Parasite กับแผนยุทธศาสตร์ชาติเกาหลีใต้

Parasite กับแผนยุทธศาสตร์ชาติเกาหลีใต้

ภาพยนตร์ตัวชี้วัดความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ที่ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย แต่มาจากการวางแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

 

ผลการประกาศรางวัลออสการ์ประจำปี 2020 ปรากฎว่าภาพยนตร์เกาหลีใต้เรื่อง Parasite สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ชนะรางวัลใหญ่สุดของงานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 92 ปีของออสการ์

Parasite น่าจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมานานร่วมยี่สิบปี ไม่ว่าจะเป็นเพลง ละครทีวี หรือภาพยนตร์

อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศนี้ ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย แต่มาจากการวางแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

 

ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อน หลังจากทั่วโลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เกาหลีใต้ที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ก็ประสบปัญหาล้มละลายทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากประเทศไทย อุตสาหกรรมหนักของเกาหลี ไม่ว่าก่อสร้าง เดินเรือ รถยนต์ เคมี พากันเจ๊งกันถ้วนหน้า แต่เกาหลีปรับตัวและฟื้นขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็ว

ความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมบันเทิง

เวลานั้นพวกเขาเริ่มคิดกันว่า ทำไมต้องผลิตรถยนต์ฮุนไดถึงประมาณ 1,500,000 คัน เพื่อจะทำรายได้ให้เท่ากับภาพยนตร์จูราสสิคพาร์คเพียงเรื่องเดียว และยอดขาย 1,500,000 คัน เป็นยอดสองเท่าของจำนวนรถที่ขายได้ในแต่ละปีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแทนที่จะผลิตรถยนต์ หรืออุตสาหกรรมหนัก ทำไมไม่มาสนใจอุตสาหกรรมบันเทิง แหล่งรายได้มหาศาลที่รออยู่

รัฐบาลในเวลานั้นจึงได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติว่า จะพัฒนาอุตสาหกรรมด้านบันเทิงมาเป็นรายได้หลักของประเทศได้อย่างไร

ช่วงเวลานั้น ผมจำได้ว่า เพื่อนคนหนึ่งเป็นนักเขียนชื่อดังได้รับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี ไปร่วมสัมมนาร่วมกับผู้คนจากวงการบันเทิงทั่วโลกหลายสิบคน มาช่วยกันระดมสมองว่า หากเกาหลีใต้จะผลิตละครภาพยนตร์ เพลง ออกขายทั่วโลก ควรจะเป็นอย่างไรที่โดนใจคนทั่วโลก

พวกเขาทำวิจัยกัน หาความรู้ หารสนิยมของชาวโลก ก่อนจะผลิตรายการบันเทิงออกสู่ตลาดโลก เพื่อแข่งกับยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นฮอลลีวู้ด ญี่ปุ่น หรือจากยุโรป

หลังจากนั้นไม่นาน เราก็จะเห็นละครชื่อดัง หรือ K-Dramas อย่าง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” จนมาถึง วง Girls’ Generation เพลงกังนัมสไตล์ วง BTS และ Blackpink เห็นเพลง แบบ K-Pop มากมาย ศิลปินชื่อดัง และภาพยนตร์เกรดเอ ออกมาบุกฉายแถบเอเชีย ก่อนจะลามไปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย

ดูเหมือน Korea Wave ระบาดไปทั่วโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา

อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี มีชื่ออีกอย่างว่า Korea Wave เป็นคำศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้สื่อในวัฒนธรรมเกาหลีที่เพิ่มสูงขึ้น ต่อมามีการเรียกปรากฏการณ์ใหม่นี้ว่า “Hallyu” ซึ่งแปลว่า “Flow of Korea” หรือกระแสเกาหลีฟีเว่อร์

รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้แค่วางแผนยุทธศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังเป็นแหล่งสนับสนุนทุกด้านให้กับผู้ผลิต อาทิ แหล่งเงินทุน งบประมาณ หรือจับคู่บริษัทยักษ์ใหญ่ให้เป็นสปอนเซอร์ผู้ผลิตบางราย ในการผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และนักร้องดนตรี การแก้กฎหมายที่อำนวยความสะดวกในการผลิตอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงงานวิจัยการผลิตเนื้อหาที่แปลกใหม่ออกไป จนทำให้สามารถแข่งกับ
ประเทศอื่นๆ ได้

มีการตั้งหน่วยงานเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงมากมาย โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นตัวหลัก รวมถึงหน่วยงานวิจัยการตลาดว่าจะขับเคลื่อนสินค้าเหล่านี้ออกไปทั่วโลกได้อย่างไร

 

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 รัฐได้ออกมาตรการลดภาพยนตร์ต่างประเทศ สนับสนุนให้คนดูภาพยนตร์ฝีมือคนในประเทศมากขึ้น บังคับให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์เกาหลีอย่างน้อยราว 100 วันต่อปี เป็นการสนับสนุนผลผลิตของคนในประเทศ

บรรดาศิลปิน ดารา นักร้อง ทั้งหลาย กว่าจะก้าวขึ้นมาสู่ชั้นแนวหน้า ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง มีวินัยและเข้มแข็ง ตามแบบฉบับของคนเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับอาชีพของคนที่อยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่ผู้กำกับ ช่างกล้อง คนเขียนบท นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ ล้วนแต่ได้รับการอบรมเคี่ยวกรำกันเต็มที่ เพราะพวกเขาทราบดีว่า การจะไปยึดครองพื้นที่บันเทิงแทนรายใหญ่ที่อยู่มาก่อนนั้น คุณภาพและความสุดยอดของสินค้าคือตัวชี้ขาด

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมบันเทิงที่ส่งออกไปทั่วโลก ได้นำเงินเข้าประเทศประมาณปีละ 6-8 แสนล้านบาท และคาดว่ารายได้จากบันเทิงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ของประเทศ

Parasite คือตัวอย่างล่าสุดและประสบความสำเร็จสูงสุดของแผนยุทธศาสตร์ชาติเกาหลีใต้ ที่ดำเนินต่อเนื่องกันมา โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนเอกชนเต็มที่

มองกลับมาที่ แผนยุทธศาสตร์ชาติไทย 20 ปี มีอะไรเป็นรูปธรรมมั่ง