'โควิด-19' กับ วงการดนตรีคลาสสิก

'โควิด-19' กับ วงการดนตรีคลาสสิก

ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แล้ววงการเพลงคลาสสิกทั้งระดับโลกและในไทย ได้รับผลอย่างไรบ้าง

 

ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของ ไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นมากมาย ขยายไปทั่วทุกวงการ การดำเนินชีวิตหลายๆ อย่างของประชาชนทั่วไปต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่คาดคิดมาก่อน และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะต่อเนื่องไปอีกยาวนานเท่าไร

เป็นการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถคาดการณ์ หรือควบคุมได้ ก่อเป็นอุปสรรค หรือการคุกคาม ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทุกวงการต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

วงการดนตรีคลาสสิกก็เช่นเดียวกัน กิจกรรมหนึ่งของดนตรีคลาสสิกคือ การแสดงดนตรีต่างๆ เป็นการมารวมตัวของผู้ชมผู้ฟังจำนวนมากมาย ภายในหอแสดงดนตรี โรงแสดงอุปรากร และการแสดงกลางแจ้ง

ผู้เขียนติดตามข่าวสารผลกระทบ และการปรับตัวของวงการดนตรีคลาสสิก เพื่อรับมือกับโควิด-19 ของทั้งศิลปินนักดนตรี, วงออร์เคสตรา, วงเชมเบอร์, องค์การจัดการแสดงดนตรีคลาสสิกและอุปรากร เพื่อสะท้อนภาพรวม (บางส่วน) ในช่วงวิกฤตโลกนี้

เริ่มจากในบ้านเรา ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประกาศยุติการแสดงต่างๆ ชั่วคราวภายในหอประชุมใหญ่และหอประชุมเล็ก ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ทำให้คอนเสิร์ตต่างๆ ที่จะแสดงภายในศูนย์วัฒนธรรม มีอันต้อง ‘ยกเลิก’ การแสดง หรือไม่ก็ต้องเลื่อนการแสดงออกไป

ฉะนั้นคอนเสิร์ตจัดเป็นประจำ ภายในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ของวง รอยัล บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ที่เหลืออยู่ จึงต้องยกเลิกการแสดงไปอย่างน่าเสียดาย

คอนเสิร์ตล่าสุดน่าจะเป็นการแสดงเมื่อวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม เดี่ยวเปียโนบทเพลง Rhapsody in Blue ผลงานการประพันธ์ของเกอร์ชวิน โดยนักเปียโนหนุ่มไทย ภูมิ พรหมชาติ ซึ่งได้รับเสียงปรบมือ ชื่นชมอย่างท่วมท้น

เช่นเดียวกับการบรรเลงบทเพลง ซิมโฟนี หมายเลข 3 ของ คอปแลนด์ อำนวยเพลงโดย มิเชล ทิลคิน ผู้อำนวยการดนตรีของวง รอยัล บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมผู้ฟังในค่ำคืนนั้นได้เป็นอย่างมาก

--------------------------------

การ ‘ยกเลิก’ การแสดงคอนเสิร์ตและอุปรากร หรือ ‘การเลื่อน’ การแสดงจากผู้จัดการแสดงบางราย ได้แจ้งกำหนดการแสดง การเปิดหอแสดงดนตรี การเปิดโรงแสดงอุปรากรครั้งต่อไปไว้ล่วงหน้า โดยคาดการณ์ (เอาเอง) และมองโลกในแง่ดีว่า ผลกระทบจากโควิค-19 น่าจะสงบ ลดน้อยลงโดยเร็ว ล้วนเป็นข่าวสารที่ผู้สนใจส่วนใหญ่ได้รับทราบอยู่ในขณะนี้

อาทิ วง รอยัล คอนเสิร์ตเกบาว ออร์เคสตรา แห่งกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกาศยกเลิกการแสดงทุกรายการตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม นี้

การแสดงของวง รอยัล คอนเสิร์ตเกบาว ออร์เคสตรา ภายใน คอนเสิร์ตเกบาว ฮอลล์ หนึ่งในหอแสดงดนตรีที่มีระบบเสียงดีที่สุดในโลก แต่อาจเป็น ‘อุปสรรค’ สำหรับศิลปินดนตรีคลาสสิกอาวุโส ‘สูงวัย’ ที่ต้องขึ้นลงบันไดสูง ระยะทางพอสมควร จากด้านหลังเวทีมาสู่หน้าเวทีเพื่อแสดง และเพื่อตอบรับเสียงปรบมือหลังจบการแสดง ซึ่งต้องเดินขึ้นลงบันไดอีกหลายเที่ยว

