้นที่ปะกํารังให้สมบูรณ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40
พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีทช.ทส. กล่าวว่า ระบบนิเวศทางทะเลมีขนาดใหญ่และซับซ้อนที่สุดในโลก กิจกรรมทางทะเลที่หลากหลายล้วนตั้งอยู่บนฐานของการใช้ทรัพยากรการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่กับการอนุรักษ์และการลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยระดับประเทศที่จะส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยตรง
ที่ผ่านมาทส.ได้ขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดการขยะซึ่งเป็นปัญหาสําคัญที่ทั่วโลกให้ความสําคัญ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องผลกระทบของขยะทะเล และ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ปีนี้ยังคงสานต่อ
นโยบายให้สอดคล้องกับแผนงานในปีที่ผ่านมาโดยในปีนี้มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูพื้นที่ปะกํารังให้สมบูรณ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 พร้อมเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มขึ้นปีละ1,000 ตารางกิโลเมตรและเพิ่มดัชนี คุณภาพมหาสมุทร (OceanHealthIndex)ให้มีค่ามากกว่า ร้อยละ75 ในปีนี้รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรเอกชนมูลนิธิสมาคม หรือชมรม เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง
- เอสซีจี พัฒนาCPAC 3DPrinting Solution ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล
ด้วยนโยบายดังกล่าว เป็นเหตผุลให้ ทช. ได้ร่วมมือ กับทุกภาคพันธมิตรในวันนี้จากการศึกษาและติดตามผลการดําเนินการจัดทําวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังนั้น เป็นผลสําเร็จ อย่างน่ายินดี โดยพบปะการังลงเกาะเฉลี่ยมากกว่า 40 โคโลนีต่อฐาน และยังมีสัตว์ทะเลและปลาเข้ามาอยู่อาศัยกว่า 70 ชนิด ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งยัง ช่วยเพิ่มทัศนียภาพที่ดีให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดำน้ำร่วมด้วย
นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ดําเนินการธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคํานึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล ตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ และมีความเป็นธรรม โปร่งใสทุกการดำเนินการ ที่ผ่านมาเอสซีจี ได้ดําเนินโครงการรักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานคร ในการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น การทําฝาย ชะลอน้ำ บ้านปลา การปลูกป่า หญ้าทะเลและป่าชายเลน ฯลฯ
“รักษ์ทะเล”เป็นโครงการที่เอสซีจีมุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนานวตักรรมมาปรับใช้นอกจากมาตรฐานการอยู่อาศัย ได้ต่อยอดการใช้นวัตกรรมจากCPAC 3DPrinting Solution มาใช้ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรของประเทศ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการดําเนินธุรกิจ ให้ความเคารพต่อธรรมชาติ และทุกชีวิตในท้องทะเลด้วยบ้านปะการัง ชูจุดเด่น ร่วมออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกในการขึ้นแบบจําลอง 3 มิติ รวมถึงพัฒนาสูตรปูน (Powder Extrusion) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง
- สัตวแพทย์ จุฬาฯยกนวัตปะการัง ดูแลสวนปะการังใต้ทะเล
ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองอธิการบดี ด้านการวางและกําหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลงานนวัตกรรมปะการังเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ด้วยการดึงเอาความโดดเด่น ของโครงสร้างและลักษณะพื้นผิวจากปะการังจริงในธรรมชาติ มาใช้ในการออกแบบนวัตปะการังที่มีความเสมือนจริง กลมกลืน และ สวยงาม
โดยใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ซีเมนต์แบบ 3 มิติ และพ่นเคลือบผิวภายนอกด้วยสารประกอบ Nano Calcium Phosphate Particles ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก ของสารอาหารตัวอ่อนปะการัง มีช่องสำหรับการติดตั้ง ต้นอ่อน หรือ กิ่งปะการังธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการขยายพันธุ์ให้เร็วขึ้น
รวมถึงการออกแบบที่เน้นให้สามารถเคลื่อนย้ายติดตั้งได้ง่าย มีน้ำหนักเบา แต่ไม่ต้านกระแสน้ำจากการทดสอบความสามารถการทนคลื่นใต้น้ำ ด้วยระบบ Hydrodynamic Testing System ที่ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAFDEC พบว่าเกิดกระแสน้ำวนขนาดเล็กบริเวณกิ่งตกแต่ง เกิดการหมุนเวียนของสารอาหารตามธรรมชาติ ช่วยส่งเสริมปะการังจริงเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มอัตราการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง
นวัตปะการังยังสามารถนำไปต่อยอด ได้อีกหลายรูปแบบ ได้แก่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับปะการังเทียมในอนาคตแนวปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยว ทดแทนแนวปะการังธรรมชาติ หรือ สวนปะการังใต้น้ำ (Marine Park) ที่สามารถใช้เป็น Smart Station ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมและสังเกตการณ์ปะการังฟอกขาวทางทะเล อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สําหรับการฝึกดําน้ำ “นวัตปะการัง ประติมากรรม แห่งเทคโนโลยี เพื่อชีวิต INNOVAREEF: Sculpture of Technology for Lives
ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันชื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda กล่าวว่า มูลนิธิจัดตั้งขึ้น จาก 3 หน่วยงานข้างต้น ด้วยเจตนารมณ์มุ่งการฟื้นฟูอนุรักษ์ให้ความรู้กับภาคประชาชนเพื่อลดผลกระทบความเสื่อมโทรม พร้อมสร้างความมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เครือข่ายนักดำน้ำ และผู้มีจิตอนุกรักษ์ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบใหม่ๆในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเล
เช่น โครงการจัดทําขาเต่าเทียม โครงการหญ้าทะเล และ นวัตปะการัง ประติมากรรม แห่งเทคโนโลยี เพื่อชีวิต INNOVAREEF: Sculpture of Technology for Lives” จึงเป็น “นวัตกรรมจุฬาฯ เพื่อสังคม Innovation for Society” อย่างแท้จริง
"โครงการรักษ์ทะเล ที่มูลนิธิเป็นตัวกลางในการเปิดขอรับการสนับสนุน การระดมทุน เพื่อผลิตและจัดวางบ้านปะการัง ได้ที่ www.lovethesea.net สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้เป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกใต้ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศหลักและแหล่งกำเนิดของหลากหลายชีวิต เราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักรู้เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย ด้วยความร่วมมือรวมพลังขับเคลื่อนไปด้วยกัน"ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว