คืนอิสรภาพ ‘นกกระเรียนไทย’

คืนอิสรภาพ ‘นกกระเรียนไทย’

การกลับมาของนกกระเรียนพันธุ์ไทย หลังจากหายไปเมื่อ 50 ปีก่อน พร้อมการอนุรักษ์บนฐานของการอยู่ร่วมกัน

วินาทีที่เจ้าหน้าที่ปล่อยลูกนกกระเรียนโตเต็มวัยโบยบินสู่อิสรภาพครั้งแรก นอกจากจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับประชาชนที่มารอชม ยังเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เหล่านกกระเรียนพันธุ์ไทยก็ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

หลังจากนี้เป็นการเดินทางบนโลกกว้าง มีเพียงพื้นที่ 3,876 ไร่ ของทะเลสาบน้ำจืด ที่เรียกกันว่า 'อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก' ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีนกประจำถิ่นและนกอพยพตามฤดูกาลจำนวนมากเวียนมาสร้างถิ่นอาศัย จึงไม่แปลกที่จะถูกจัดให้เป็นเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าในเวลาต่อมา

แม้เราจะทราบกันดีว่าเส้นแบ่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้นจะช่วยปกป้องและดูแลสัตว์น้อยใหญ่ในพื้นที่ให้มีการเจริญเติบโต มีการขยายพันธุ์ ไปจนถึงเกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ แต่นกที่กำลังบินถลาอยู่นั้นอาจจะบินออกนอกอาณาเขตเมื่อไหร่ก็ได้ตามสัญชาติญาณสัตว์ ห่วงขาที่ติดอยู่กับนก จึงเป็นการป้องกันในเบื้องต้น เพื่อติดตามพฤติกรรม การหากินและถิ่นอาศัย รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยด้านการอนุรักษ์ต่อไป

 

1

 

การเดินทางของกระเรียนพันธุ์ไทย

ตามรายงานการสำรวจที่ ณัฐวัฒน์ แปวกระโทก หรือ 'เติ้ล' นักวิจัยภาคสนาม สังกัดสำนักอนุรักษ์และวิจัยองค์การสวนสัตว์ สวนสัตว์นครราชสีมา เล่าว่า เดิมเราพบนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก่อนจะสูญพันธุ์เมื่อราวๆ 50 ปีได้ สาเหตุนั้นเติ้ลบอกว่าอาจมาจากการพัฒนาพื้นที่ชนบทสู่ความเป็นเมือง ความเจริญได้เปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของเหล่าสรรพสัตว์ เป็นสิ่งปลูกสร้างต่างๆ นั่นก็หมายความว่าจะเกิดการแผ้วถาง บุกรุกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ทุกชนิด แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยหายไปจากวงโคจรนั้น คงหนีไม่พ้นการล่าสัตว์ป่าเป็นอาหารในอดีต กว่าที่วิวัฒนาการของมนุษย์จะเรียนรู้การกินเนื้อสัตว์ได้อย่างทุกวันนี้ ก็พรากนกกระเรียนพันธุ์ไทยไปจากพื้นที่เสียแล้ว

ในปี 2475 ความหวังเล็กๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้กับนักวิจัยก็คือ การพบความเคลื่อนไหวของนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากรูปถ่ายของครอบครัวๆ หนึ่งในบุรีรัมย์ ที่บังเอิญถ่ายภาพติดเจ้านกกระเรียนเต็มๆ หนึ่งตัว ก่อนที่ราวๆ ปี 2520 จะเริ่มเก็บผลสำรวจไม่ได้ จึงถือว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยมีสถานภาพสูญพันธุ์ในธรรมชาติไปแล้ว แต่ยังพบในแหล่งเพาะเลี้ยงต่างๆ 

ต่อมาในปี 2532 สวนสัตว์นครราชสีมา ก็ได้รับบริจาคนกกระเรียนจากชาวบ้านตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา เขตพื้นที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ประมาณ 20 ตัว ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศพระราชบัญญัติสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง 15 ชนิด ขึ้นในปี 2535 โดยหนึ่งในนั้นมีนกกระเรียนอยู่ด้วย หากใครที่มีไว้ในครอบครองจะถือว่าทำผิดกฎหมาย

“ช่วงนั้นสวนสัตว์เองยังไม่มีองค์ความรู้ใดๆ ในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์นกกระเรียนที่มีอยู่ จึงเป็นเพียงการรับมาเลี้ยงปกติ แต่หลังจากมีการสำรวจพบว่า นกกระเรียนเป็นสัตว์ป่าสงวนที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เราในฐานะที่มีแหล่งต้นพันธุ์จึงคิดว่าควรมาทำอะไรให้เกิดประโยชน์ดีกว่า เพื่ออนุรักษ์เขาอยู่ในธรรมชาติได้ มากกว่าการนำเขามาโชว์ในสวนสัตว์อย่างเดียว”

 

6

จำลองไข่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

โครงการวิจัยแรกๆ จึงเป็นการเพาะขยายพันธุ์ โดยการจับคู่นกให้เขาผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ เพื่อเพิ่มปริมาณลูกนกกระเรียนให้มากขึ้น และมีการทำวิจัยเรื่องการผสมเทียมอีกด้วย เป็นทางเลือกในการเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์

กระทั่งปี 2552 ก็ได้รับทุนวิจัยโครงการวิจัยเตรียมความพร้อมเพื่อการปล่อยนกกระเรียนกลับสู่พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ โดยทำการสำรวจและคัดเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นได้ปล่อยนกกระเรียยนชุดแรกในปี 2554 ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก 10 ตัว และที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ อีก 15 ตัวในปีต่อมา

“หลังจากปล่อยได้เพียง 1 ปี ก็พบพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติ และการเข้ามาของโครงการ Flora and Fauna Project ในปี 2558 ที่เผยแพร่องค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งพัฒนากระบวนการผลิตสินค้ากษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชน”

 

S__11116626

เติ้ล - ณัฐวัฒน์ แปวกระโทก นักวิจัยภาคสนาม สังกัดสำนักอนุรักษ์และวิจัยองค์การสวนสัตว์ 

 

จากงานวิจัยสัตว์ป่าสู่โครงการอนุรักษ์

ลักษณะทางชีววิทยาของเจ้านกกระเรียนพันธุ์ไทย หรือ Eastern Sarus Crane เป็นนกพันธุ์เอเชีย 3 สปีชีส์ ที่หน้าตาละม้ายคล้ายกัน ต่างกันเพียงถิ่นที่ยู่อาศัย ได้แก่ นกกระเรียนสายพันธุ์อินเดีย (Indian Sarus Crane) สูงที่สุดในบรรดาสามชนิดพันธุ์ย่อยนี้, นกกระเรียนสายพันธุ์ไทยหรือสายพันธุ์เอเชียตะวันออก (Eastern Sarus Crane) ชนิดนี้พบง่ายที่สุด และนกกระเรียนสายพันธุ์ออสเตรเลีย (Australian Sarus Crane) ซึ่งตัวเล็กที่สุด

จากการศึกษาของเหล่านักวิจัยคนแล้วคนเล่า เติ้ลคือหนึ่งในนั้นที่เล่าให้เราฟังถึงวิถีของนกกระเรียนในบ้านเราอย่างเต็มใจ เขาบอกว่านกชนิดนี้เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ พูดง่ายๆ ว่าเป็นนกน้ำ ด้วยขนาดตัวที่สูงใหญ่กว่านกบินได้ทั่วไปราว 150-180 ซม. และมีน้ำหนักร่วม 10 กิโลกรัม เขาจึงไม่เกาะบนต้นไม้ และทำรังวางไข่บนพื้นดิน หลายคนถามว่า น้ำไม่ท่วมรังหรืออย่างไร เติ้ลเล่าต่อว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาติญาณสัตว์ในการหยั่งรู้ธรรมชาติ จากที่ได้ติดตามดูการวางไข่ของมัน วันนั้นนกสุมหญ้าทั้งวัน พอรุ่งสางปรากฏว่าฝนตก แล้วน้ำก็ขึ้นสูงเรื่อยๆ รังที่เขาสร้างไว้เมื่อคืนยกลอยสูงเหนือระดับน้ำอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็ยังหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นตัวชี้วัดว่า อะไรทำให้นกรู้ล่วงหน้าถึงสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น

