“น้ำท่วมเกาหลี” คร่าชีวิตคนชนชั้นล่าง ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำแบบ “Parasite”
กรุงโซลของเกาหลีใต้ เผชิญกับฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านชั้นใต้ดินแบบ “Parasite”
สำนักข่าวยอนฮัป รายงานว่า เมื่อคืนวันจันทร์ (8 ส.ค.) เกิดฝนถล่มหนักทั่วกรุงโซล จนมีปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่เขตทงจัก มีปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 141.5 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักมากที่สุดในรอบ 80 ปีในกรุงโซล
ด้านสำนักอุตุนิยมวิทยา ออกแถลงการณ์เตือนชาวเกาหลีให้ระวังฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น 300 มิลลิเมตร ตลอดจนฟ้าร้องและฟ้าผ่า ทั่วพื้นที่ภาคกลางของประเทศ รวมถึงกรุงโซล ต่อไปอย่างน้อยจนถึงวันพุธนี้ (10 ส.ค.)
ขณะที่ การคมนาคมในเกาหลีใต้ยังคงหยุดชะงักอย่างต่อเนื่อง ถนนและอุโมงค์จำนวนมากถูกปิดด้วยเหตุผลความปลอดภัย อีกทั้งบริการรถไฟใต้ดิน และรถโดยสารปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากฝนตกอย่างหนัก รวมถึงมีรายงานไฟฟ้าดับทั่วกรุงโซล
น้ำท่วมย่านกังนัม
สำนักอุตุนิยมวิทยาของเกาหลี รายงานว่า เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา “เขตกังนัม” ย่านที่พักอาศัยของคนรวยในกรุงโซล มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ที่ 365.2 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ เมื่อเช้าวันอังคาร (9 ส.ค.) มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 7 ราย และสูญหายอีกอย่างน้อย 7 ราย ขณะที่โลกโซเชียลต่างพากันแชร์ภาพผู้คนกำลังเดินลุยน้ำที่สูงถึงระดับเอว น้ำท่วมสถานีรถไฟ และรถยนต์จมอยู่ในน้ำ
“ก็น่าตลกดี ที่ย่านกังนัม ถูกยกให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ และได้รับการพัฒนาอย่างดี แต่กลับอยู่ในภาวะเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ” พนักงานออฟฟิศวัย 45 ปีคนหนึ่ง เปิดเผยกับสำนักข่าว AFP ขณะที่พยายามกู้รถยนต์ของเขาในลานจอดรถที่ถูกน้ำท่วม
“ผมตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ต่างจากเมื่อ 11 ปีแล้วเลย ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการป้องกันอะไรให้ดีขึ้นเลย” เขากล่าวเสริม
ขณะที่พนักงานออฟฟิศอีกคนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Gardian ว่า “เมื่อคืนนี้ผมติดฝนอยู่ใกล้ ๆ กับสถานีกังนัม ฝนตกแรงมาก แล้วมีฟ้าผ่าทุกๆ 30 วินาที ตอนนั้นมันแย่มาก ถนน รถเมล์ สถานีรถไฟใต้ดินจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด ผมเลยตัดสินใจจองที่พักแถวนั้นทันที ผมไม่อยากติดแหง็กอยู่ตรงนี้”
สังเวยชีวิตคนชนชั้นล่าง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนกับชายคนดังกล่าว ตามรายการของสื่อท้องถิ่น พบผู้เสียชีวิต 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 13 ปี ในเขตกวานัก ทางตอนใต้ของกรุงโซล เนื่องจากจมน้ำในที่พักชั้นกึ่งใต้ดินที่เรียกว่า “พันจีฮา” ขณะที่ผู้หญิงอีกรายหนึ่งจมน้ำเสียชีวิตภายในบ้านพักที่เขตทงจัก
นอกจากนี้ ยังพบผู้เสียชีวิตอีก 2 รายในซากสถานีขนส่งที่ถล่มลงมาในเมืองกวางจู อีกทั้งตามรายงานของกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตขณะพยายามเก็บเศษยาง โดยเขาถูกไฟดูดจากสายไฟที่ชำรุดในน้ำท่วม
