โรงเรียนพ่อแม่ เพื่อลูกรัก "สุขภาพดี สมองดี อารมณ์ดี มีความสุข"
งานวิจัยในต่างประเทศ ยืนยันว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด เพราะจะได้ผลตอบแทนกลับมา6.7-17.6เท่าของเงินที่ลงทุน หรือประมาณร้อยละ 7-10 ต่อปีการลงทุนเพื่อเด็กตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ยิ่งให้ผลคุ้มค่า
"ช่วงปฐมวัย" เป็นช่วงเวลาของการสร้างรากฐานชีวิตทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญาอารมณ์และสังคม ที่สำคัญสมองของมนุษย์มีกระบวนการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สมองจะเติบโตถึง ร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่ ตั้งแต่ขณะเป็นทารกในครรภ์จนถึงอายุประมาณ 3 ปี
หากเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม จะเกิดผลกระทบต่อการสร้างเส้นใยประสาท ทำให้สมองพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลให้ศักยภาพการเรียนรู้ลดลง
กลุ่มอนามัยแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ คู่มือ โรงเรียน พ่อแม่ เพื่อลูกรัก “สุขภาพดี สมองดี อารมณ์ดี มีความสุข” เพื่อเป็นการให้ความรู้ ฝึกทักษะพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กที่มารับบริการ ณ สถานบริการทุกระดับตั้งแต่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำ บล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลประจำ จังหวัด โดยแบ่งบริการตามช่วงวัยของเด็กที่เข้ามารับบริการและการสอน ฝึกทักษะเด็กที่เข้ารับบริการ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ว่ากันว่า การส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตมีสุขภาพที่ดีรวมถึงมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยสามารถดำรงชีวิต อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสันติสุขนั้น ครอบครัวเป็นสิ่งแวดล้อมแรกที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างการเรียนรู้ และเป็นแบบอย่างให้กับเด็กซึ่งถ้าครอบครัวสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ทำไม "พ่อ-แม่"ต้องเข้าโรงเรียน
กว่าจะเป็นคุณแม่ ต้องผ่านอะไรบ้าง?... ถึงจะมีลูก
"วันแม่" บอกรักแม่ ต้นแบบในชีวิต 7 ซุปตาร์ บางเรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้
"วันแม่" ดอกมะลิปรับราคากิโลฯละ 1,000 บาท ร้านดอกไม้สั่งซื้อดอกพุดตูมแทน
แชร์พิกัด 10 งานชิล พา “แม่” เดินชม-ช้อป-ชิม สร้างความประทับใจวันแม่
- ทำไม? ต้องมีโรงเรียนพ่อแม่
ฉะนั้น ปัจจัยด้านพื้นฐานของครอบครัวและรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญ เติบโต ภาวะสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก โดยผ่านกระบวนการอบรมเลี้ยงดูของผู้เลี้ยงดูเด็ก การพัฒนาความรู้ทักษะในการเลี้ยงดูเด็กให้กับ พ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก จึงมีความสำคัญยิ่ง โรงเรียน พ่อ แม่เพื่อลูกรัก “สุขภาพดีสมองดีอารมณ์ดีมีความสุข” จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะส่งเสริมพัฒนาการและ ศักยภาพตามช่วงวัยของเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสม
ดร.จินตนา พัฒนพงศ์ธร ข้าราชการบำนาญ กรมอนามัย เล่าว่าโดยหลักการจัดกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจะใช้กระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ระหว่างผู้ให้ความรู้กับผู้รับความรู้หรือ ผู้รับความรู้ด้วยกัน
โดยการทบทวนความรู้เดิม เชื่อมโยงความรู้ใหม่ด้วยการตั้งคำถาม การเล่าประสบการณ์การสรุปเนื้อหาจากการเรียนรู้จากวิดิทัศน์ฯลฯ ดำเนินการสอน กระตุ้นเร้า(Engage) และใช้สถานการณ์จริงหรือจำลองเชื่อมโยงสู่เนื้อหาด้วยการตั้งคำถามให้คิด หรือคาดเดา ลงมือปฏิบัติ(Perform) ฝึกปฏิบัติซํ้าๆ (Use) ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ท้ายสุดสรุป (PACK)ความคิดรวบยอด(Concept) นอกจากนี้การสอนเด็กปฐมวัยแบบลงมือทำ ตามแนวคิดไฮสโคป (High/Scope)
ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ เริ่มด้วย
- เปิดประเด็นการสอนโดยมีการทดสอบความรู้ความเข้าใจ ง่ายๆ
- ใช้ภาษาสื่อสารที่เข้าใจง่าย เข้าถึง หลีกเลี่ยงศัพท์เฉพาะที่เข้าใจยาก
