“Squid Game” สะท้อน Soft Power เสริมแกร่งเศรษฐกิจ “เกาหลีใต้”

“Squid Game” สะท้อน Soft Power เสริมแกร่งเศรษฐกิจ “เกาหลีใต้”

“Squid Game” ซีรีส์สุดฮิต สัญชาติ “เกาหลีใต้” อีกหนึ่งคอนเทนท์เสริมความแข็งแกร่ง “คลื่นเกาหลี” ที่สร้างเม็ดเงินกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ให้เกาหลีใต้ไปต่อได้ แม้จะเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม 

“Squid Game” เล่นลุ้นตาย ซีรีส์ที่กำลังฉายผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง Netflix และได้รับความนิยมไปทั่วโลกในปัจจุบัน มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการลงเล่นเกมเด็กๆ ที่กติกาง่ายสุดๆ แถมมีรางวัลมูลค่ามหาศาลรออยู่ ทว่าต้องแลกด้วยชีวิต หากว่าผู้เล่นรายนั้นๆ ตกรอบ

จากความปังของซีรีส์ดังกล่าว ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของยอดการรับชมถล่มทลาย ขึ้นอันดับหนึ่งในหลายประเทศ และถูกพูดถึง เป็นกระแสสังคมในหลายๆ มิติ จนถือเป็นอีกครั้งสำคัญที่ดันให้ “คลื่นเกาหลี” (Korean wave) ทรงพลังมากยิ่งขึ้น 

หลังจากวง BTS และ Blackpink รวมถึงภาพยนตร์ Parasite ได้สร้างประวัติศาสตร์ในสังคมโลกในช่วงรอบปีที่ผ่านมา เพราะผู้คนที่รับชมคอนเทนท์เหล่านี้ต่างก็ต้องซึบซับกับวัฒนธรรมเกาหลีอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากการทำให้คนจำนวนมากรู้จักเกาหลีใต้ในแผนที่โลก แต่ Soft Power ในนามคลื่นเกาหลี ยังสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่น่าพึงพอใจให้กับเกาหลีใต้ แม้จะต้องเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

  •   ความนิยม “คลื่นเกาหลี” ที่เพิ่มขึ้นในสังคมโลก  

คลื่นเกาหลี เกิดจากการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีไปยังต่างประเทศ ผ่านคอนเทนท์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ เพลง ซีรี่ส์ หนัง หรือรูปแบบอื่นที่มีการสอดแทรกวัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งถูกเรียกรวมเป็นอุตสาหกรรมคอนเทนท์ (Content Industry) 

ตัวอย่างเช่น ซีรีส์ Squid Game ที่มีการสอดแทรกเกมพื้นบ้านของคนเกาหลี โดยเมื่อเร็วนี้ๆ ทาง Netflix ประเทศฝรั่งเศส ได้จัดคาเฟ่ Squid Game ที่กรุงปารีส โดยแฟนซีรีส์สามารถเข้ามาเล่นเกมแกะน้ำตาล (เกมในซีรีส์) ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

“Squid Game” สะท้อน Soft Power เสริมแกร่งเศรษฐกิจ “เกาหลีใต้” ที่มา: Netflix France (@NetflixFR)

นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีใต้ในกรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้ตอบสนองกระแสด้วยการจัดการแข่งขัน Squid Game ของจริง แต่ไม่มีเงินรางวัลและไม่มีการเสี่ยงอันตรายแต่อย่างใด ซึ่งมีการเปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน และจะแข่งขันในวันงานที่ 12 ตุลาคมนี้

“Squid Game” สะท้อน Soft Power เสริมแกร่งเศรษฐกิจ “เกาหลีใต้” ที่มา: Netflix

อย่างไรก็ตาม คลื่นเกาหลีได้พึ่งมาโดดเด่นในสังคมโลกจาก Squid Game โดยในปีที่ผ่านมา “Parasite” ได้สร้างประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่สามารถคว้า รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และอีก 3 รางวัล อย่างผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จากเวทีออสการ์ครั้งที่ 92 (ปี 2020) ซึ่งกระแส K-POP ก็รุ่งเรืองในเวทีโลกไม่แพ้กัน อย่าง บอยกรุ๊ป “BTS” ที่สร้างประวัติศาสตร์ส่งผลงานขึ้นติดอันดับ 1 Hot 100 Billboard ถึง 4 เพลง และคว้า 4 รางวัลจากเวทีระดับโลก Billboard Music Awards 2021 