ด้านประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล ได้สั่งอพยพผู้อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงสูงและให้ธุรกิจต่างๆ ปรับเวลาทำงานของพนักงาน พร้อมโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าชีวิต และความปลอดภัย รัฐบาลจะจัดการกับสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างดีที่สุด”
ความเหลื่อมล้ำยังเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อฝนตกหนัก ที่พักอาศัยแบบพันจีฮาซึ่งเป็นบ้านกึ่งใต้ดิน ย่อมได้รับผลกระทบหนักไปด้วย ดังเช่นที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” ด้วยรูปแบบที่เป็นที่พักแบบกึ่งใต้ดินทำให้ระดับความสูงของพื้นที่นั้นอยู่ต่ำกว่าถนน พอฝนตกหนักย่อมทำให้น้ำไหลลงเข้าสู่ที่พัก
ทางเดียวที่ทำได้คือ ปิดหน้าต่าง และช่องลมต่างๆ เพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก ยิ่งฝนตกหนักน้ำยิ่งท่วม ทำให้ข้าวของลอยกระจัดกระจาย สิ่งปฏิกูลจากท่อระบายน้ำ และโถส้วมลอยละล่องขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้นหากเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วขึ้นมาด้วย หากไม่สามารถหนีออกมาได้ ก็แทบไม่มีโอกาสรอดชีวิตได้เลย ไม่จมน้ำตาย ก็โดนไฟดูดตาย
แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยง แต่คนชนชั้นล่างในสังคมไม่ได้มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากราคาที่พักอาศัยในกรุงโซลนั้นสูงมาก เห็นได้จาก เว็บไซต์ Statista แสดงค่าเฉลี่ยราคาที่อยู่อาศัยในโซลประจำปี 2564 อาทิ บ้าน ตึกแถว และอพาร์ทเมนท์มีราคาเฉลี่ยที่ 869 ล้านวอน หรือราว 23,560,000 บาท
แม้ว่าในปีหน้าเกาหลีใต้จะประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีก 5% เป็น 9,620 วอนต่อชั่วโมง (260 บาท) หรือประมาณเดือนละ 1.5 ล้านวอน (40,600 บาท) พบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในโซลสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำกว่า 579 เท่า และมีแนวโน้มว่าราคาที่อยู่จะสูงขึ้นอีกตามค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น (ค่าเงินวันที่ 9 ส.ค. 2565)
จากรายงานของธนาคาร Shinhan ที่ทำการสำรวจในหัวข้อการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์จากชาวเกาหลีจำนวน 10,000 คน ที่มีอายุ 20-64 ปี ดำเนินการสำรวจระหว่างเดือนก.ย. - ต.ค. ปีที่แล้ว พบว่า
ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนที่รวยที่สุด และจนที่สุดของเกาหลีใต้นั้นมีห่างขึ้นมากเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุสำคัญจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยชาวเกาหลีในกลุ่มรายได้ 20% แรกมีอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวมกว่า 1,200 ล้านวอน ซึ่งมากกว่า 251 เท่าของกลุ่มที่มารายได้ต่ำสุด 20% มีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพียง 4.9 ล้านวอนเท่านั้น
นอกจากนี้ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 20% แรกมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 9.48 ล้านวอน เพิ่มขึ้น 5.9% จากปี 2563 คิดเป็น 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดที่มีรายได้ต่อเดือนราว 1.81 ล้านวอน ซึ่งลดลงจากปี 2563 ที่มีรายได้ 1.83 ล้านวอน
รายงานระบุว่า คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีอายุ 20-30 ปี มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเฉลี่ย 160 ล้านวอน และต้องใช้เวลา 17 ปีในการชำระคืน หากพวกเขาต้องจ่ายค่างวดเดือนละ 800,000 วอน แก่ผู้ให้กู้
ที่มา: Korea Herald, Rueters, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์