ฮ้องขวัญนา สู่ขวัญข้าว

ฮ้องขวัญนา สู่ขวัญข้าว

บันทึกเรื่องราวและความงดงามของวัฒนธรรมข้าวที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทย

"อา...อันจะอันจะโยโอ อัน...จะจะโสโฮ จักเฮียกขวัญสามสิบสองขวัญแห่งเจ้า...ไปหลงหลำอยู่ตางไดนั่นเล่า ขอหื้อสามสิบสองขวัญแห่งเจ้าคืนมา...เอิงเอย..."

5

โลกหมุนไป เสียงผู้เฒ่าผู้แก่แหบแห้งร่วงโรยไปตามวัย พร้อมกับประเพณีการทำ ‘ขวัญข้าว’ ที่ค่อยๆ คลายความสำคัญลง ขาดช่วงแห่งการสืบทอด ทั้งที่วัฒนธรรมข้าวผูกพันกับคนไทยมาอย่างยาวนาน

'กินข้าวหรือยัง’ คำทักทายคุ้นหู แสดงเอกลักษณ์ของชาวไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของปากท้อง เริ่มถูกกลืนหายไปกับวัฒนธรรมใหม่ บุญคุณข้าวแดงแกงร้อน กำลังจะกลายเป็นเรื่องเก่าที่ไม่มีใครนึกถึง

ถึงเวลาหรือยังที่จะต้อง ‘ฮ้องขวัญนา เฮียกขวัญข้าว’ ให้กลับคืนมา...

 

3

 

เล่าขานตำนานข้าว

ข้าว เป็นพืชพื้นเมืองจากประเทศจีน เมล็ดข้าวเก่าแก่ที่สุดในโลกถูกค้นพบเมื่อ 14,000 ปีที่แล้ว ชาวจีนปลูกข้าว กินข้าว มาเป็นหมื่นปี จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังประเทศอินเดีย แล้วเฉียงมาทางใต้ ผ่านเผ่าจ้วง เผ่าไทย

ตามตำนานเล่าว่า แต่ก่อนเมล็ดข้าวใหญ่มาก มีแม่หม้ายมาตีข้าว ข้าวแตกไปอยู่บนเขา กลายเป็นข้าวไร่ของชาวเขา ที่ตกมาอยู่กับน้ำก็เป็นข้าวนาดำ ข้าวก็เหมือนกับแม่ เรียกว่า 'แม่โพสพ' มีนิสัยอ่อนโยน ต้องดูแลให้ดี ทุกคนต้องไหว้แม่โพสพ ต้องกตัญญูกับแม่โพสพ ถ้าเราละเลยเรื่องการกตัญญูต่อข้าว แม่โพสพก็จะหนีไปบนเขา เราต้องไปง้อลงมา

การปลูกข้าวบนพื้นที่เขา การปลูกข้าวไร่แบบชาวเขาทำอย่างไร การปลูกในนาทำอย่างไร เครื่องมือเครื่องไม้ ไปไถไปเกี่ยว เกิดขึ้นพัฒนาไปตามแต่ละยุค จากเดิมเอาไปไม้ทิ่มแล้วหยอดเม็ดข้าวลงไป พัฒนามาเป็นไม้ปลายแหลมๆ เปลี่ยนมาเป็นไม้หัวเหล็ก แล้วก็มาเป็นคราดในที่สุด

พื้นฐานความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทยและชาวอาเซียนจะนับถือผี ก่อนที่จะรับเอาศาสนาพราหมณ์และพุทธมาจากอินเดีย รับมาแล้วก็ไม่ได้ตัดของเก่าทิ้ง แต่เอามาผสานเข้าด้วยกัน มีความเชื่อว่า มนุษย์มีสองส่วน คือร่างกาย กายเนื้อ กับส่วนที่เรียกว่าขวัญ มีอยู่แต่มองไม่เห็น ทั้งสองส่วนทำให้ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่อย่างปกติ ต้องมีร่างกายและขวัญอยู่ด้วยกัน จะหลุดออกจากกันไม่ได้ ถ้าหลุดออกจากกันเรียกว่าขวัญหาย ทำให้มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติ จึงต้องมีวิธีเรียกขวัญกลับคืนมา

เด็กที่เพิ่งเกิดจะมีพิธีรับขวัญ มีแม่ซื้อมาซื้อเด็กในราคา 32 เบี้ย ในภาคกลางเชื่อว่าคนเรามี 32 ขวัญ รูปร่างของขวัญคล้ายกับก้นหอย เช่น ลายนิ้วมือ หรือ ขดบนหัว รวมแล้วเป็น 32 ขวัญ คนเข้าใจผิดว่า ร่างกายครบ 32 เป็นชิ้นส่วนนั้นไม่ใช่ แต่หมายถึงร่างกายอยู่กับขวัญครบ 32 ไปไหนมาแล้วขวัญครบไหม