เหตุใดจึงต้องเป็นบุรีรัมย์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่คืนนกสู่ธรรมชาตินั้น นักวิจัยหนุ่มคนเดิม เล่าว่า บุรีรัมย์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งในหกที่ติดโพลของโครงการคัดเลือกพื้นที่สำหรับปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติ

“เราคัดเลือกจากความพร้อมของพื้นที่ และอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องมวลชน ทัศนคติของคนในพื้นที่แวดล้อม ที่นี่มีคะแนนส่วนนี้มากเป็นอันดับหนึ่ง และยังเป็นแหล่งหญ้าแห้วทรงกระเทียม เป็นพืชตระกูลกก มีหัวหยั่งลงดินเป็นห่วงเก็บอาหารเช่นเดียวกับเจ้าสมหวังที่เรากินกัน ซึ่งนกจะกินในช่วงแล้ง ทดแทนสัตว์เล็กๆ ทำให้ตอนนี้บุรีรัมย์เป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอยู่ในธรรมชาติ”

 

5

พ่อแม่พันธุ์นกกระเรียนไทย ที่ศูนย์อนรุักษ์ฯ

 

สวนสัตว์คือที่พึ่งสุดท้าย

การเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยของสวนสัตว์นครราชสีมา เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์ 27 ตัว ในปี 2533 ลองผิดลองถูกกว่า 7 ปี จึงได้ลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย 2 ตัวแรก ในปี 2540 ก่อนที่จะได้นำเทคนิคการผสมเทียมจากมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล จากสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้เพื่อประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ และเป็นที่น่ายินดีอีกครั้งในปี 2559 เมื่อพบการวางไข่จากพ่อแม่พันธุ์ที่ปล่อยสู่ธรรมชาติตัวแรกในนาข้าวของชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของชื่อ 'น้องนาข้าว' และอีกตัวชื่อว่า 'น้องมะพร้าว'

ส่วน ‘น้องเหินหาว’ ที่เป็นมาสคอตงานกีฬา Buriram Games ที่ผ่านมา ความจริงแล้วเป็นชื่อพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นนกระเรียนในโครงการทดลองปล่อยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติของที่นี่ ซึ่งเป็นลูกนกที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์ที่ทรงพระราชทานแก่องค์การสวนสัตว์

ปัจจุบันสวนสัตว์นครราชสีมา ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์การเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 30-40 คู่ และมีอัตราการเกิดของลูกนกเฉลี่ย 20 ตัวต่อปี

มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยสู่ธรรมชาติได้มากถึง 105 ตัว มีชีวิตรอดในธรรมชาติ 71 ตัว และทำให้มีลูกนกกระเรียนเกิดในธรรมชาติไม่น้อยกว่า 15 ตัว

 

S__11133052

ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย

ด้วยรูปร่างเพรียวบาง สูงสง่าดุจหงส์ ทีท่าการเกี้ยวพาราสีมีเอกลักษณ์ ตัวเมียชูคอตั้ง ตัวผู้กระพือปีกรับพร้อมเปล่งเสียงแสดงความเป็นเจ้าของ ลำตัวสีเทาเรียบง่าย มองไปจะเห็นตุ่มหนังสีแดงชัดเจนกระจายไปบริเวณแก้ม ท้ายทอย และลำคอส่วนบน นกกระเรียนพันธุ์ไทยจึงนับว่าเป็นนกที่สง่างามติดอันดับต้นๆ แต่ในความงามต่างแฝงไปด้วยความกังวลในการอยู่ร่วมกันของนกกระเรียนไทยและชาวนา เพราะเจ้านกกระเรียนใช้พื้นที่หากินมาก นอกจากในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ยังลามไปที่นาข้าวรอบๆ ด้วย ซึ่งปัญหาการใช้สารเคมีของชาวนาอาจส่งผลร้ายต่อนก ยังโชคดีที่ชาวนาเขาเริ่มทำเกษตรอินทรีย์กันแล้ว คงจะเบาใจไปได้บ้าง

หากมองถึงการอยู่ร่วมกันในระยะยาวจะเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ นอกจากชาวนาจะหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารแล้ว ‘ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย’ แห่งนี้ จะเป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เปิดโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้มีแหล่งเรียนรู้ศึกษาการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย และยังเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพลังการร่วมมือกันของชุมชน

ในส่วนของภาคเอกชนอย่างทรูคอปเปอร์เรชั่น โดย ดร.ธีรพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะบริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรูคอปเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์อีกแรง 

"การทำให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร เราจึงใช้ศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่มีต่อยอดสู่แอพพลิเคชั่นดูนก นกกระเรียนเขาก็จะบินตามธรรมชาติ และอย่างที่ผู้ว่าฯพูดว่าเราต้องสร้างคุณค่าด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะไปดูนกได้ที่ตรงไหน ตอนนี้แอพพลิเคชั่นนี้สามารถรายงานได้ว่าเจอนกที่บริเวณไหน พอเรากดเข้าไปจะมีเส้นทางให้เลยว่าต้องขับรถไปส่วนไหนของพื้นที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างความตระหนักรู้ให้คนมีส่วนร่วม

 

S__3235941

ดร.ธีรพล ถนอมศักดิ์ยุทธ กล่าวในงานเปิดศูนย์อนุรักษ์ฯ

 

นกอยู่รอด คนอยู่ได้ ชุมชนมีสุข

ปัจจุบัน นกกระเรียนพันธุ์ไทยสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ตามธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือของเกษตรกรในพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวายสอ จังหวัดบุรีรัมย์ ทองพูน อุ่นจิตต์ ผู้ใหญบ้านสวายสอ เล่าว่า เราเป็นชุมชนต้นแบบที่ยึดหลักการทำเกษตรอินทรีย์ ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าว เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันระหว่างสัตว์ป่า เกษตรกร และทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเพื่อการอนุรักษ์ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติ

แน่นอนว่า กว่าที่โครงการต่างๆ จะเข้าที่เข้าทาง ย่อมมีอุปสรรคเป็นบททดสอบเสมอ ผู้ใหญ่บ้านสวายสอ เห็นปัญหาชัดเจนว่า ความขัดแย้งของคนในชุมชนกับสัตว์ในระยะแรกขาดการสื่อสารระหว่างกัน ทว่าความเคลือบแคลงใจของชาวนาในเรื่องการหากินของนกกระเรียนนั้นก็ถูกคลี่คลายลง เพราะความจริงแล้วนกกระเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้กินข้าวเป็นหลัก แต่จะกินวัชพืชของข้าวมากกว่า เช่นพวกปู หญ้า ปลาตัวเล็กๆ หอยตัวเล็กๆ นกกระเรียนจึงช่วยกำจัดวัชพืชมากกว่ามาทำลายข้าวในนา แต่ด้วยขนาดเท้าที่ใหญ่ เมื่อย่ำในนาข้าวจึงทำให้ต้นข้าวล้มบ้าง ซึ่งผู้ใหญ่บ้านสวายสอบอกว่า ยังไม่ถือว่าเป็นเปอร์เซนต์ความเสียหายที่มากนัก

“เราทำงานร่วมกันกับทีมสวนสัตว์ ออกให้ความรู้เรื่องนกกับคนในชุมชน ทุกวันนี้คนในชุมชนก็ให้ความสำคัญกับนกมากขึ้น และปกติกลุ่มของเราจะทำข้าวอินทรีย์กันอยู่แล้ว ก็เลยนำชื่อของนกกระเรียนมาเป็นชื่อแบรนด์ของข้าวชื่อว่า สารัช เชน สร้างเรื่องราวจากภูมิปัญญาที่มี ตอนนี้เกษตรกรเองจะมองเรื่องของการท่องเที่ยวมากกว่า เวลาเจอนกที่ไหนเขาก็จะส่งมาบอกแล้วเราก็พานักท่องเที่ยวไปชมในที่นั้นๆ ทำให้พวกเขามีรายได้อีกหนึ่งทาง”

 

3

นกกระเรียนไทยโบยบินสู่อิสรภาพ

นกกระเรียนยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติได้ดี เพราะเขาจะไม่เข้าใกล้แหล่งอาหารที่มีสารเคมี เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่การันตีได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรที่นี่เป็นออแกนิคแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

ความสำเร็จในกระบวนการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาตินั้น ยังไม่ถือเป็นจุดสิ้นสุด แต่การเสริมสร้างให้ชุมชนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ‘นกอยู่รอด คนอยู่ได้ ชุมชนมีสุข’ นี่เองที่จะประคับประคองทั้งสองฝ่ายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน