อาบลมห่มทะเลที่...ท้ายเหมือง

อาบลมห่มทะเลที่...ท้ายเหมือง

ชุ่มฉ่ำกับน้ำตกที่มีน้ำใสไหลเย็นตลอดปี แล้วไปดื่มด่ำช่วงเวลาดีๆ กับชายทะเลที่เงียบสงบของอำเภอเก่าแก่แต่อุดมสมบูรณ์ของพังงา

ปี 2523 บรรหาร ศิลปอาชา รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ครั้งกรมป่าไม้อยู่ในสังกัดกระทรวง.เกษตรฯ) บิดาของวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯท่านนี้แหละ ท่านบรรหารให้นโยบายว่า “ป่าที่จะสงวนนั้นถ้าการดำเนินการล่าช้า มีผู้บุกรุกหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินมากรายแล้ว ขอให้พิจารณาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ส่วนที่ยังเหลืออยู่และไม่เป็นปัญหา ให้พิจารณาว่าให้มีประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้หรือไม่ แล้วให้กองอุทยานแห่งชาติ เสนอความเห็นด้วย“

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจ ก็พบว่าป่าเขาลำปี เป็นป่าซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 ให้เป็นป่าไม้ถาวรของชาติ มีสภาพป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำ ทั้งในปี พ.ศ. 2498 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เคยมาเที่ยวน้ำตกลำปีแห่งนี้ด้วย กองอุทยานแห่งชาติ จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้พิจารณาในที่ประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 แต่ที่ประชุมมีมติให้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติไปพลางและให้จัดตั้งเป็นวนอุทยานไปก่อน

ต่อมาวนอุทยานเขาลำปีก็ได้ส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้น ว่าป่าเขาลำปีและหาดทรายชายทะเลท้ายเหมืองนั้น นอกจากจะมีน้ำตกลำปีแล้ว ยังมีการสำรวจพบน้ำตกอื่นๆ และมีชายหาดที่สวยงาม ที่กว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นหาดทรายขาวสะอาด เงียบสงบ มีทุ่งเสม็ดขาวและพันธุ์ไม้ชายทะเลนานาชนิดขึ้นอยู่ ตลอดจนเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายมากทางระบบนิเวศ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ซึ่งได้มีมติเห็นควรให้ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่บริเวณป่าเขาลำปีและหาดท้ายเหมือง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 เมษายน 2529 จึงนับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 52 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 57 ตารางกิโลเมตร หรือ 35,625 ไร่ เนื้อที่ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นบริเวณหาดท้ายเหมือง

1_resize

2 เครื่องจักรครั้งทำเหมืองแร่ ที่หน่วย สป.3 (ปาง)_resize

อุทยานแห่งชาติลำปี-ท้ายเหมือง คือพื้นที่สองส่วนคือป่าเขาลำปี ส่วนนี้คือแหล่งน้ำจืดชั้นยอดของอำเภอท้ายเหมือง น้ำตกลำปี น้ำตกโตนไพร ไม่เคยขาดน้ำ น้ำจืดจากป่าบริสุทธิ์ที่ไม่ถูกทำลาย น้ำสะอาดที่ได้มา ดื่มกินได้อย่างสนิทใจ นอกจากนั้นเขายังมีน้ำตกขนิม น้ำตกโตนบางปออีกด้วย

ย้อนมาฝั่งทะเลซึ่งหาดท้ายเหมืองที่กว้าง 40 เมตร และยาว 14-15 กม.นั้นถือเป็นชายหาดที่กว้างใหญ่ ยาวเหยียด และเมื่อไม่มีบ้านเรือนอยู่อาศัย จึงไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะตั้งแต่หน้าด่านตรวจของอุทยานฯขึ้นไปจนถึงเขาหน้ายักษ์ ไม่มีบ้านคนเลย มันจึงเป็นหาดทรายกว้างที่ไร้การรบกวน เต่าทะเลจึงขึ้นมาวางไข่กันแทบทุกปี อย่างปี 2563 ก็เพิ่งออกจากไข่ลงทะเลไปเมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม 2563 นี่เอง

เหตุที่ชายหาดท้ายเหมืองเป็นทะเลที่กว้างแต่ไร้กิจกรรมท่องเที่ยวเพราะเป็นทะเลลึก อันเนื่องมาจากเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่กลางทะเลกันมาก่อน เป็นแบบเรือขุดทำกันมาหลายสิบปี จนแร่ดีบุกราคาตกต่ำ และเลิกรากันไป หาดท้ายเหมืองจึงถูกทิ้งร้างจนกรมป่าไม้มาเริ่มทำเป็นอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ปี 2523 ใช้เวลา 6 ปี จึงประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ชายหาดที่มีอุทยานแห่งชาติดูแล จึงไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะจากการท่องเที่ยวหรือจากเรือประมง เต่าทะเลเขาก็รู้ เขาจึงขึ้นมาวางไข่

4.หาดท้ายเหมืองบริเวณเขาหน้ายักษ์_resize

5 เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่เมื่อปีกลาย_resize

แต่ชาวประมงนอกเขตเขาก็รู้เช่นกัน จึงมีการเดินหาไข่เต่าเอาไปขาย ในช่วงฤดูเต่าขึ้นวางไข่ซึ่งจะเป็นราวๆ ต่อปี เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงมีหน้าที่ตระเวนหาด เพื่อดูร่องรอยหลุมไข่เต่า แข่งกับคนหาไข่เต่าและ ‘เหี้ย’ ที่มันก็เดินหาไข่เต่ากินเช่นกัน ถ้าเจ้าหน้าที่หาเจอ ก็จะต้องย้ายหลุม เอาไปไว้หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เขาทำคอกกั้น กันทั้งหมา ทั้งเหี้ย ที่จะมาขุดเอาไปกิน เจ้าหน้าที่จะออกมาตรวจตลอดเวลา ราว 50-55 วัน ลูกเต่าก็จะเจาะเปลือกไข่ ดันทรายออกมา แล้วรีบเดินลงทะเล ถ้าไอ้ตัวเล็กเดินลงทะเลกลางคืนก็พอปลอดภัย แต่ถ้าเป็นกลางวัน เจ้าหน้าที่จะต้องมาเฝ้าคอยไล่อีกาและนกทะเลที่จะมาจิกกินเจ้าลูกเต่าน้อยเหล่านี้อีก

นี่คือชายทะเลที่สงบเงียบ ที่ดูสวยๆ ได้ แต่ห้ามลงเล่นน้ำเพราะคลื่นแรงและทะเลลึก จะหาชายทะเลที่กว้าง สะอาดได้แบบนี้ที่ไหน ที่นี่จึงเหมาะกับการมากางเต็นท์พักแรมแบบหลายๆ วัน เช้า-เย็น เดินเล่นชายหาดกว้างหรือวิ่งออกกำลังกาย พอสายจะขับรถไปเล่นน้ำจืด น้ำตกโตนไพร น้ำตกลำปี รัศมีไม่เกิน 10 กม. หรือออกไปตลาดท้ายเหมืองก็ห่างอุทยานฯแค่ 5 กม.

หากขับรถไปตามถนนเลียบหาดขึ้นไปทางเหนือของที่ทำการอุทยานฯ ราว 7-8 กม. จะถึงหน่วยพิทักษ์ฯ ลป.3 (ปาง) ที่นี่จะเห็นเครื่องจักรของเหมืองแร่ในสมัยก่อน ทิ้งไว้ให้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพื้นที่แห่งนี้ในอดีตสมัยการทำแร่ดีบุกรุ่งเรือง และต่อจากหน่วยฯนี้ไป จะเป็นป่าเสม็ดขาวขนาดใหญ่เนื้อที่นับพันๆ ไร่ พื้นที่ที่ถูกขนาบด้วยน้ำสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นทะเลอันดามันด้านหาดท้ายเหมือง อีกฝั่งเป็นคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ ตรงกลางคือเนินทรายกว้างที่ทั้งต้นเสม็ดขาว และหญ้าชนิดหนึ่งที่เมื่อไปถึงใกล้เขาหน้ายักษ์จะเห็นทุ่งหญ้าชนิดนี้ที่เรียกว่าทุ่งหญ้าสะวันนากว้างใหญ่นับร้อยๆ ไร่ ในช่วงเดือนธันวาคมทุ่งหญ้าจะเป็นสีทองอร่ามไปทั้งทุ่ง และไม่ไกลกัน จะเป็นบริเวณที่เรียกว่าเขาหน้ายักษ์

3 ลายหินทรายสีชมพูที่เขาหน้ายักษ์_resize

6.ทุ่งหญ้าสีทองใกล้เขาหน้ายักษ์(รูปอุทยานฯ)_resize

เขาหน้ายักษ์จะเป็นด้านเหนือสุดของอุทยานฯในส่วนที่เป็นชายทะเล เพราะชายหาดท้ายเหมือง นับจากที่ทำการอุทยานฯยาวมาถึงที่นี่ ระยะทางราว 14-15 กม.ผมถึงบอกไงล่ะว่า ถ้าวิ่งออกกำลังก็เหมาะ ไปกลับกำลังดี แต่การวิ่งบนชายทะเลต้องคนเคยวิ่ง รู้ว่าต้องวิ่งบริเวณไหน ไม่อย่างนั้นจะกินแรงน่าดู

ตรงเขาหน้ายักษ์จะมีกองหินทรายสีชมพู มีลวดลายสวยงามมากและมีเวิ้งอ่าวเล็กๆ ที่มีชายหาดสะอาดแทบไม่ปรากฏรอยเท้าคน และแม้บริเวณเขาหน้ายักษ์จะมีทางรถยนต์เข้ามาได้ก็จริง แต่มันเป็นพื้นทราย รถอื่นที่ไม่ใช่ 4WD เข้ามาเป็นติดทรายแน่นอน ถ้าขี่จักรยานแบบล้อใหญ่ หรือจักรยานสำหรับขี่บนชายหาด ก็น่าจะเหมาะ ไม่ก็เดินเข้ามา

ผมถึงบอกว่า อุทยานฯลำปีท้ายเหมืองนี้ เหมาะกับการมานอนนานๆ หลายวัน ออกไปวิ่ง ไปปั่นจักรยาน ชมทะเล ฟอกปอดสูดอากาศบริสุทธิ์ เป็นอุทยานฯที่เหมาะแก่การมาพักผ่อน มาอยู่นิ่งๆ มาใช้ชีวิตสบายๆ ผ่อนคลายๆ ให้ไวรัสโควิด-19 ผ่านไป แล้วมาอาบลมห่มทะเลกันที่หาดท้ายเหมืองเมืองพังงากัน

ขอให้เลือกที่นี่ เป็นพื้นที่เพื่อผ่อนคลายจากการถูกกักตัวมานานนับเดือนก็แล้วกัน...