ไอซ์แลนด์แห่งจินตนาการ

ไอซ์แลนด์แห่งจินตนาการ

ไอซ์แลนด์ เป็นที่เดียวในโลกที่มีรอยแยกกลางแอตแลนติกพาดผ่านขึ้นมาบนบก

 

ไอซ์แลนด์เป็นหมุดหมายการเดินทางที่ดูจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่น่าแปลกใจ เพราะภูมิทัศน์ มันตระการตาขนาดทำกล้องตกยังไงก็ถ่ายออกมาสวย

 

นี่คือดินแดนแห่งน้ำตกสูงใหญ่ไหลตกลงมาจากผาตั้ง บางแห่งเป็นผาแท่งผลึกหินเรียงเป็นกำแพงสูงใหญ่ เป็นดินแดนแห่งชายหาดสีดำเมี่ยม มีก้อนน้ำแข็งแตกลอยมาเกยเหมือนก้อนเพชร

 

เป็นดินแดนแห่งน้ำพุร้อนและธารน้ำแข็ง มีแอ่งน้ำร้อนสีฟ้าแปร๊ดให้แช่ อากาศหนาวเย็นให้ใส่เสื้อขลิบขนสัตว์ถ่ายเซลฟี่ลงไอจี

 

และถ้าโชคดียังอาจได้เห็นแสงเหนือออโรร่า

 

แค่ความอลังการของภูมิประเทศ ก็เพียงพอที่จะทำให้ตื่นตะลึง เพราะบางทีมันก็เหมือนเป็นอะไรที่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้ แต่ถ้าเราเสริมจินตนาการเข้าไปอีกนิด ความตระหนักในปรากฎการณ์น่าอัศจรรย์ใจตรงหน้าจะยกระดับไปอีกหลายเลเวล มันเป็นกุญแจเปิดประตูไปสู่วันเดอร์แลนด์ ความน่าพิศวงยินดีของโลกใบนี้

 

ฉันเพิ่งกลับมาจากไอซ์แลนด์กับทัวร์เพื่อนจัดกลุ่มเล็กๆ 8 คน ตอนเพื่อนส่งโปรแกรมมาให้ดู ฉันก็ขอเติมสถานที่แวะไปอีกที่หนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ฉันอยากเห็นมากที่สุด ดูแผนที่แล้วมันใกล้กับบลูลากูนที่นักท่องเที่ยวไทยและจีนชอบไปแช่สปาน้ำร้อน เลยเสนอว่าให้ส่งคนอื่นๆ ลงที่สปาในระหว่างที่ฉันยืมรถไปดูปรากฎการณ์ทางธรณีที่อยากดู พูดให้ชัดกว่านี้ก็ต้องบอกว่ามันเป็นสิ่งที่อยากสัมผัสมากที่สุดในไอซ์แลนด์ พลาดไม่ได้เลยทีเดียว

 

สิ่งนั้นคือ รอยแยกมหาสมุทรแอตแลนติก

 

ถ้าดูแผนที่โลก เราจะเห็นรูปร่างโค้งเว้าของแผ่นดินอาฟริกา-ยุโรป สอดรับกับแผ่นดินทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้ เสมือนเป็นชิ้นจิ๊กซอว์ที่เคยต่อกัน และครั้งหนึ่งเมื่อ 180 ล้านปีก่อนมันก็เคยติดเป็นแผ่นดินเดียวกันจริงๆ ก่อนที่รอยร้าวใต้พิภพจะดันมันออกจากกัน ถ่างห่างไปเรื่อยๆ จนช่องแยกกลายเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก ถ้าไปกูเกิ้ลหาดูแผนที่แผ่นดินใต้สมุทร จะเห็นรอยแยกนี้อยู่ตรงกลาง และทุกวันนี้มันยังคงถ่างออกจากกันไปเรื่อยๆ ในอัตราความเร็วประมาณปีละ 2 เซนติเมตร

 

ลาวาใต้พิภพจะผุดขึ้นมาตรงแนวกลางร่อง ขอบรอยแยกจึงมีลักษณะพูนขึ้นเป็นสันก่อนจะถูกผลักแยกห่างออกไป กลายเป็นเทือกเขายาวก้นมหาสมุทร เรียกว่า Mid-Atlantic Ridge (หรือจะเรียกว่า Rift ที่แปลว่ารอยแยกแทนก็ได้)

 

ความพิเศษของไอซ์แลนด์ ก็คือ มันเป็นที่เดียวในโลกที่รอยแยกกลางแอตแลนติกจะพาดผ่านขึ้นมาบนบก ที่จริงมันก็เกิดขึ้นมากับปรากฎการณ์รอยแยกนี้แหละ แต่มันเป็นจุดที่ธรณีคึกคักมากเป็นพิเศษ เกิดเป็นกระเปาะลาวา (lavaplume) เมื่อประมาณ 70 ล้านปีก่อน ทีแรกก็มีแนวแผ่นดินเชื่อมต่อเป็นสะพานระหว่างกรีนแลนด์บนผืนทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรป แต่ที่สุดก็ตัดขาดออกกลายเป็นเกาะโดดๆ กลางรอยแยกแอตแลนติกเมื่อประมาณ 16-18 ล้านปีก่อน

 

รอยแยกนี้ผ่าเฉลียงกลางเกาะไอซ์แลนด์ บางส่วนเป็นหุบเหวร่องลึก บางส่วนเป็นทะเลสาบน้ำท่วมยาว สามารถใส่ชุดประดาน้ำไปดำดูได้ แต่มีอยู่บางส่วนที่เป็นพื้นแผ่นดินที่เราเดินลงไปเหยียบได้ เช่น จุดที่ฉันอยากจะแวะไป เรียกว่าสะพานระหว่างทวีป (bridgebetweencontinents)จุดนี้เป็นที่ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในอังกฤษ มักจะพานักเรียนมาทัศนศึกษาธรณีวิทยา และถ่ายรูปนักเรียนทั้งชั้นยืนเรียงเป็นแถวพาดรอยแยก

 

ปรากฏว่า เพื่อนร่วมทริปทุกคนตกลงไปด้วยกันทั้งหมด ไม่มีใครไปบลูลากูน (ซึ่งต้องจ่ายตังค์หลายพันบาท) เรียกว่าออกจากสนามบินก็ตรงดิ่งมาคารวะสิ่งที่ฉันถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่หัวใจของไอซ์แลนด์เลย

 

ทีแรกฉันเกรงใจทุกคนมาก อีเนิร์ดบ้าขอมาดูอะไรก็ไม่รู้ ดูเผินๆ ก็เหมือนรอยไถใหญ่ๆ บนดิน จะตื่นเต้นฟินเว่อร์วังอะไรนักหนา แต่ก็ลองอธิบายให้เพื่อนใหม่ร่วมทางดู ถามก่อนว่ารู้จักรอยแยกกลางมหาสมุทรแอตแลนติกไหม-ไม่รู้จัก ไม่เป็นไรเล่าแต่ต้นเอาก็ได้ เปิดแผนที่มหาสมุทรให้ดูบนจอมือถือ เล่าสั้นๆ พอสังเขป และสรุปให้พิจารณาดูว่า ปกติเราไม่มีทางเหยียบรอยแยกนี้ได้เลยเพราะมันอยู่ก้นบึ้งมหาสมุทร 

 

แต่คิดดูสิ นี่เรากลับยืนอยู่บนมัน ไม่มีที่ไหนในโลกแล้วที่เราจะเหยียบมันได้นอกจากไอซ์แลนด์ที่นี่ที่เดียวจริงๆเอื้อมไปข้างนี้ก็แตะทวีปอเมริกา เอื้อมไปข้างโน้นก็แตะยุโรป ห่างกันแค่สิบกว่าเมตร

 

กลายเป็นว่าเพื่อนใหม่ทุกคนฟินมาก สักพักหนึ่งเจ้าของโรงงานลูกชิ้นปลาสูตรโบราณหันมาบอกว่า “เออนะ ถ้าเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันก็เป็นร่องบนดินเฉยๆ แต่พอรู้อย่างนี้มันเกิดจินตนาการ มันสนุกอ่ะ”

 

แทบจะกราบยอดอก ใช่เลยพี่ ข้อแตกต่างระหว่างร่องดินกับรอยแยกแอตแลนติกคือจินตนาการ เรื่องเล่าสุดอัศจรรย์ทางธรณีให้ความหมายแก่ร่องดินที่ดูเผินๆ เหมือนจะธรรมดา ที่สำคัญคือพี่ลูกชิ้นแกเปิดรับและปล่อยให้จินตนาการของแกทำงาน

 

ประตูสู่ความวิเศษของไอซ์แลนด์อยู่ตรงนี้แหละ ความรู้และจินตนาการเป็นกุญแจไข ผ่านความว้าวตื่นตะลึงกับความงามตระการตาในเบื้องต้น โดยไม่ทำลายกลิ่นอายเทพนิยายของมัน

 

น้ำตกสูงใหญ่หล่นตรงๆ ลงมาจากแท่งผาตั้งชวนให้พิศวงว่าต้นน้ำ มันเป็นอย่างไร คือก็รู้หรอกว่ามันมาจากน้ำแข็ง แต่เรามองไม่เห็น ก็เลยปีนขึ้นไปถึงยอดตรงที่น้ำตกลงมา 

 

พอหัวเราโผล่พ้นขึ้นไป พลันโลกใหม่ก็เปิดออกต่อหน้า มันเป็นที่ราบสูง แม่น้ำที่ตกลงมาเป็นน้ำตกเลื้อยยาวมาจากดินแดนลิบลับสุดสายตา ชวนให้เดินตาม อารมณ์มันเหมือนแจ็คปีนต้นถั่ววิเศษผ่านแนวเมฆขึ้นไปถึงโลกของยักษ์

 

ตัวธารน้ำแข็งเอง ก็ไม่ได้เป็นเพียงลิ้นน้ำแข็งยื่นออกมาจากหุบ แต่ธารน้ำแข็งที่ยังมีชีวิต-หมายความว่ามันหนาพอ หนักพอ ที่จะกดดันตัวเองให้เคลื่อนที่ลงเขาไป - มีพฤติกรรมละม้ายคล้ายแม่น้ำเหลวๆ มากกว่าที่เราคิด เมื่อมันผ่านช่องเขามีสัน มันก็บิดตัวเป็นกลีบน้ำแข็งยักษ์หยักๆ ไม่ต่างจากน้ำไหลกระฉอกผ่านแก่งหิน และเมื่อมันไหลลงเนินมันก็ราบเรียบเหมือนน้ำไหลทางราบหรือผ่านช่วงลึกเว้าเป็นวัง

 

แต่ธารน้ำแข็งไอซ์แลนด์กำลังบางลงเรื่อยๆ ลิ้นน้ำแข็งก็หดสั้นเข้าไปทุกที จนธารสายหนึ่งหยุดเคลื่อนตัวแล้ว ถือว่ามันตาย ดังที่เราเห็นข่าวชาวไอซ์แลนด์ประกอบพิธีงานศพไว้อาลัยธารน้ำแข็ง

 

ในขณะที่ภูมิประเทศยิ่งใหญ่เล่าเรื่องธรณี มองลงมาบนพื้นส่องดูใบพืชต้นจิ๋วๆ ก็จะเห็นความลับในการอยู่รอดของพวกมัน ใบไม้ที่ยังไม่แห้งเหี่ยวไปทุกใบมีขนปุกปุยกันหนาว ขึ้นเบียดกันแน่นเรี่ยดินหลบลม นกเรดวิงตัวอ้วนพีสาละวนจิกเบอรี่ลูกสุดท้ายแห่งปีกินจนไม่สนใจมนุษย์ที่ยื่นมือถือออกไปถ่ายรูปมันได้ใกล้ๆ

 

เมื่อเรามีจินตนาการให้กับชีวิตต่างสายพันธุ์และพลังธรรมชาติที่กำกับขับเคลื่อนโลกที่เรามาเยือน เราเรียนรู้ที่จะลดความอหังการลง และสังเกตธรรมชาติมากขึ้น

 

รู้สึกขอบคุณที่ได้มีโอกาสรู้จักกัน