ชาวอาเซียนและชาวไทยเชื่อว่า ขวัญมีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างมีชีวิต ทั้งสิ่งที่เรามองไม่เห็น ในที่นา ในไร่ ในแม่น้ำ คู คลอง ทุกอย่างมีผีเจ้าที่ มีเจ้าของ ผู้ใหญ่มักจะสอนเด็กๆ ว่า ไปไหนอย่าลืมไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ก็ด้วยเหตุผลนี้ 

ส่วนในนา เราเรียกว่า 'ผีเสื้อนา' ผีคุ้มครองนา ในน้ำเรียกว่า 'ผีเสื้อน้ำ' ผีคุ้มครองน้ำ คนไทยจะคุ้นกับคำว่า 'ผีเสื้อสมุทร' ผีเสื้อ หมายถึงพิทักษ์ปกป้องคุ้มครอง พอเรารับศาสนาพราหมณ์เข้ามา ผีก็เปลี่ยนไปเป็นเทพ ผีเสื้อนากลายเป็นเจ้าแม่โพสพ คำว่าผีเสื้อที่ยังหลงเหลืออยู่ให้ได้ยินก็คือ ผีเสื้อเมือง เทพผู้ปกป้องเมือง ส่วนขวัญของพระแม่โพสพคือ ขวัญข้าว จึงมีพิธีทำขวัญข้าว ทำขวัญควาย ทำขวัญวัว แต่ไม่ซับซ้อนเหมือนพิธีทำขวัญข้าว

 

  4

 

วัฒนธรรมข้าวชาวอาเซียน

ในอดีตบ้านเราเป็นสังคมเกษตร ปกครองโดยกษัตริย์ สมัยสุโขทัยเรียกว่า 'พ่อขุน' ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว บอกลักษณะการทำนา การเกษตร เป็นหัวใจของประเทศ มีประเทศไทยประเทศเดียวที่เรียกพระเจ้าแผ่นดิน ผู้นำประเทศจะต้องดูแลแผ่นดิน คือผู้มีบทบาทเกี่ยวกับแผ่นดินและที่นาทั้งหมด กษัตริย์จึงต้องเรียนรู้เรื่องข้าว เรื่องการทำนา ก็เลยมีประเพณี มีขนบ การจัดการในเรื่องนี้มาโดยตลอด แม้กระทั่งการแต่งตั้งขุนนางก็ต้องตั้งตามศักดินา มีนาข้าวเท่านั้นเท่านี้

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้ทำหน้าที่บริหาร การจัดการดิน น้ำ ก็เริ่มต้นขึ้น มีพิธีกรรมก่อนปลูก เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนใจเรื่องข้าวมาก มีมูลนิธิข้าวไทย มีการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าว ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมข้าวในอาเซียน มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ชาวนาเรียกว่าพิธีหลวง ทุกคนจะมารอ เพราะมีการแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกพระแม่โพสพ เป็นเมล็ดข้าวที่เป็นมงคล เป็นลูกที่ราชสำนัก กษัตริย์ชุบเลี้ยง แล้วส่งมอบหน้าที่ให้ชาวนาไปบำรุงลูกนี้ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ออกช่อออกรวงเป็นเมล็ดข้าวรุ่นต่อไป ชาวนาจึงรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แค่สิ่งที่ควรทำ แต่เป็นหน้าที่อันทรงเกียรติ เขาได้รับเลี้ยงชาววังลูกแม่โพสพให้คนไทยได้อยู่กินอิ่มท้องต่อไป

จากเมล็ดข้าว กลายเป็นต้นกล้า แล้วก็ปักดำนา ถือว่าเด็กผู้หญิงได้โตเป็นสาวแล้ว คล้ายกับพิธีโกนจุก หมายถึงเด็กพวกนี้มีวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่แล้ว สามารถมีครอบครัว พร้อมเป็นแม่คนแล้ว ต่อด้วยประเพณีเสี่ยงทาย พราหมณ์ที่เข้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นผู้ทำนาย ผลมักจะออกมาว่าไม่น้ำท่วมก็น้ำหลาก พิธีการนี้เป็นวิธีการบอกให้คนได้ระวังอะไร แต่โลกปัจจุบันเปลี่ยนไป จะทำนายแบบเดิมคงไม่ได้ จึงต้องดูพยากรณ์อากาศควบคู่กันไป

เมื่อชาวนาได้เมล็ดพันธุ์ข้าวมาแล้ว “พิธีแรกคือเริ่มหว่านนา ปักต้นกล้า ชาวไทดำ ไทขาว จะมีต้นชูข้าว ออกดอกสีชมพู เรียกว่า สีติ๋ม (สีชมพูในภาษาถิ่น) ข้าวนี้ถ้าไปปลูกก็ออกรวงออกช่อได้ดี บ้างเรียกเป็นพิธีสมรส ส่วนในภาคกลางจะมีพิธีช่วงปลายฝนต้นหนาว เมื่อข้าวตั้งท้อง ก็จะบำรุงบำเรอเหมือนคนท้อง อยากกินอะไร อยากได้ทองก็เอามาให้ มีการทำสัญลักษณ์บ่งบอกด้วยการปักเฉลว ไม้ไผ่ซีก หักให้เป็นรูปดาว ห้าดาว สามดาว เหมือนกับเวลาต้มยาไทยก็มีการปักเฉลว หรือเวลาผ่านด่านในอดีต ที่ตรงไหนมีด่านเก็บภาษี ด่านขนอน ก็จะมีเฉลวปักเอาไว้เพื่อให้คนที่นั่งเรือมารู้ว่าเขตนี้มีการเก็บด่าน หน้าที่ของเฉลวคือปักให้รู้ว่า เป็นพื้นที่ของใคร เอาไว้ทำอะไร ที่นาที่ไหนที่มีการทำขวัญข้าว ช่วงที่ข้าวตั้งท้องแล้วก็ปักเฉลวบอกให้รู้ว่านี่เป็นเขตบำรุงครรภ์ของแม่โพสพนะ” อ.ศุภวุฒิ จันทสาโร นักวัฒนธรรมและนักประวัติศาสตร์ กล่าว

“ก่อนการทำนาจึงมีพิธีกรรม ตั้งแต่ก่อนปลูก ช่วงปลูก ช่วงดูแล ช่วงเก็บเกี่ยว ช่วงละไม่ต่ำกว่า 10 ประเพณี ตั้งแต่ขอฝน แห่ปลาช่อน เทพพระยาคันคาก ก่อนเก็บก็ต้องมีพิธีเปิดยุ้ง ข้าวจึงมีความสำคัญกับวิถีชีวิตคนไทยมาก ในสมัยก่อนไม่มีคนรู้หนังสือ ประเพณีหรือความรู้ต่างๆ จึงถูกถ่ายทอดสอนกันผ่านเพลงพื้นบ้าน จะไถยังไง เกี่ยวข้าวยังไง สอนอยู่ในเพลง มีการสร้างเพลงเพื่อสอน มีเพลงเต้นกำรำเคียว

วัฒนธรรมข้าวเป็นเรื่องของคนทั้งโลก โดยเฉพาะอาเซียน เป็นจุดเชื่อมโยงคนเอเชียไว้ด้วยกัน มีประเพณีเกี่ยวกับข้าวที่ใกล้เคียงกัน ทุกช่วงของการทำนาปลูกข้าวมีระบบความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของรายละเอียด ประเพณีภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ จะแตกต่างกัน เครื่องมือเครื่องไม้ เคียวเกี่ยวข้าว ก็ไม่เหมือนกัน รายละเอียดการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ข้าวหอมมะลิเป็นของใคร เราไม่เคยทำมาเป็นลิขสิทธิ์ของเรา ข้าวเจ็กเชยที่สระบุรีเป็นพันธุ์ที่มีชื่อก็จะหายไปแล้ว ถ้ามีการฟื้นแล้วเอามาขยายใหม่ เราก็จะได้พันธุ์ข้าว ได้รู้ว่าข้าวทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งนี้ ข้าวเจ็กเชยแหล่งนี้ ซึ่งเราเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมข้าว” อีกหนึ่งมุมมองเรื่องข้าวของ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ 

 

2

 

สู่ขวัญข้าวก่อนสูญหาย

แม้ ‘ข้าว’ จะยังอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย แต่ก็คงเหลือเฉพาะในมิติด้านอาหารและพื้นฐานด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความคิดความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรม กลายเป็นเรื่องเก่าที่เหลือผู้สืบทอดน้อยเต็มที ครั้งนี้นับเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เมื่อนักเขียนสารคดีชั้นครู ธีรภาพ โลหิตกุล ได้รวบรวมภาพและข้อมูลเกี่ยวกับพิธีการทำขวัญข้าวในประเทศไทยไว้ในหนังสือชื่อ ‘สู่ขวัญข้าว พระเจ้าแผ่นดิน’

