“นรกโชซ็อน” เปิดปมความ “เหลื่อมล้ำ” ใน “เกาหลีใต้”
“เกาหลีใต้” หนึ่งในประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งในสี่ “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” และเป็นแถวหน้าของโลกในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม เหมือนว่าข้อดีข้างต้นนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคน “วัยหนุ่มสาว” จนเกิดเป็นภาวะ “นรกโชซ็อน” (Hell Joseon)
ขนาดเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2019 มีมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก ในขณะที่ปี 1999 มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ เท่ากับการเติบโตมากกว่า 200% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ถึงอย่างนั้น กลับเกิดกระแส “ย้ายประเทศ” ในหมู่คนหนุ่มสาวราว 75% ในเกาหลีใต้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เกาหลีใต้ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งดูจะสวนทางกับสถิติตัวเลขทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ตามที่ได้โชว์ไปในข้างต้น
คำถามที่น่าสนใจ คือ เพราะเหตุใดการเติบโตของเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ถึงไม่สามารถมอบชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องการให้กับคนเกาหลีใต้ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวได้
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงจะพาไปสำรวจ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เกิดขึ้นพร้อมการเติบโตของเกาหลีใต้ ซึ่งกดดันคนวัยหนุ่มสาวจนเกิดเป็นภาวะ “นรกโชซ็อน” (Hell Joseon)
อ่านข่าว : ส่องสูตรซีรีส์เกาหลีบน "Netflix" อยากปังระดับโลกแบบ "Squid Game" ทำอย่างไร?
การก้าวขึ้นมาของเศรษฐกิจเกาหลีใต้
ย้อนกลับช่วงวิกฤติน้ำมันในต้นทศวรรษ 1970 ประเทศญี่ปุ่นพึ่งพิงอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ทำให้ประสบปัญหาการนำเข้าพลังงานที่มีราคาแพงขึ้นเป็นอย่างมาก ทางออกที่เกิดขึ้นในเวลานั้นจึงเป็นการพยายามนำเอาอุตสาหกรรมประเทศดังกล่าวออกนอกประเทศ เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศปลายทางที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น คือ ประเทศใน กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Economies: NIEs) ซึ่ง “เกาหลีใต้” คือหนึ่งในประเทศ NIEs เวลานั้น
สถานการณดังกล่าวมีผลให้อุตสาหกรรมหนักในเกาหลีใต้พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตามหลังญี่ปุ่นไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม กลับมีผู้ได้รับประโยชน์เพียงบางกลุ่ม นั่นคือ นายทุนจำนวนหนึ่งผู้ที่เป็นหัวจักรสานผลประโยชน์ หรือที่เรียกกันว่า กลุ่ม “แชบอล” (재벌) ซึ่งมีความหมายว่า สมาคมผู้มีฐานะมั่งคั่ง
หลังจากนั้น เกาหลีใต้ก็ได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนเรื่อยมา มีการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างอุตสาหกรรม จากที่เน้นอุตสาหรรมหนัก เปลี่ยนเป็นเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงแทน ปัจจุบันเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศนวัตกรรมอันดับ 2 ของโลก และถือเป็นประเทศแนวหน้าของฐานผลิตสินค้าเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไปแบบใด แต่ผู้นำทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นกลุ่มแชบอลเช่นเดิม
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 เว็บไซต์ statista ได้เก็บข้อมูล มูลค่าตามราคาตลาดหลักทรัพย์ หรือ Market Cap. ของบริษัทต่างๆในเกาหลีใต้ พบว่า บริษัทกลุ่มแชบอล อาทิ ซัมซุง ฮุนได แอลจี เป็นต้น กินส่วนแบ่งไปถึง 77% ของมูลค่าทั้งหมด
ความเหลื่อมล้ำภายใต้การเติบโต
ข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตแบบกระจุกตัว ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตกไปอยู่ในกลุ่มแชบอลตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทำให้เกิดแนวโน้มหนึ่งขึ้นในสังคมเกาหลีใต้ปัจจุบัน คือ คนวัยหนุ่มสาวเริ่มยอมแพ้ในเรื่องต่างๆ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะสู้อย่างไร ก็ไม่สามารถไขว่คว้าชีวิตที่ปรารถนาได้
มีศัพท์ที่ใช้เฉพาะกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “เอ็นโพเจเนอเรชั่น” (N-po Generation) โดย N เป็นสัญลักษณ์แทน จำนวนที่มากมายไม่สิ้นสุด (Infinity) และ po เป็นคำในภาษาเกาหลีที่หมายถึง การยอมแพ้ รวมแล้วจึงหมายถึง การยอมแพ้ในทุกๆ เรื่อง และหากจะถามถึงที่มาของการยอมแพ้ของหนุ่มสาวเกาหลีใต้ คงต้องกลับไปตั้งต้นว่า ช่วงอายุที่ผ่านมาพวกเขาต้องต่อสู้กันมาอย่างไร
ต้นตอของความหมดหวังสู่กระแส “นรกโชซ็อน”
ประสบการณ์ที่คนหนุ่มสาวต้องเจอมาตั้งแต่วัยเยาว์ คือ การต่อสู้ทางการศึกษา พวกเขาต้องเรียนอย่างหนัก นักเรียนมัธยมปลายบางคนต้องใช้เวลาไปกับการเรียนถึง 14 ชั่วโมง
เหตุผลเบื้องหลัง คือ การเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถขยับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจได้ ซึ่งพวกเขาต้องสอบ “ซูนึง” (수능) หรือการทดสอบความสามารถด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่จัดสอบเพียง 1 ครั้งต่อปี โดยต้องทำคะแนนที่สูงพอให้ตัวเองสามารถเข้าไปในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับ
อย่างไรก็ดี การต่อสู้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย พวกเขายังจำเป็นต้องเรียนอย่างหนักให้จบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยที่ดี เพื่อให้สามารถเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำ ที่เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทกลุ่มแชบอล
ข้อมูลจากกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (Ministry of SMEs and Startups) เกาหลีใต้ พบว่า บริษัทใหญ่มีสัดส่วนเพียง 1% และจ้างงานคิดรวมแล้วอยู่ที่ 17% ของการจ้างงานทั้งหมด ทำให้การเข้าทำงานในบริษัทเหล่านี้มีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก
ถึงกระนั้นต่อให้ทำสำเร็จ แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ในโซลที่สูงลิ่วก็ได้กดดันให้พวกเขาต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขามีเงินเก็บมากพอที่จะสามารถซื้อบ้านหรืออพาร์ทเมนต์ในกรุงโซลได้
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเว็บไซต์ Statista แสดงค่าเฉลี่ยราคาที่อยู่อาศัยในโซล อาทิ บ้าน ตึกแถว และอพาร์ทเมนต์ อยู่ที่ 869 ล้านวอน และจากค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดของเกาหลีใต้ที่ 8,720 วอนต่อชั่วโมง หรือประมาณเดือนละ 1.4 ล้านวอน พบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในโซลสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำกว่า 620 เท่า จึงเป็นเรื่องยากมากที่คนหนุ่มสาววัยเริ่มทำงานจะสามารถซื้อบ้านหรืออพาร์ทเมนต์ในโซลได้
ในปี 2019 ซีรีส์เกาหลี เรื่อง “Stranger From Hell” ก็ได้มีสอดแทรกปัญหาเรื่องที่พักอาศัยราคาแพงในโซล จนเป็นเหตุให้ตัวเอกของเรื่องต้องตัดสินใจไปอยู่ในที่พักความปลอดภัยต่ำแต่ราคาถูก และแม้จะเจอเรื่องแปลกประหลาดตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่ แต่ก็ยังต้องจำทนเพื่อให้สามารถอยู่ในโซลด้วยต้นทุนที่ต่ำต่อไปได้
ในปีเดียวกันนั้น ภาพยนต์รางวัลออสการ์ “Parasite” ก็ได้ตีแผ่การใช้ชีวิตของคนที่มีรายได้ต่ำในเกาหลีใต้ การต้องอาศัยอยู่บ้านกึ่งใต้ดิน หรือที่เรียกกันว่า “พันจีฮา” เพราะมีราคาถูก แต่คุณภาพชีวิตก็ต่ำตามราคา ซึ่งบ่มเพาะให้เกิดเป็นปัญหาสังคมในเกาหลีใต้
เงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อไขว่คว้าชีวิตที่พวกเขาต้องการ แม้ว่าพวกเขาจะเจอกับความยากลำบากและความกดดันมามากมาย สุดท้ายเลยเกิดเป็นกระแส “นรกโชซ็อน” ที่เริ่มต้นราวปี 2015
คำนี้สื่อถึง โชซ็อนหรือราชวงค์สุดท้ายของเกาหลี ยุคสมัยซึ่งเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม การใช้คำดังกล่าวจึงแสดงถึงการดำเนินชีวิตในเกาหลีใต้ที่ไม่ต่างอะไรกับนรก และยังสื่อถึงความก้าวถอยหลังของประเทศอีกด้วย สอดคล้องกับผลสำรวจ พบว่า 75% ของประชากรเกาหลีใต้ที่มีอายุ 19-34 ปี ต้องการที่จะย้ายออกจากประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ความเคลื่อนไหวของกระแส “นรกโซช็อน” เริ่มเจือจางลงซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่นำโดยนายกฯ มุน แจอิน ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ และมีความคาดหวังจากประชาชนว่าจะสามารถปฏิรูปกลุ่มแชบอลได้
ถึงกระนั้น ความเหลื่อมล้ำนี้ยังคงดำเนินอยู่ และนรกสำหรับหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ที่ว่าก็ยังไม่ได้หายไปแต่อย่างใด
อ้างอิง
พีรเดช ชูเกียรติขจร และ นลิตรา ไทยประเสริฐ
ย้อนดูปรากฎการณ์ Hell Joseon - The MATTER
International Innovation Index