แม่น้ำเพชรบุรี สายนทีแห่งศรัทธา

แม่น้ำเพชรบุรี สายนทีแห่งศรัทธา

จากต้นสายสู่ปลายทาง ด้วยความที่แม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านพื้นที่เพชรบุรีเพียงจังหวัดเดียว เสมือนยืนยันถึงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงวิถีชีวิตผู้คน

ไม่ว่าจะสองริมฝั่งหรือในสายน้ำซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนแม่น้ำสายใดในประเทศไทยคือก่อเกิดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้แล้วไหลขึ้นสู่ทิศเหนือของจังหวัด

          คุณค่าและความไม่เหมือนใครไม่ได้เพิ่งมี แม่น้ำสายนี้หลั่งไหลหล่อเลี้ยงเมืองเพชรบุรีมาไม่น้อยกว่าพันปี ลำน้ำทอดยาวกินพื้นที่กว่า 1.2 ล้านไร่ พาดผ่านตั้งแต่เทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเป็นแนวเขตทางธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอันเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เรือกสวนไร่นาพื้นที่เกษตรกรรม ย่านชุมชนคนเมืองที่มีสรรพชีวิตดำเนินไปไม่หยุดดั่งกระแสสินธุ์

          ศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก เล่าถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของแม่น้ำเพชรบุรีว่าช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000-3,000 ปีก่อน ได้ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บริเวณที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ และโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหิน ภาชนะดินเผาและลูกปัด โบราณวัตถุบางชนิด ที่ค้นพบแสดงถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอก ในยุคที่การค้าทางทะเลเจริญรุ่งเรือง เช่น ลูกปัดหินคาร์เนเลียน (มีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองท่าทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย)

          หลังจากนั้นในช่วงสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เมืองเพชรบุรีเจริญขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ มีโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนขึ้น มีระบบความเชื่อที่ชัดเจน พบว่าการรับวัฒนธรรมพุทธศาสนาจากอินเดีย ดังปรากฏให้เห็นจากหลักฐานทางโบราณสถาน เช่น โบราณสถานทุ่งเศรษฐี (สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน) ซากโบราณสถานที่เขาตาจีน ภาพปูนปั้นพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บริเวณผนังถ้ำยายจูงหลาน อ.บ้านลาด ฯลฯ หลังจากนั้นในสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 17-18) เมืองเพชรบุรีปรากฏชื่อในจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในฐานะหัวเมืองทางตอนใต้ ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าว จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เช่น หลักฐานการก่อสร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางของเมือง ซึ่งส่วนฐานรากขององค์ปรางค์ที่เป็นศิลาแลงนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี และเดิมรูปแบบองค์ปรางค์ก็น่าจะเป็นรูปแบบองค์ปรางค์ที่สร้างขึ้นสมัยก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับพระปรางค์วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี พระปรางค์วัดมหาธาตุ จ.ราชบุรี ก่อนที่จะมีการบูรณะองค์ปรางค์ครั้งใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์

59670326_2271905009534965_3601973755854716928_o

          นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากต่างประเทศที่เคยเข้ามาติดต่อค้าขายหรือมีสายสัมพันธ์กับคนเมืองเพชร เช่น จดหมายเหตุในสมัยราชวงศ์หยวน (ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18) ได้กล่าวถึง ก่านมู่ติ้งปี้ฉาปู่หลี่ (กัมรเตงเมืองเพชรบุรี - เจ้าครองนครเพชรบุรี) ได้แต่งเครื่องบรรณาการไปถวายยังราชสำนักจีน โดยหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของเมืองเพชรบุรี ในฐานะนครรัฐอิสระที่มีระบบการปกครองภายในแว่นแคว้นที่ชัดเจน และเป็นเมืองที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งในช่วงก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

          นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองเพชรบุรียังได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแบบเขมรด้วยดังปรากฏให้เห็นจากหลักฐานการสร้างโบราณสถานวัดกำแพงแลง หลังจากนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 19-23) เมืองเพชรบุรีเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ มีส่วนช่วยส่งกำลังสนับสนุนในการสู้รบป้องกันอาณาจักรหลายครั้ง เช่น การรบกับพระยาจีนจันตุและการปราบปรามพระยาละแวก ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (พ.ศ.2112-2133) และสมัยสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ.2133-2148) และการปราบปรามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่แข็งเมืองในสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.2231-2246) เป็นต้น

          “แม่น้ำเพชรบุรีถือได้ว่าเป็นแม่น้ำที่บริสุทธิ์และมีความศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่โบราณ เพราะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แม่น้ำเพชรบุรีคือแม่น้ำสายหนึ่งที่ถูกเลือก นอกจากนี้ชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีมีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เราค้นพบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์”

          และนับตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์จวบจนปัจจุบัน เมืองเพชรบุรียังคงทำหน้าที่เมืองหน้าด่าน ซึ่งในช่วงรัชสมัยรพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยยังมีศึกกับพม่า ก็ได้เมืองเพชรบุรีเป็นกำลังสนับสนุนรบรากันจนกระทั่งพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจึงนับว่าสงครามไทยกับพม่าสิ้นสุดลง

          ในบทความเรื่อง ‘แม่น้ำเพชรบุรี สายนที.....แห่งความภาคภูมิใจ และความทรงจำของชาวเพชรบุรี’ ศาริสา จินดาวงษ์ เขียนถึงการเปลี่ยนบทบาททางทหารของเมืองเพชรบุรีที่มีต่อราชสำนักไทยไว้ว่า

          “ในสมัยพระบาทสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎทรงอุปสมบถเป็นพระภิกษุมีพระนามเป็นภาษาบาลีว่า ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองที่สำคัญต่างๆ ของไทย เช่น สุโขทัย นครปฐม พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งทรงเสด็จมาเจริญวิปัสสนายังสถานที่สำคัญในจังหวัดเพชรบุรีหลายแห่ง ทรงพอพระทัยในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ของเมืองเพชรบุรี จนกระทั่งเมื่อทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(พ.ศ.2394-2411) จึงทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังขึ้นบนเขามหาสวรรค์ คือ พระราชวังพระนครคีรี ในปี พ.ศ.2402 เพื่อใช้เป็นสถานที่เสด็จแปรพระราชฐานประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่สวยงามและสภาพภูมิอากาศที่ร่มรื่น พระมหากษัตริย์อีก 2 พระองค์ในรัชกาลต่อมาจึงทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังในเมืองเพชรบุรีเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453) ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน) ในปี พ.ศ.2453

          และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2453-2468) ยังทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในเขตอำเภอชะอำ ในปี พ.ศ.2466 เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับพักฟื้นรักษาพระอาการประชวรอีกด้วย”

59588861_2271904966201636_5940559199141363712_n

          จากแง่มุมทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีโดยสังเขปที่ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเมืองเพชรบุรีค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากมีกลุ่มชนเล็กๆ เข้ามาอาศัยอยู่กระจายตัวตามที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่ต่างๆ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งขยายตัวเป็นชุมชนเมืองริมฝั่งที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีในสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวแม่น้ำเพชรบุรีมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม

          “ลุ่มน้ำเพชรบุรีที่เราเห็นทั้งสองชายฝั่ง ช่วงประมาณรัชกาลที่ 4-5 เส้นทางหลักในการค้าขายคือแม่น้ำเพชรบุรี เพราะว่าสองฟากฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรีมีตลาด มีการค้าขายทางเรือ ขายเครื่องปั้นดินเผา ขายหม้อตาล โดยเฉพาะหม้อตาล น้ำตาล เป็นสินค้าออกที่สำคัญที่ชาวเพชรบุรีเอาขึ้นเรือไปขายที่กรุงเทพฯ ที่อยุธยา และที่ต่างๆ