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความนิยมคลื่นเกาหลีในระดับโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ความนิยมที่เกิดกับซีรี่ย์ หนัง หรือเพลง ไม่เพียงแต่จะเป็นความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังทำให้การสร้าง Soft Power ในสังคมโลกของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอีกด้วย 

 

  •   ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก “คลื่นเกาหลี”  

แม้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ก็ต้องพบเจอกับการหดตัวทางเศรษฐกิจจากการวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ต่างจากประเทศอื่นทั่วโลก แต่จากข้อมูลในเว็บไซต์ The Straits Times พบว่า ในปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีการส่งออกคอนเทนต์ มูลค่าทั้งหมดรวม 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 กว่า 610 ล้านดอลาร์ หรือประมาณ 6% โดยทาง Netflix มีส่วนสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้ถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นอุตสาหกรรมคอนเทนท์ของเกาหลีใต้สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติฯ ครั้งนี้ไปได้ 

นอกจากนั้น ผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกคอนเทนท์ ยังมาในรูปของสินค้าและบริการที่มีอยู่หรือแฝงมาในคอนเทนท์ ซึ่งสร้างผลประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น 

  • การส่งออกสินค้า

ข้อมูลจาก Yonhap News Agency ระบุว่า ในปี 2019 เกาหลีใต้ส่งออกสินค้าวัฒนธรรม อาทิ เกมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมทัวร์ และเครื่องสำอาง มูลค่ารวม 1.23 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงขึ้นกว่า 22.4% จากปีก่อนหน้า 

  • การท่องเที่ยว

แม้ในปัจจุบัน การไปเที่ยวต่างประเทศยังไม่อาจทำได้อย่างสะดวกมากนัก แต่จากการเปิดเผยข้อมูลก่อนช่วงวิกฤติฯ มีการประเมินว่า 13% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของเกาหลีใต้ในปี 2019 เข้ามาด้วยจุดประสงค์เพื่อสัมผัสประสบการณ์ Pop culture และเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นสำหรับแฟนคลับเหล่านักแสดงหรือศิลปินเกาหลี โดยมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ รวมแล้วสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ 

  •  การสร้างงาน 

เนื่องจากความนิยมของเกาหลีได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องคนสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานนั้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากปี 2009 ถึง 2019 จำนวนคนทำงานด้าน Creative และ Artist service เพิ่มขึ้น 27% และจากการเปิดเผยโดย Netflix ระบุว่า ช่วงปี 2016 ถึง 2020 มีการจ้างพนังงานประจำถึง 16,000 ตำแหน่ง โดยคาดว่าได้สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์  

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมคอนเทนท์จะเติบโตและสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้ในมูลค่ามหาศาล แต่จากช่วงวิกฤติฯ ที่เกิดขึ้นก็ได้ส่งผลกระทบให้การเติบโตของมูลค่าไม่สามารถทำได้ในลักษณะเช่นเดิม อาทิ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะหายไป การจัดคอนเสิร์ตหรืองาน Fan Meeting ที่ต้องจัดการเปลี่ยนรูปแบบ 

ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ได้ทำให้มูลค่าของคลื่นเกาหลีลดลงไป แต่การมีกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นจากซีรีส์ Squid Game หรือคอนเทนท์อื่นๆ ก็จะเป็นตัวช่วยหล่อเลี้ยงให้ความนิยมและมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบนี้ยังคงอยู่ต่อไปได้   


 

อ้างอิง

กรุงอาบูดาบี เตรียมจัดแข่ง 'Squid Game' ของจริง - ข่าวสด 

เรื่องย่อ Squid Game สควิดเกม เล่นลุ้นตาย - Sanook 

ออสการ์ 2020 : Parasite กวาด 4 รางวัลใหญ่ - BBC (TH)

BTS สร้างประวัติศาสตร์ใหม่! กวาด 4 รางวัลระดับโลก - Elle Magazine (TH) 

Export of Korean culture products soar 22.4 pct last year - Yonhap News Agency 

Squid Game takes South Korean Soft Power up a notch, good for economy too - The Straits Times 

Total export value of the content industry in South Korea from 2014 to 2019 - Statista