สำรวจ ‘ความเป็นแม่’ เฉดสีใหม่ คุณค่าของ ‘ผู้หญิง’
ถ้าเล่นเกมถามปุ๊บตอบปั๊บ โดยมีคำถามว่า “บทบาทแม่ที่ดีในครอบครัวเป็นอย่างไร” หลายคนคงตอบว่า การดูแลลูก (รวมถึงสามี) การจัดการงานบ้านต่างๆ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ฯลฯ
คำตอบเหล่านั้นไม่ได้ผิด แต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะในยุคสมัยนี้บทบาท “ความเป็นแม่” ได้ถูกตีความใหม่อย่างกว้าง และไปไกลเกินกว่าภาพจำเดิมๆ หรือการเหมารวมเฉกเช่นในอดีต
- บทบาทหลากหลายของ "ความเป็นแม่"
ต้องยอมรับว่าความเป็นแม่ในอุดมคติที่สังคมไทยสร้างขึ้น ได้กดทับผู้หญิงให้ต้องแบกภาระตามที่สังคมคาดหวัง โดยเฉพาะในวันที่ผู้หญิงไม่สามารถปฏิเสธบทบาทหลักทางเศรษฐกิจได้ จำเป็นต้องหารายได้ช่วยประคองครอบครัว ทว่าเธอยังต้องสวมบทบาท “ความเป็นแม่” และ “ความเป็นภรรยาที่ดี” ควบคู่กันไปด้วย เรียกได้ว่าสาหัสสากรรจ์เลยทีเดียว
“สังคมคาดหวังว่าหน้าที่หลักในการดูแลลูกคือผู้หญิง แล้วก็ไปมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะมองว่าผู้หญิงคลอดลูก เธอมีความเป็นแม่ เพราะฉะนั้นงานบ้านหรืองานดูแลลูกก็ควรจะเป็นงานของเธอ” ผศ.ดร.ปณิธี สุขสมบูรณ์ บราวน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบาย
ความคาดหวังเหล่านี้กลายเป็นทางเลือกให้ผู้หญิงต้องตัดสินใจ มีผู้หญิงจำนวนมากที่ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกและทำงานบ้านอย่างเดียว ผู้หญิงในกลุ่มนี้เห็นคุณค่าและเชิดชูความเป็นแม่ โดยยอมทำทุกอย่าง ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รวมชมฟรี เที่ยวฟรี! "วันแม่" ปีนี้ รอบเมืองกรุง มีที่ไหน? เปิดบ้าง
ชวนพ่อ-แม่ยุคใหม่เตรียมความพร้อมรอบด้าน เลี้ยงลูกแบบสร้างสรรค์
โรงเรียนพ่อแม่ เพื่อลูกรัก "สุขภาพดี สมองดี อารมณ์ดี มีความสุข"
- "ความเป็นแม่" เฉดสีใหม่ ที่เกินกรอบจารีตเดิมๆ
กระนั้น แม้ผู้หญิงจะยอมเสียสละทิ้งชีวิตทางสังคมและชีวิตการทำงานในการหารายได้ให้กับครอบครัว เพื่อมารับบทบาทแม่บ้านอย่างเต็มตัว แต่สังคมไทยกลับยังมองว่าการดูแลลูกและทำงานบ้านเป็นงานที่ไม่ค่อยมีคุณค่า เพราะไม่ก่อให้เกิดรายได้
สะท้อนทัศนคติที่ไม่ตระหนักถึงการใช้แรงงานของผู้หญิงที่ต้องใช้เวลาไปกับการทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูกโดยไม่มีรายได้ และยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในมิติของความเป็นแม่ ผู้หญิงที่มีฐานะยากจน ต้องหาเช้ากินค่ำ คงไม่สามารถที่จะมารับบทบาทเป็นแม่บ้านได้อย่างเต็มตัว
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของคุณค่าดังกล่าว อาจมีส่วนที่ตกทอดมาจากวัฒนธรรม “ปิตาธิปไตย” (Patriarchy) ดังในงานวิจัยจากวารสารการศึกษาและการพัฒนาสังคม เรื่องการสร้างตัวตนความเป็นแม่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ระบุว่า อำนาจ ความรู้ และอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ ได้ประกอบสร้างความเป็นแม่ในพื้นที่ครัวเรือน ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีความสำนึกรู้ ตลอดจนความเข้าใจโดยปราศจากข้อสงสัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงทำให้ผู้หญิงจะต้องเป็นแม่ไปตลอดชีวิต
“ถ้าไปดูในอดีตผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน ไม่ได้มีรายได้ หรือไม่มีความรู้จะต้องอดทนอยู่กับสามี อดทนกับความเป็นแม่และความเป็นภรรยา เพราะถ้าเขาหย่าร้างไปแล้ว ทางเลือกของเขามีน้อย แต่เมื่อผู้หญิงมีการศึกษาและมีรายได้ของตัวเองทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าชีวิตคู่อยู่แล้วไม่มีความสุข ผู้หญิงก็เลือกที่จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เหมือนที่เราเห็นได้ตามสื่อ หรือแม้กระทั่งดาราเองก็ตาม” ผศ.ดร.ปณิธี ระบุ
- "แม่เลี้ยงเดี่ยว" เพิ่มสูง มีตัวเลือกอะไร?เพิ่มขึ้นบ้าง
สภาพการณ์เหล่านี้นำมาสู่การเกิดขึ้นของ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่เพิ่มมากขึ้น ตามรายงานสถานการณ์ประชากรไทย ปี 2558 โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจากจำนวน 9.7 แสนครัวเรือนในปี 2530 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านครัวเรือนในปี 2556 หรือคิดเป็น 41% ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 80% เป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร (Parental leave) หรือก็คือการให้พ่อลางานเพื่อมาเลี้ยงลูก เริ่มแพร่หลายมากขึ้นแล้วในประเทศไทย เช่นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 ส.ค. 2565) เพจเฟซบุ๊ก Embassy of Sweden in Bangkok (สถานฑูตสวีเดน) ที่เผยถึงการให้พนักงานขับรถสามารถใช้สิทธิลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้เป็นพ่อได้เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งช่วยให้สังคมไม่คาดหวังให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว
ผศ.ดร.ปณิธี บอกว่า ด้วยปัจจัยหลายอย่างนี้จึงควรนำมาสู่การตั้งคำถามเรื่อง ‘รูปแบบความเป็นแม่’ ในอนาคตว่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น หรือจะมีตัวเลือกให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างไร เช่นในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการรับบริจาคสเปิร์ม (Sperm Donation) เพื่อรองรับกรณีผู้หญิงอยากมีลูกแต่ไม่อยากมีสามี หรือเอื้อให้กับครอบครัวผู้มีเพศวิถีที่หลากหลายที่อยากจะมีลูก
“วันข้างหน้าเป็นไปได้ไหมที่ครอบครัวหญิงรักหญิง ชายรักชายจะสามารถแสดงถึงความเป็นแม่ ที่อาจจะไปรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงหรือใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการมีบุตร แต่เขาสามารถทำหน้าที่ให้การดูแลลูกได้ดี เราไปยึดติดว่าคนจะเป็นแม่ได้จะต้องเป็นผู้ให้กำเนิด (Biological Mother) แต่ในแง่ของความเป็นแม่ (Mothering) และการให้การดูแล (Caring) ในชีวิตประจำวันมันจำเป็นไหมที่จะถูกผูกขาดด้วยผู้ที่เป็นแม่ เราควรมองไปอีกในระยะยาวถึงความหลากหลายของครอบครัวที่จะมีมากขึ้น” ผศ.ดร.ปณิธี ระบุ
- รูปแบบครอบครัวไม่เหมือนสังคมคาดหวัง ไม่ใช่เรื่องผิด
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวเสริมว่า การเคารพความแตกต่างและความเข้าใจในความหลากหลาย คือรากฐานสำคัญที่ มธ. ให้ความสำคัญและปลูกฝังให้กับนักศึกษามาโดยตลอด ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยขยายมุมมองในทุกเรื่อง
แม้กระทั่งเรื่องครอบครัวที่ไม่ได้นิยามความสมบูรณ์เฉพาะแค่การมีพ่อ แม่ ลูก แต่การเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว-แม่เลี้ยงเดี่ยว หรืออื่นๆ อีกหลายบทบาท ก็สามารถเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้เช่นกัน
“การที่เรามีรูปแบบครอบครัวที่ไม่เหมือนกับความคาดหวังของสังคมไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ” รศ.เกศินี ระบุ
รศ.เกศินี ระบุอีกว่า มธ. ยังมีการส่งเสริมให้นักศึกษามองเห็นถึง “คุณค่าความเป็นแม่” ของผู้หญิงที่ต้องแบกรับภาระทำงานบ้านและดูแลลูก การส่งเสริมและสร้างให้นักศึกษามีทัศนคติเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อที่ 5 เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนด้วย