          ปัจจุบันยังมีชาวบ้านไปงมเจอพวกหม้อตาล ภาชนะดินเผา เจอเหรียญ เจอเงินสมัยก่อนที่ใช้ค้าขายในสมัยก่อนในลุ่มน้ำเพชรบุรีด้วย ต่อมาจึงเปลี่ยนในช่วงรัชกาลที่ 6 คือมีการทำถนนขึ้นมาทดแทนการสัญจรทางน้ำ ประกอบกับเมืองเพชรบุรีมีน้ำตาลโตนดซึ่งเป็นสินค้าหลักที่สร้างชื่อให้จังหวัด”

          ถึงแม่น้ำสายนี้จะเกิดจากธรรมชาติแล้วไหลผ่านพร้อมกับบทบาทหลากหลายโดยมีปลายทางที่อ่าวไทย แต่อีกหนึ่งคุณค่าที่แม่น้ำเพชรบุรีรับใช้ราชสำนักไทยมาช้านานคือการเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อเดียวกับอินเดียเกี่ยวกับปัญจมหานที

          สำหรับแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 สายหลักคือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ในพระราชพิธีต่างๆ พราหมณ์จะนำน้ำจากทั้งห้าสายไปประกอบพิธี

          ศาริสา อธิบายถึงเรื่องนี้ในทำนองว่านี่คือเรื่องหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวเพชรบุรีที่มีต่อแม่น้ำสายนี้ซึ่งเคยปรากฏเป็นข้อมูลในที่ต่างๆ ว่า เป็นน้ำที่ใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกของ                           พระมหากษัตริย์ และที่สำคัญ คือ ใช้เป็นน้ำในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตามโบราณราชประเพณี การทำพิธีดังกล่าวข้างต้นจะใช้น้ำจากแม่น้ำสายสำคัญ 5 สาย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี โดยพราหมณ์ในราชสำนักจะตักน้ำจากแม่น้ำทั้ง 5 สายมาใช้ในการประกอบพิธี โดยเฉพาะพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยมีพระราชวิจารณ์ว่า “พระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีใหญ่ สำหรับเป็นพระราชพิธีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยสามัญ (รัตนโกสินทร์) โดยไม่มีว่างเว้นเพราะ มีคำอ้างว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง” ที่พระองค์ทรงกล่าวว่า โบราณนั้นก็สันนิษฐานกันว่ามีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ด้วยไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าพิธีดังกล่าวจะเริ่มมีขึ้นในสมัยพระมหากษัตริย์พระองค์ใด แต่ไม่ใช่สมัยสุโขทัย เพราะอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยดังกล่าว มิได้มีสูงสุดอย่างสมมุติเทพเช่นในสมัยอยุธยาโดยพิธีดังกล่าวนี้ได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาในราชสำนักสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทางคณะราษฎร์จึงยกเลิกพิธีดังกล่าวไป จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยผนวกเป็นการเดียวกันกับพระราชพิธีพระราชทาน ‘เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี’ เมื่อ พ.ศ.2512

          ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.2411 ก็มีการตักน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมาใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ดังปรากฏความในสารตราว่า “ด้วยกำหนดราชาฤกษ์การพระราชพิธีราชาภิเษกในวันพุธ เดือน 12 ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง สัทฤทธิศก ต้องการน้ำเข้าพระราชพิธีอย่างพระมหากษัตริย์เจ้าแต่เดิม จึงให้พระยาเพชรบุรีตักน้ำท่าไชยใส่หม้อ ให้เอาใบบอนปิดปากหม้อ เอาผ้าขาวหุ้มปากหม้อ ด้ายผูกปิดตราประจำครั่ง แต่งให้กรมการผู้ใหญ่คุมลงไปส่งยังกรุงเทพฯ ให้กับกรมพระราชพิธี อย่าให้เสียกรมได้ สารตรามา ณ วันพฤหัสบดี เดือน 11 แรม 7 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 (อ้างอิงจากเทศาภิบาล เล่ม 7 สิงหาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) หน้า 151-152)

          สำหรับงานพิธีราชาภิเษกสมโภช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้จัด พระราชพิธีตามมณฑลต่างๆ สำหรับมณฑลราชบุรี ได้จัดพิธีที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี โดยได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีในการนี้ด้วย (อ้างอิงจากจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีศรีจันทรมหาวิชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานศพพลเอกคัด เดชะชาติ)

          สำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระราชพิธีอภิเษกสมรสก็ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุ  จ.เพชรบุรี โดยมีประธานในพิธี คือ ขุนบริรักษ์บทวลัญช์ (ชุ่ม บริรักษ์บทวลัญช์) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในช่วงเวลานั้น ส่วนประธานในพิธีสงฆ์ คือ พระครูสุวรรณมุนี (ผัน สุวณฺโณ) เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรีเป็นประธานในพิธี โดยทางจังหวัดได้มอบหมายให้ขุนทิพย์รักษ์ประพันธ์ (บุญทิพย์ ทิพยรักษ์) นายอำเภอบ้านลาด เป็นราชบุรุษทำพิธีพลีกรรมตักน้ำเป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์วัดท่าไชย ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี (อ้างอิงจากกรมหมื่นพิทยลาภ พฤฒิยากร พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรราชาภิเษก หน้า 213– 216)

          ในอดีตความสะอาดของแม่น้ำลำธารยังดีพอสำหรับอุปโภคบริโภค แต่แม่น้ำเพชรบุรีพิเศษกว่านั้นคือใสสะอาดและมีรสชาติถูกพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก พระองค์ทรงโปรดเสวยและใช้น้ำจากท่าวัดไชย ด้วยทรงรับสั่งว่าเป็นน้ำที่จืดสนิทดี ในทุกเดือนๆ พระยาเพชรบุรีจึงต้องส่งน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเข้าถวาย จากเหตุผลดังกล่าวทำให้พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเสวยน้ำเพชรด้วย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงชิมพระองค์จะทรงทราบทันทีว่าเป็นน้ำเพชรหรือไม่

          บางครั้งหากขาดน้ำเพชรใช้น้ำกลั่นแทน ก็ทรงเสวยไม่ได้ เสวยไม่อร่อย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระราชธิดาในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระราชหัตถเลขา ความตอนหนึ่งว่า เสด็จพ่อ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ได้เล่าให้ฟังว่า ในขณะเสด็จพระราชดำเนินไปมาระหว่างเมืองเพชรบุรีและกรุงเทพฯ ก่อนเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้มีพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง อันเนื่องด้วยน้ำเสวยเป็นประจำ ว่า

          “…แต่ไหนแต่ไรมาเสวยน้ำโซดานอกหรือโซดาใน น้ำแร่หรือแอลพอลลินารี ให้อิ่มต่างน้ำไม่ได้ เมื่อเสวยน้ำเหล่านั้นแล้วต้องเสวยน้ำท่าล้าง จึงนับว่าเป็นเครื่องดื่มอย่างหนึ่งคล้ายกับเหล้า ต่างแต่ไม่เมา เมื่อเสด็จในประเทศที่ห่างไกล ซึ่งจะนำน้ำเสวยไปด้วยไม่ได้ หมอฝรั่งทูลไว้ว่าเสวยน้ำน้อยที่สุดเท่าใดยิ่งดี ก็ได้ทรงบำเพ็ญที่จะเสวยน้ำน้อยเช่นนั้น ไม่ใช่แต่เพียงไม่สำเร็จ ไม่ใคร่จะได้เสวยน้ำอร่อยสมพระราชประสงค์เนืองๆ เป็นเหตุให้ต้องเสวยมากหวังจะให้สิ้นกระหายก็ไม่รู้อิ่ม จึงต้องแก้ไขได้เพียงหยอดน้ำแข็งลงไปให้เย็นเสีย แต่ครั้งเสวยมากพระนาภีก็อืดไปเพราะเย็นเกินธรรมดายิ่งนัก ความรำคาญพระราชหฤทัยในเรื่องเสวยน้ำไม่อร่อยนี้ได้มีมาเนื่องๆ จนในหมู่นี้ได้รับความเดือดร้อนเพราะน้ำไม่อร่อยนี้เป็นอันมากทรงพิจารณาเห็นว่าที่เป็นดังนี้ ด้วยพระศอเป็นไทย ไม่ยอมเป็นฝรั่งจะเสวยโซดากลั่นหรืออะไร ทนไม่ได้ทั้งสิ้น” (อ้างอิงจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 ม.1/61 เรื่องจัดน้ำประปาเป็นน้ำเสวยแทนน้ำเพชร 24 ม.ค.2465)

          “ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดให้เพชรบุรีเป็นเหมือนเมืองหลวงแห่งที่สอง มีการสร้างราชวัง และใช้น้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเป็นน้ำเสวย และเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีเรื่อยมา” ศาริสากล่าว

          นอกจากนี้เธอยังเล่าอย่างละเอียดไว้ในบทความด้วยว่า ครั้นวันที่ 1 ธันวาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศักดิ์นายเวร จัดการน้ำกรองมา 4 ขวด ขวดหนึ่งน้ำฝน ขวดหนึ่งน้ำเพชร ขวดหนึ่งน้ำบ่อ อาฟิติเซียลแวล ขวดหนึ่งน้ำกลั่น อย่าให้แปลกกันเป็นที่สังเกตว่าน้ำอันใดส่งเข้ามาเสวย ได้ทรงอมน้ำนั้นไม่ได้กลืนทีละขวด ได้ทรงเลือกน้ำในสี่ขวดนั้น ขวดหนึ่งว่าอร่อยกว่าทั้งหมด ครั้นเมื่อดูเครื่องหมายได้ความว่า ขวดนั้นคือน้ำเพชร ทรงพระราชดำริเห็นว่าน้ำ 3 อย่างนั้นจะบริสุทธิ์เกินไปกว่าพระศอ ที่เคยเสวยน้ำอย่างต่ำ จึงทำให้เสวยไม่อิ่มเสียเลย ไม่ระงับกระหายได้

          พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ เสด็จพ่อได้เป็นผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องได้ตรัสเล่าให้ฟังไว้ จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้นมิใช่แต่เพียงโปรดปรานเมืองเพชรบุรี อันเนื่องจากมีอากาศถูกกับพระโรคเท่านั้น แม้แต่น้ำที่เสวยซึ่งเป็นน้ำเพชร ก็อาจเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่พระองค์ทรงโปรดปรานเมืองเพชร

          เรื่องน้ำเพชรเป็นน้ำเสวยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2465 ความตอนหนึ่งว่า “เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าน้ำลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่าพระองค์เองเสวยน้ำเพชรเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่นๆ ไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเมืองเพชรบุรี ตลอดมากาลปัจจุบัน” ซึ่งน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวเพชรบุรีที่เล่าขานให้ลูกหลานฟังเสมอว่า น้ำเพชรนั้นดี จืดอร่อย แม้แต่พระพุทธเจ้าหลวงก็ยังทรงโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าไชย นับเป็นเรื่องที่ชาวเมืองเพชรภาคภูมิใจ ความสำคัญของน้ำเพชรเป็นน้ำเสวยสำหรับเครื่องต้น ได้มาสิ้นสุดลงใน พ.ศ.2465 โดยได้เปลี่ยนเป็นน้ำประปาแทน ทั้งนี้เพราะทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าแม่น้ำเพชรบุรี ตลอดสองฝั่งมีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่น น้ำในลำน้ำมีสิ่งปฏิกูลสกปรก ไม่เหมาะสมที่จะเป็นน้ำเสวยอีกต่อไป

          เมื่อทางราชเลขาธิการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลตามรายงานของเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล่าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้งดการตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีส่งมาเป็นน้ำเสวย ดังสำเนาความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

          “...ในส่วนตัวเรา มิได้เคยถือดอกในเรื่องนี้เกิน แต่ก็ต้องสารภาพอย่างหนึ่งว่า จะเป็นเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบบอกไม่ถูก เราได้กินน้ำประปาหลายครั้ง และรู้สึกว่ากินไม่ได้ แต่ไม่วายรู้สึกในใจว่าสู้น้ำเสวยที่เขาจัดมาให้เป็นพิเศษไม่ได้ ทั้งนี้น่าจะเป็นด้วยอุปาทานมากกว่าอย่างอื่น ฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าน้ำในลำน้ำเพชรบุรีปฏิกูลมากขึ้นจริงและเห็นว่าถ้ากินอาจมีอันตราย จงงดการตักน้ำเพชรบุรีเป็นน้ำเสวยก็ได้”