“ได้ยินคำว่าการทำขวัญข้าวมานานแล้ว แต่ว่าไม่เคยเห็นพิธีจริงๆ คนไทยจำนวนมากก็ไม่เคยเห็น ชาวนาแต่ละท่านทำไม่เหมือนกัน คนละแบบกัน พอได้เห็นการทำพิธีขวัญข้าวครั้งแรกที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ปี 61 ก็ตื่นเต้น ก่อนหน้าผมตั้งชื่อลูกสาวว่าขวัญข้าว นั่นก็ 20 ปีที่แล้ว พอได้มาเห็นพิธีจริงๆ ก็รู้สึกสะเทือนใจ ซาบซึ้งใจ ว่าคนไทย ชาวนาไทย เคารพต่อแม่โพสพมากมายขนาดนี้ อาบน้ำ ประแป้ง แต่งตัวให้ต้นข้าว เอาผ้าขาวไปรวบกอข้าวกอหนึ่ง สมมติเป็นแม่โพสพ หวีผมให้ ปรนเปรอด้วยหมากพลู ขนมหวาน ผลไม้เปรี้ยว พอข้าวออกรวง ชาวนาเรียกว่าข้าวตั้งท้อง แม่โพสพสถิตอยู่ในนาข้าวกำลังตั้งท้อง

สุดท้ายชาวนาคนนั้นก็ถอดสร้อยคอทองคำคล้องให้แม่โพสพเลย หมายถึงให้สิ่งที่ดีที่สุด ถวายให้ สบายใจแล้วจะได้ออกลูกออกหลานออกมาเป็นเมล็ดข้าวเต็มท้องทุ่ง” ธีรภาพ กล่าวในฐานะบรรณาธิการหนังสือภาพเล่มสำคัญของชีวิต

 

1

 

"ประเพณีขวัญข้าว ประกอบไปด้วยความงดงามของความกตัญญู การประดิษฐ์คิดสร้างเครื่องหมาย การแต่งกาย ความศรัทธา เลยเกิดแรงบันดาลใจว่า น่าจะรวบรวมประเพณีพิธีกรรมการทำขวัญข้าว ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้า แต่ละที่ไม่เหมือนกันเลย มีความเชื่อเหมือนกัน แต่ว่ามีพิธีการที่แตกต่างกัน"

หนังสือเล่มนี้รวบรวมผลงานจากช่างภาพกว่า 10 คน รวมถึงนักวิชาการอีกหลายท่าน โดยมีธีรภาพเป็นผู้รวบรวมคัดสรรและเรียงร้อยเป็นรูปเล่ม ด้วยความเชื่อว่า ภายใต้ท้องนามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่าแม่โพสพ

"คนไทยแต่ละภาค มีวิธีการบูชาแม่โพสพไม่เหมือนกัน ภาคกลางจะทำตอนข้าวตั้งท้อง ภาคอีสานจะทำตอนที่เก็บเกี่ยวแล้ว เรียกว่าบุญอุ้มข้าว จะเอาเมล็ดข้าว รวงข้าว มาประดิดประดอยเป็นวิมานแม่โพสพ ด้วยรวงข้าวเป็นแสนๆ เท่ากับบ้านหลังหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าเขาบูชาแม่โพสพเพียงใด ผมได้รวบรวมประเพณีบูชาแม่โพสพแต่ละภาคเอาไว้

 

6

 

การที่ชาวนาอาบน้ำประแป้งให้แม่โพสพ ทำวิมานรวงข้าวให้แม่โพสพ นี่คือขวัญของชาวนา เพราะว่าข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้าเกิดว่าปีไหนข้าวไม่ดี ก็หมายถึงความอดอยาก เพราะฉะนั้นจะต้องบูชาแม่โพสพให้ดี ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ใช้รถไถนา รถเกี่ยวนาหมดแล้ว ซ้ำยังใส่สารเคมีลงไปในไร่นา ก็เลยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการทำขวัญข้าว พิธีกรรมนี้กำลังจะหายไปอย่างรวดเร็ว เป็นผลงานของชีวิตเล่มหนึ่งที่ได้ทำขึ้นมาว่า คนไทยนั้นมีความกตัญญูต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องนาเพียงใด ที่สำคัญที่สุดคือ หมดคนรุ่นนี้แล้ว ประเพณี ความรู้ พิธีขวัญข้าวก็จะจากเราไป ทุกอย่างก็จะสูญหายไป" ธีรภาพ กล่าวทิ้งท้าย

เพื่อการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมอันงดงาม ถึงเวลาที่ต้องตระหนัก รักษา สืบต่อ แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยแต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เลือนหายไปกับกาลเวลา