- เรียนรู้จากการปฏิบัติของจริง สถานการณ์จริง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึงจดจำและทำได้
- ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เปลี่ยนวิธีการถ่ายโอนความรู้เน้นการมีส่วนร่วม
- สื่อ อุปกรณ์บรรยากาศ สถานที่ ที่เหมาะสม
- การสรุปเพื่อช่วยขมวดความรู้ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
- เรียนรู้แบบลงมือทำ เล่นหลากหลาย
ขณะที่ การเรียนของเด็กโดยใช้โปรแกรมไฮสโคปเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ ผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กและการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้นผ่านกระบวนการดังนี้
การเรียนรู้แบบแบบลงมือกระทำ (Active Learning) ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการพัฒนาเด็กโดยมีองค์ประกอบของการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ คือ
1 .จัดเตรียมอุปกรณ์สื่อ (Materials) ควรมีการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย เพียงพอและเหมาะสมกับระดับอายุของเด็ก เด็กต้องมีโอกาสและมีเวลา เพียงพอที่จะเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระเมื่อเด็กใช้เครื่องมือ หรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เด็กจะมีโอกาสเชื่อมโยง การกระทำต่างๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์และมีโอกาสในการแก้ปัญหามากขึ้นด้วย
2. ให้เด็กได้สัมผัส (Manipulation) จุดเน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ประสาทสัมผัสทั้งกายและใจ การให้เด็กได้สำรวจและจัดทำกับวัตถุโดยตรงทำให้เด็กรู้จักวัตถุ หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับวัตถุแล้วเด็กจะนำวัตถุต่างๆ มาเกี่ยวข้องกันและเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์
3.ให้เด็กได้เลือก (Choice) จุดเริ่มการสอนที่เด็กเป็นผู้เลือก เด็กจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจากความสนใจ และความตั้งใจของตนเอง เด็กเลือกวัสดุอุปกรณ์และตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์นั้นอย่างไรการที่เด็ก มีโอกาสเลือก และตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์นั้นอย่างไร
4.ให้เด็กได้คิด พูด (Child language & thought) กล้าคิด กล้าพูด ได้อธิบายว่าตนกำลังทำอะไร และ เข้าใจอย่างไรมีโอกาสพูดสื่อสารและด้วยภาษาท่าทางขณะคิดเกี่ยวกับการกระทำ และขายความคิด ของตนเพื่อรับรู้ สิ่งใหม่
5. ผู้ใหญ่สนับสนุน (Adult scaffolding)การที่ผู้ใหญ่สนับสนุนการคิดและท้าทายกระตุ้นให้เด็กพยายาม และช่วยเด็กขยายหรือสร้างงานของตนโดยการพูดกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกำลังร่วมกันในการเล่นและช่วยให้เด็กเรียน รู้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
- พ่อแม่ควรใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูก
"ครูหวาน- ธิดา พิทักษ์สินสุข" อุปนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า เด็กปฐมวัยจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะสมอง Executive Function (EF ) หรือการพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ซึ่งพ่อแม่คือคนที่สร้างและพัฒนาทักษะ EF ได้มากที่สุดในช่วง 0-8 ปี คือสอนให้ลูกคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น ซึ่งเด็กปฐมวัยจะสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากพ่อแม่มากกว่าจากในโรงเรียน
ดังนั้น พ่อแม่ควรใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับลูก ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นกีฬา ทำอาหาร เป็นต้น การเรียนรู้จากการได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายฝึกให้ลูกรู้จักกล้าแสดงออก คิดเป็น ทำเป็น และรู้จักการแก้ปัญหา รวมถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย พ่อแม่ควรให้อิสระในการเล่น ปล่อยให้ลูกได้เลือกเล่น กำหนดรูปแบบและสิ่งที่จะเล่นด้วยตัวเอง โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้กำหนดกฎ กติกา ในการเล่น
- สิ่งสำคัญที่เด็กปฐมวัยควรได้รับ