59553510_2271904982868301_4749796983957356544_o

          ศาริสาบอกว่านี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรียังทรงเห็นคุณค่าของแม่น้ำเพชรบุรี นอกจากใช้เป็นน้ำเสวย ใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ แล้ว น้ำในแม่น้ำเพชรบุรียังเป็นน้ำกิน น้ำใช้ของราชทูต อุปทูตและตรีทูตอีกด้วย ซึ่งต้องเท้าความไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคเฟื่องฟูของการเจริญสัมพันธไมตรีกับอารยประเทศ โดยมีกรมการเมืองทำหน้าที่ลำเลียงน้ำใส่เรือสองลำนำไปส่งที่อ่าวสามร้อยยอด ซึ่งหลักฐานว่าน้ำเพชรเป็นเครื่องบรรณาการปรากฏในสารตราของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาถึงพระยาเพชรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ตรีศก จุลศักราช 1213 ว่า “ด้วยทรงพระกรุณาโปรดตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ณ มรสุมปีกุน โทศกนี้ จะแต่งราชทูต อุปทูต ตรีทูต จำทูลพระราชสารเครื่องมงคลราชบรรณาการออกไปเจริญทางพระราชไมตรี สมเด็จพระเจ้ากรุงจีน และกำปั่นหูสง ทรงพระราชสารไปจากกรุงเทพฯ แต่ในเดือน 7 เดือน 8 จะไปรับลำเลียงอยู่ ณ สามร้อยยอดเหมือนอย่างทุกปี”

          เส้นทางการไหลของแม่น้ำเพชรบุรีที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดและทุกทิศทางเปรียบได้กับความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ที่หล่อเลี้ยงตั้งแต่ชั้นบนสุดของสังคมไทยไล่เรียงลงมาถึงชาวบ้านประชาชน แม่น้ำเพชรจึงมิใช่แค่ไว้ดื่มกินหรืออุปโภคบริโภคธรรมดา แต่แทรกซึมอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะในบริบทความเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิริมงคล ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นสูงที่นำไปใช้ประโยชน์ด้านนี้ แต่กับประชาชนน้ำเพชรก็เป็นเช่นเดียวกัน

          “พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) กล่าวไว้ในตำนานเมืองเพชรว่า “น้ำก็เป็นเพชร คือมีน้ำบริสุทธิ์ ผ่องใสสะอาด เป็นน้ำแร่โลหะเพชรรัตนธาตุ คือว่าสดใสดุจน้ำเพชร น้ำจึงเป็น         น้ำเสวยสำหรับพระเจ้าแผ่นดินไทย” ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับความเชื่อถือ ความศรัทธาซึ่งเล่าขานสืบต่อกันมาในเรื่องแม่น้ำเพชรของชาวเมืองเพชรบุรี” ผู้อำนวยการคนเดิมเล่า

         หากจิตวิญญาณไร้ซึ่งร่างกายรองรับคงไม่ได้ แม่น้ำเพชรบุรีจึงไม่แตกต่างกับเส้นเลือดใหญ่ของชาวเมืองเพชรที่ต้องพึ่งพาอาศัย ดำรงชีวิต ประกอบสัมมาอาชีพ ริมสองฝั่งในปัจจุบันจึงมีชุมชนตั้งถิ่นฐานมากมาย มีแหล่งการค้า พื้นที่เกษตรกรรม แม้จะมีถนนหนทางเข้ามาทำหน้าที่ด้านคมนาคมขนส่งมากขึ้นแล้วก็ตาม ทว่าเสน่ห์แห่งสายน้ำยังมิเสื่อมคลาย ยังไหลเวียนเฉกเช่นเดิม