แต่ละปีจะมีศิลปินนักดนตรี, วาทยกร, นักร้อง ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงร่วมกับวง รอยัล คอนเสิร์ตเกบาว ออร์เคสตรา กว่าร้อยชีวิต ปีนี้ มีอันต้องยุติไปหนึ่งเดือน หรืออาจยาวนานกว่านั้น จากไวรัสโควิค-19

ส่วนซีกประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม วง ซีแอตเทิล ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ได้ยกเลิกการแสดงต่างๆ ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ ที่น่าสนใจคือ ทางวงยังคงมีกิจกรรมดนตรีต่างๆ สู่ผู้ชมผู้ฟัง ด้วยความมุ่งมั่นของวงที่ต้องการให้กำลังใจ ปลอบขวัญ นำความสุขทางดนตรีสู่ประชาชน ที่ต้องผจญกับวิกฤตด้านสุขภาพเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้

ผ่านการใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ ด้วยการนำวีดิโอบันทึกการแสดงดนตรีของวง รวมถึง ‘การถ่ายทอดการแสดงสด’ บางคอนเสิร์ต ออกเผยแพร่ให้ชมและฟังฟรี ซึ่งจะดำเนินไปจนกว่าจะเปิดการแสดงได้อีกครั้งในหอแสดงดนตรี เบนาโรย่า

อเล็กซานเดอร์ ไวต์ รองหัวหน้ากลุ่มทรัมเปต กล่าวไว้น่าฟังว่า “ในฐานะนักดนตรี พวกเราจะร่วมแรงร่วมใจกันทั้งในยามสุขและยามทุกข์ เพื่อสร้างสรรค์ประชาคมดนตรี เพื่อชุมชนของเรา เพื่อเป็นของขวัญ ของปลอบขวัญ แก่ชาวซีแอตเทิล และประชาชนทั่วโลก ผ่านภาษาด้านศิลปะที่เราสันทัดที่สุด คือดนตรี”

 

อิตชาค เพิร์ลแมน

ยิตซาค เพิร์ลแมน

 

จากการยกเลิกการแสดงของวงออร์เคสตรา สู่การยกเลิกการแสดงของศิลปินเดี่ยวดนตรีคลาสสิกหลายคน อาทิ ยิตซาค เพิร์ลแมน นักไวโอลินขาพิการชื่อดัง ฝากผลงานการแสดงคอนเสิร์ตและสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีไว้มากมาย โดยเฉพาะแผ่นซีดี บ๊อกซ์ เซท มากมายหลายสิบอัลบั้มของเขา ผู้เขียนเคยนั่งฟังแล้วนึกรำพึงในใจว่า ยังคงมีผลงานเพลงเดี่ยวไวโอลินเพลงใดอีกบ้างไหม ที่เพิร์ลแมนไม่เคยเล่น?

นอกเหนือจากเป็นอาจารย์สอนไวโอลินที่สถาบันดนตรีจูลิอาร์ด นครนิวยอร์ค ที่เขาเคยเป็นศิษย์เก่ามาแล้ว เพิร์ลแมนยังออกทัวร์แสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวไวโอลินอย่างสม่ำเสมอ ความหวั่นวิตกจากไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ขยายไปทั่วโลกทำให้เพิร์ลแมนต้องประกาศยกเลิกการแสดงในเมืองใหญ่ 6 เมืองในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 22 มีนาคม ซึ่งผู้จัดการส่วนตัวของเขาบอกว่า

เพิร์ลแมนรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ไม่อาจเปิดการแสดงได้ เขาหวังว่าทุกคนคงจะเข้าใจ และเขาขอส่งความห่วงใย ความปรารถนาดี สู่ผู้ที่ได้ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19”

 

 

ปีเตอร์ เกลบ์ แห่งเม็ท โอเปร่า

ปีเตอร์ เกลบ์ แห่งเม็ท โอเปร่า

 

จากวงออร์เคสตราและนักดนตรีที่ต้องยกเลิกการแสดง ถึงคิวของหอแสดงดนตรี, โรงแสดงอุปรากร และศูนย์ศิลปะการแสดงดนตรี ต้อง ‘ปิด’ สถานที่ และ ‘ยกเลิก’ การแสดงเช่นเดียวกัน

