ชงยกเลิกระบบHospitel - Hotel Isolation ดูแลโควิด-19
สบส.เตรียมยกเลิกระบบรักษา Hospitel และ Hotel Isolation ดูแลโควิด-19 รอชงรมว.สธ.ออกประกาศ คาดเริ่ม 1 ก.ย.65 ปรับระบบหลังพ้นการระบาดใหญ่ ระบุมีระบบผู้ป่วยนอก-HIรองรับผู้ติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงการยกเลิกระบบการรักษา Hospitel และ Hotel Isolation ว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19พ้นจากการระบาดใหญ่ จึงมีการพิจารณายกเลิกระบบ Hospitel และ Hotel Isolation เบื้องต้นคาดว่าจะยกเลิกวันที่ 1 ก.ย.2565 ซึ่งกำลังดำเนินการและเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ต่อไป
“ได้มีการสำรวจเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.2565 พบว่า Hospitel เหลืออยู่ 11 แห่งจากช่วงแรกๆ มี 79 แห่ง และขณะนี้เหลือเตียงอยู่ 3,220 เตียง ส่วน Hotel Isolation เหลือ 6 แห่ง จากช่วงแรกๆ 31 แห่ง และเหลือเตียงอยู่ 1,500 เตียง ซึ่งเห็นว่า Supply ลดลง และขณะนี้ยังมีระบบการรักษาแบบ OPSI หรือผู้ป่วยนอก และระบบการรักษาแบบ Home Isolation หรือ HI มารองรับ”นพ.ธเรศกล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และโฆษก สปสช. กล่าวว่า สปสช.มีระบบรองรับผู้ติดโควิดที่ประสานเข้ามาเพื่อขอรับบริการรักษา นอกเหนือจากการเดินทางไปยังสถานพยาบาลเองเพื่อรับบริการแบบผู้ป่วยนอก โดยสปสช.มีทั้งสายด่วน 1330 และมีระบบ Teleheath/Telemedicine ซึ่งร่วมกับผู้ให้บริการ 3 บริษัท ทั้ง บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน และ ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) รวมถึง บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น คลิกนิก (Clicknic) ซึ่งปัจจุบันรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
นอกจากนี้ สปสช.หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาและจัดตั้งตู้คีออส (Kiosk) ซึ่งเป็นตู้อัตโนมัติให้ผู้ติดเชื้อโควิดสามารถปรึกษาแพทย์ได้ เบื้องต้นจะจัดตั้งในกทม.บริเวณห้างสรรพสินค้า และในชุมชน อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในกทม.ให้มีความสะดวกในการรับบริการมากขึ้น