กติกาใหม่ กรรไกรเดิม ‘New Normal’ ร้านทำผม

กติกาใหม่ กรรไกรเดิม  ‘New Normal’ ร้านทำผม

เปิดมุมมอง ‘สมศักดิ์ ชลาชล’ ถึงอนาคตช่างผมไทย หลัง ศบค.คลายล็อกดาวน์ 'ร้านทำผม' จะไปต่ออย่างไรในยุคโควิด-19

 

ในบรรดากิจการที่มีเสียงเรียกร้องให้เปิดบริการมากที่สุด ‘ร้านทำผม’ อยู่ในท็อปลิสต์ความเดือดเนื้อร้อนใจของประชาชนที่แม้แต่ช่างผมชั้นครูอย่าง ดร.สมศักดิ์ ชลาชล ก็คาดไม่ถึง 

และทันทีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ‘โควิด-19’ หรือ ศบค. ประกาศคลายล็อกดาวน์ให้กับกิจการต่างๆ หนึ่งในกิจกรรมที่ได้ไปต่อก็คือ 'ร้านตัดผม เสริมสวย'

ถึงอย่างนั้น การกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งจำเป็นต้องมีมาตรฐานใหม่ มีกฎระเบียบและเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด บางคนเรียกว่าเป็น ‘New Normal’ หรือความปกติใหม่ ซึ่ง 

เจ้าของธุรกิจเสริมสวยชลาชล ที่พ่วงด้วยตำแหน่ง HAIR HERO OF APAC ขอใช้โอกาสนี้แชร์มุมมองในฐานะคนที่คร่ำหวอดในวงการมานาน ไม่เพียงในบทบาทช่างผมมืออาชีพ แต่เขายังมีดีกรีปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กับดุษฎีนิพนธ์เรื่อง ‘การสร้างมาตรฐานอาชีพช่างเสริมสวย’

แน่นอนว่า... สำหรับสมศักดิ์ นอกจากข้อแนะนำอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ร้านทำผมพร้อมสำหรับการปลดล็อคดาวน์ เขายังเห็นว่าครั้งนี้เราน่าจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างมาตรฐานวิชาชีพช่างผมไทยให้อยู่ในแถวหน้าของโลก

 

1588339539769

 

  • ปัดฝุ่นมาตรฐานเดิม

“ผมอยากจะแสดงความยินดีว่า เราน่าจะได้เปิดร้านกันเร็วๆ นี้ การเกิดวิกฤติโควิดทำให้รู้ว่าอาชีพช่างทำผม เราไปนั่งอยู่ในไลฟ์สไตล์ของประชาชนจริงๆ ดูจากข่าวแล้วก็ตื่นเต้น เขาขาดเราไม่ได้นะ ขาดช่างทำผมไม่ได้ ตอนแรกคิดว่าเราไม่ใช่ปัจจัย 4 การไม่ได้ตัดผมเขาจะไม่สนใจเรา แต่ที่ไหนได้ มีการเรียกร้องช่างทำผมเยอะมาก ทำให้รู้สึกดีใจแทนช่างทำผม” สมศักดิ์ ชลาชล นายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย กล่าวในรายการเฟซบุ๊คไลฟ์ หัวข้อ ‘เปิดร้านมั่นใจ ไร้โควิด-19’ ที่จัดโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อบอกถึงข้อปฏิบัติให้กับช่างทำผมทั่วประเทศ

“สิ่งที่บอกว่าร้านทำผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ช่างทำผมในอดีต 30-40 ปีที่แล้ว ต้องใส่แมส ต้องตรวจปอดทุกปี ต้องใส่เสื้อกาวน์ ช่างทำผม จริงๆ มี Root มาจากแพทย์ บาร์เบอร์ โพล ไฟหมุนที่ติดอยู่หน้าร้าน มันมาจากในอดีต เป็นเรื่องของสุขลักษณะ ต้องไปโกนหนวดก่อน วิสัญญีถึงจะวางยาผ่าตัดได้ 

หลังจากปลดล็อค เปิดมาแล้ว เราต้องตระหนักเรื่องสุขลักษณะ จะต้องตรวจปอด จะต้องใส่แมส ในร้านต้องมีโถแอลกอฮอล์สีฟ้าๆ ตัดผมทีหนึ่งก็ต้องไปแช่ทีหนึ่ง แล้วก็ถึงจะมาทำ สิ่งนี้เราได้แต่พูดกัน ผมเป็นที่ปรึกษาของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เราได้ใส่สิ่งนี้เข้าไปในมาตรฐานด้วย กำหนดให้มี เรามีเจ้าหน้าที่จากกรมอนามัยมาเป็นที่ปรึกษา เรามีทุกอย่าง รัฐบาลไม่ต้องกลัวเลยครับ มาตรการพวกนี้เราทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าช่วงหลังมันอาจจะหย่อนยานไปนิดหนึ่ง ก็ต้องมีการ Restate กลับมาใหม่”

ในเรื่องของการจองคิวตัดผมก็เช่นกัน สำหรับคนไทยอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศต้องจองตัดผมกันเป็นอาทิตย์ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว 

"เรื่องนี้เราพยายามนำเข้ามาในประเทศไทยมาเป็นสิบปี แต่ไม่ได้ผล เพราะว่าลูกค้าเป็นเจ้า สั่งว่าฉันมาตอนไหนก็ต้องทำให้ฉัน ทำให้เราจะทำอย่างไรได้ แต่เหตุการณ์โควิดที่เกิดขึ้นมันจะดิสรัปอย่างใหญ่หลวง ถูกบังคับให้มีการจองล่วงหน้าเพื่อจะได้เข้าทีละคน ทำให้ทุกคนต้องยอม ต้องมีการนัดจองกัน”

 

  • สุขลักษณะ คัมภีร์ของช่างผม

สำหรับการปลดล็อคดาวน์ครั้งนี้ นอกจากผู้ให้และผู้รับบริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีระยะห่างอย่างเหมาะสม ยังตามมาด้วยข้อกำหนดว่าให้ร้านทำผมเปิดบริการเฉพาะ ตัด สระ ไดร์ เท่านั้น และต้องหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุก 2 ชั่วโมง สมศักดิ์กล่าวถึงข้อควรปฏฺิบัติเพิ่มเติมว่า

“เรื่องของ Hygiene สุขลักษณะ ต้องมาก่อน เราจะแบ่งเป็น 4 เซ็กเมนท์ เซ็กเมนท์แรก เป็นเรื่องของร้าน ก่อนเปิดจะต้องฉีดยาฆ่าเชื้อ ละอองฝอยแบบแห้ง 5 ไมครอน ฉีดไปสัก 2 วันก่อนเปิด หลังจากนั้นในร้านก็ต้องทำความสะอาดเรียบร้อย ต่อมาเป็นเรื่องของรีเซฟชั่น พีอาร์ ที่เคาน์เตอร์อาจจะต้องมีฉากกั้นสักหน่อยหนึ่ง มีเฟซชิลด์ มีเครื่องวัดอุณหภูมิ ตามกติกาที่ว่าไว้ 

ส่วนที่เพิ่มเติมคือ ให้ลูกค้าลงทะเบียนกรอกชื่อที่อยู่ เผื่อว่าเกิดเหตุการณ์อะไร จะได้ตามได้ ต่อมาก็เป็นเรื่องมาตรฐานของช่าง มาตรฐานของแม่บ้าน นี่สำคัญนะเพราะว่าเขาเป็นคนเก็บหน้ากากและสิ่งต่างๆ พับใส่ถุงทิ้ง ต้องเหมือน รปภ.เลย มีแอลกอฮอล์เช็ดตลอดเวลา เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าปลอดภัย ส่วนหนังสือหรือแมกกาซีนไม่ควรมีในร้าน”

ในส่วนของระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มีคำถามว่าควรทำอย่างไร โดยเฉพาะการจัดเก้าอี้นั่งภายในร้าน

“ต้องวางให้ห่างกันไม่ต่ำกว่าเมตรครึ่ง อย่างของผมมีเก้าอี้เยอะมาก ผมก็เอาผ้าคลุมเก้าอี้หนึ่ง แล้วก็เว้นหนึ่ง เขาไม่ได้ดูว่าคุณมีกี่เก้าอี้ แต่เขาดูระยะห่างว่าไม่ควรต่ำกว่า 1.5 เมตร” 

อย่างไรก็ตาม การจะเปิดร้านได้เมื่อไรหรืออย่างไรนั้นต้องดูเงื่อนไขและข้อกำหนดของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ด้วย

“อย่างในกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับ สำนักอนามัย กทม. แล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯกทม. ร้านทำผมในกรุงเทพฯจะเปิดได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯเท่านั้น ส่วนต่างจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ยกตัวอย่าง นครศรีธรรมราช เพชรบุรี เปิดกันมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว Loop มันเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่อง Skill เราก็ขึ้นกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ สพช. แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องของการเปิดร้าน เป็นเรื่องสุขลักษณะ ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย ท้องถิ่น 

ปัญหาของเราคือสุขลักษณะ ไม่ใช่เรื่องฝีมือ ต่อให้มีฝีมือ ก็ต้องขอให้สะอาด ปราศจากโรคระบาด เท่านั้นเอง สำหรับร้านตัดผมที่อยู่ในห้าง ถ้าห้างไม่เปิดเราก็เปิดไม่ได้ ตอนนี้ร้านที่ได้รับอนุญาตให้เปิดคือ ร้านลมโชยบาร์เบอร์ ร้านที่ไม่มีแอร์ แล้วก็มีระยะห่าง ส่วนร้านที่อยู่ในห้างก็ต้องรอห้างว่ามาตรการจะเป็นอย่างไร”

 

  1588339547375

 

  • อนาคต ช่างผมไทย

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะทำให้หลายคนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มร้านทำผม เสริมสวย แต่อีกด้านการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นจะสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวิชาชีพช่างทำผมได้

“ผมกำลังจะเสนอคู่มือปฏิบัติงานที่เป็นสแตนดาร์ด มีหลักการจากผู้เชี่ยวชาญกรมอนามัย จากกองวิชาการสนับสนุนสุขภาพและอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นไกด์ไลน์ เมื่อปลดล็อคแล้ว ให้เขาเปิดร้านให้ได้ก่อน แล้วก็เอาไปติด 

เกรดของร้านเสริมสวยในประเทศไทยแบ่งเป็น A B C D เกรด A จะเป็นร้านที่รับคนต่างชาติเพื่อแสดง Standard ของช่างทำผมไทย เพื่อพรีเซนต์ ส่วนเกรด B เกรด C เป็นคนทำงานและรองลงมา เกรด D คือร้านเล็กๆ ที่เปิดกันตามบ้าน ผมอยากพัฒนาร้านเหล่านี้ให้เข้ามาในระบบ ให้เขามาสอบมาตรฐานอาชีพช่างทำผม บางคนไม่ยอมสอบ เพราะคิดว่าจะให้มาเสียภาษี ตอนนี้เกรด D มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องมาก จะต้องรีบเปิดก่อน อย่างน้อยๆ ก็รับจ้างตัดผมเพื่อประทังชีวิตได้

อย่างเกรด A ไม่มีปัญหา เป็น Role Model ของประเทศ ทำเป็นแบบอย่าง ซึ่งแน่นอน ผมก็มาจากเกรด D เป็นลูกจ้างเขาอยู่ 8 ปี มาจากร้านตึกแถวหนึ่งห้อง สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนเป็นเกรด A ได้ ทุกคนก็ต้องไต่เต้าขึ้นมา ต้องเริ่มจากเกรด D ก่อน แล้วมีการสอบพาสชั้น เหมือนเรียนประถมมีสอบขึ้นมัธยม ปริญญาตรี ปริญญาเอก นี่คือการอยู่แบบยั่งยืนครับ ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพมีการสอบ มีการประเมิน มีใบ Certificate การันตีว่าท่านผ่านมาตรฐานจริงๆ สามารถประกอบอาชีพได้ มีหน่วยงานรับรองระบบนี้ทั่วโลก”

ในมุมของสมศักดิ์ การสอบมาตรฐาน ถือเป็นการรีเช็คตัวเองว่า ได้มาตรฐานที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลหรือไม่ 

"ตัวผมเองเรียนมาจากโรงเรียนเสริมสวย แต่ก็ยังต้องไปหาการเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานตัวเองว่าขึ้นมาในระดับ1-2-3 แล้ว เราจะเกิดความพึงพอใจ ภูมิใจตัวเอง สำหรับคนที่ไม่มีเงินไปเรียนโรงเรียนเสริมสวย ที่ฝึกที่ร้าน ลองไปสอบมาตรฐานดู มีให้สอบ ขั้นที่หนึ่งเป็นผู้ช่วยช่าง ขั้นสองเป็นช่าง ขั้นสามเป็นหัวหน้าช่าง มีไปถึงขั้น 8 เป็นเจ้าของเฟรนไชส์ เป้าหมายของเรา คือพัฒนาคนล่างๆ ให้มีมาตรฐาน ผมทำมา 5-10 ปีแล้ว โดนโจมตีตลอด ก็ไม่เป็นไร เราพร้อมที่จะทำ เพราะนี่คืออนาคตประเทศไทย 

เขาเล่าว่าสมัยก่อนช่างทำผม เรียนกันแบบครูพักลักจำ ทุกคนมีกูรูเป็นของตัวเอง สอนตามสไตล์ของตัวเอง เก่งในมาตรฐานของตัวเอง แต่ไม่มีมาตรฐานกลางที่ยอมรับร่วมกัน

"จากชีวิตที่ทำงานมา ตั้งแต่เป็นลูกจ้างเขา ก็เห็นปัญหา ถ้าเรามีไบเบิลมีคัมภีร์เล่มใหญ่ๆ ให้เด็กรุ่นใหม่เขามี Role Model มีเส้นทางเป็นไกด์ให้เขาเดินไปถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้ นี่คือสิ่งที่ปวารณาตัว เราไม่บังคับ ท่านใดอยากสอบก็ลองมาสอบดู แล้วมาเปรียบเทียบดู จะได้พัฒนาไปด้วยกัน คนเป็นช่างทำผมก็เป็นได้ ถ้าเราไปสอบแล้วมีใบคุณวุฒิ นี่...แหม กอดใบนี้แล้วมันมีความสุขเหลือเกิน ถ้าเรารักอาชีพจริงๆ นะ เราจะมีความสุข พอถึงเวลาเกิดวิกฤติการณ์ก็เอาใบนี้ที่มีบาร์โค้ด บอกว่าเธอคนนี้เป็นช่างอยู่ที่ไหน ไปอ้างอิงกับหน่วยราชการรับเงินเยียวยาได้"

ที่สำคัญคือ อาชีพช่างทำผม เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย "อยากจะฝากพี่น้องช่างเสริมสวยทุกท่านนะครับ โรคระบาดคราวนี้ใหญ่หลวงมากนะ เท่ากับสงครามโลกครั้งที่สามด้วยซ้ำไป เกิดวิกฤติคราวนี้เราต้องทำให้เป็นโอกาสให้ได้ กลับมาพัฒนามาตรฐานร้าน มาตรฐานช่าง มาตรฐานแม่บ้าน มาตรฐานตราสินค้า ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เราเป็นคนที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเจริญมาก แล้วคนจะย้ายมาอยู่ประเทศไทยเยอะ เราต้องทำไซดักปลาไว้เลยตอนนี้ เรื่องมาตรฐานสำคัญที่สุดครับ”

สุดท้าย สมศักดิ์ ชลาชล กล่าวถึงความรู้สึกในวันที่ช่างทำผมกลายเป็นอาชีพที่คนคิดถึงมากที่สุด

"วันนี้ดีใจมากนะ ทุกคนโหยหาช่างทำผมหมดเลย ...ช่างทำผมเอ๋ย หันมาช่วยเหลือกัน หันมาสนับสนุนกันเถอะ"