อาทิ โรงแสดงอุปรากร เม็ทโทรโพลิแทน โอเปร่า นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ยกเลิกการแสดงและการฝึกซ้อมทุกการแสดงไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม นี้เช่นเดียวกัน

เม็ทโทรโพลิแทน โอเปร่า หรือในชื่อย่อว่า เม็ท เป็นโรงแสดงอุปรากรชื่อดังของสหรัฐอเมริกา องค์กรไม่เน้นกำไร มีงบประมาณจัดการแสดงแต่ละปีจำนวนมาก ผ่านหนาว ผ่านร้อน ทั้งด้านการเงิน การระดมทุน และ ด้าน ‘ตัวตน’ ทางศิลปะของนักร้อง นักดนตรีมาหลายยุค หลายสมัย

การผจญกับโควิด-19 ในปีนี้ ค่อนข้างเป็นสิ่งที่หลายคนในองค์กรเม็ทไม่เคยคาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะ ปีเตอร์ เกลบ์ หัวเรือใหญ่ของเม็ท นำพาเม็ท ฝ่าโลกยุค เทคโนโลยี ดีสรัปชั่น ด้วยการถ่ายทดสดการแสดงอุปรากร ความคมชัดระดับ เอ็ชดี สู่โรงภาพยนตร์เมืองใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา และเมืองใหญ่ทั่วโลก ทำให้การชมและฟังอุปรากรแพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิม และนำรายได้ส่วนหนึ่งสู่เม็ท

เกลบ์ บอกว่า “ถ้าหากเรายังเปิดการแสดง เราไม่สามารถป้องกัน หรือทำให้เกิดความปลอดภัยได้ทั้งกับศิลปินผู้แสดง ผู้ร่วมงานคนอื่นๆ และผู้ชมผู้ฟัง ที่อาจต้องตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงภัยทางสุขภาพ สถานการณ์นี้ นำไปสู่การตัดสินใจในครั้งนี้ครับ”

ข่าวสารสุดท้าย เกี่ยวกับ โควิด-19 และ วงการดนตรีคลาสสิก ซึ่งทำให้ผู้เขียน ‘ตกใจ’ พอสมควร เพราะติดตามผลงานการอำนวยเพลงของวาทยกรท่านนี้มาโดยตลอด

คือข่าวที่ มิร์ก้า กราซินิเท-ทีล่า (Mirga Grazinyte-Tyla) วาทยกรหญิงเชื้อสายลิทัวเนีย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการดนตรีวง ซิตี้ ออฟ เบอร์มิงแฮม ซิมโฟนี ออร์เคสตรา แห่งประเทศอังกฤษ ได้รับการตรวจสอบและพบว่า มีผลเลือดเป็นบวก ‘ติดเชื้อ’ ไวรัสโควิด-19 เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา

 

มิร์ก้า - วาทยกรหญิง

 

มิร์ก้า เป็นวาทยกรหญิง เพียงไม่กี่คนในวงการดนตรีคลาสสิก ที่ได้รับการยกย่องชื่นชม ความสามารถด้านดนตรีอย่างกว้างขวาง ภาพและเรื่องราวของเธอขึ้นหน้าปก นิตยสารดนตรีคลาสสิก แกรมโมโฟน ประเทศอังกฤษ เมื่อกลางปีที่แล้ว

การใช้ภาษาท่าทางในการอำนวยเพลงที่เปี่ยมพลัง ชัดเจน คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ทะมัดทะแมง เป็นเอกลักษณ์เด่นประการหนึ่งของมิร์ก้า

เว็บไซต์ของวง ซิตี้ ออฟ เบอร์มิงแฮม ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ระบุว่า

มิร์ก้ากำลังพักฟื้น และแยกตัวอยู่คนเดียวภายในบ้าน เราหวังให้มิร์ก้าหายจากโรคภัยโดยเร็ว และคาดว่าเธอจะกลับมาร่วมงานกับเราได้อีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคมนี้”

ผู้เขียนหวังว่า วงการดนตรีคลาสสิก และ การแสดงคอนเสิร์ต ต่างๆ จะกลับสู่ ‘ภาวะปกติ’ โดยเร็วพลันครับ