พ่อแม่ช่วยฝึกความเป็นผู้นำและรู้จักรักษากฎเกณฑ์ ฝึกให้เด็กรับผิดชอบและช่วยเหลือตนเอง เรียนรู้ถูกผิดเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น ติดกระดุมเสื้อด้วยตนเอง สวมรองเท้า และเพิ่มความยากของกิจกรรมไปทีละนิดตามวัย เพื่อท้าทายให้ลูกได้คิดและได้ลงมือทำเล่านิทาน ช่วยพัฒนาสมอง ความคิด ความจำ และเสริมสร้างจินตนาการการเล่าเรื่องเป็นการฝึกลูกให้คิดอย่างเป็นระบบ
ครูหวาน เล่าต่อว่า สิ่งที่สำคัญของเด็กปฐมวัยมากที่สุดคือ การที่มีพ่อแม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะแม่ที่ควรจะต้องเลี้ยงลูกด้วยตนเองมากที่สุดใน 3 ขวบปีแรกเพราะเป็นฐานของการเติบโตควรสอนเด็กเล็กๆให้สามารถดูแลตัวเองช่วงอนุบาล 4-6 ขวบต้องสอนให้ดูสิ่งของรอบตัว เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน ทิ้งขยะเองเป็น
ต่อมาระดับประถมเขาต้องช่วยดูแลบ้านได้ เช่น การล้างจาน ซักผ้า และเริ่มขยายสู่สาธารณะได้ เช่น รู้จักเข้าคิว ไม่ทิ้งขยะบนถนน แยกขยะ ฯลฯ เป็นพื้นฐานพลเมืองดีของประเทศโลกควรสอนลูกให้ทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อเขาออกไปสู่สังคม เขาจะรู้ว่าควรจะปฏิบัติตามกติกาสาธารณะอย่างไร
- เพิ่มทักษะEF พัฒนาสมองส่วนหน้าเด็ก
“เด็กปฐมวัย” เป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาได้สูงที่สุด โดยเฉพาะทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เรียกว่า Executive Function หรือ EF โดยมีอัตราการพัฒนาสูงกว่าทุกช่วงวัยในช่วง 3-6 ปี เพราะฉะนั้นสมองที่กำลังพัฒนาได้ดีก็เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปตลอดชีวิตมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยทักษะ 9 ด้านได้แก่
- Working memory ความจำเพื่อใช้งาน
- Inhibitory Control การยั้งคิด ยับยั้งชั่งใจ
- ShiftหรือCognitive Flexibility การยืดหยุ่นความคิด
- Focus / Attention การใส่ใจจดจ่อมุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง
- Emotional Control การควบคุมอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- Planning and Organizing การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย
- Self -Monitoring การรู้จักประเมินตนเอง
- Initiating การริเริ่มและลงมือทำงานตามที่คิด
- Goal-Directed Persistence ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย
"การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย คือการเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือทำ การกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อไปกระตุ้นสมอง เป็นช่วงวัยที่ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาสูงมาก ดังนั้นโรงเรียนควรยกเลิกการเร่งเรียน เขียน อ่าน เพราะเป็นภาวะที่กดดัน ไม่เฉพาะด้านจิตใจเท่านั้น สมองของเด็กเมื่ออยู่กับความเครียดระยะยาว สมองจะถูกทำลาย ควรสอนทักษะที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมอง และเตรียมความพร้อมผ่านการเล่นและทำกิจกรรม ไปจนถึงวัยรอยต่อประถมศึกษา 0-8 ปี จะช่วยให้เด็กมีทักษะ EF และเรียนรู้ได้ดีขึ้น"ครูหวาน กล่าว
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนพ่อแม่ ไม่ได้เริ่มในช่วงวัยปฐมวัยเท่านั้น แต่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ โดยในหลายๆ หน่วยงาน ได้มีการจัดทำโรงเรียนพ่อแม่ เพื่อการตั้งครรภ์คุณภาพ เพราะการจะให้เด็กคนหนึ่งเติบโตสมบูรณ์ พร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญาและอารมณ์
ต้องเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ตั้งแต่ คุณแม่ตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ รับประทานอาหารเพื่อลูกน้อยในครรภ์ การส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก การสอนลูก การเล่นกับลูก จนกระทั่งลูกเข้าโรงเรียนและพร้อมเสริมสร้างพัฒนาการ ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กให้ครบทุกด้านไปพร้อมกับโรงเรียน
“พ่อแม่” เป็นเสมือนครูคนแรก บ้านหลังแรก โรงเรียนแห่งแรกในการเลี้ยงลูกของเด็ก พ่อแม่จึงไม่ได้มีหน้าที่เพียงเลี้ยงดู ทำงานหาเงินส่งเสียพวกเขาเรียนหนังสือเท่านั้น แต่ต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจและรับฟัง ส่งเสริมพัฒนาการของพวกเขาในทุกด้านให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย