กับข้าวจ๋า มาแล้วจะ กับข้าว
กะเทาะเปลือกวิถีกินผ่านรถกับข้าว โชว์ห่วยเคลื่อนที่แบบไทยๆ ซึ่งยังคงยืดหยัดแม้ร้านสะดวกซื้อรุกใกล้ขึ้นทุกที
แม่บ้านคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า รถกับข้าวเจ้าที่เร่ขายในช่วงเย็น "น่าซื้อ" กว่าเจ้าที่เร่ขายเมื่อช่วงสาย
"น่าซื้อ" ในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่เรื่องคุณภาพสินค้า, ราคา หรือปริมาณทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่มันหมายถึงภาพรวมการขายทั้งหมด รวมไปถึงถ้อยคำสนทนาที่แม่ค้ารถกับข้าวรอบเย็นชนะขาด เพราะเธอคุยสนุก รู้เยอะ แถมยังสนิทกับยามหน้าหมู่บ้าน
มันอาจเป็นเพียงข้อสันนิษฐานขำๆ จากแม่บ้านว่างงานช่างสังเกต แต่ประเด็นความสัมพันธ์ และวิธีการขายของรถกับข้าว ไม่ใช่เรื่องไร้สาระเสียทีเดียว ค่าที่ว่ารถกับข้าวนั้นไม่ต่างอะไรกับร้านโชว์ห่วยเคลื่อนที่แบบไทยๆ ซึ่งยังคงเผชิญหน้ากับร้านสะดวกซื้อที่นับวันยิ่งใกล้บ้านเข้ามาทุกทีๆ
พุ่มพวงวันนี้
เกือบหกโมงเช้า รถกับข้าวที่จอดแน่นตลาดเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อน ค่อยๆ ทยอยจากไปทีละคัน
เปล่า-พวกเขาไม่ได้หนีฝน หรือนัดแนะกันไปที่ใด เพียงแต่เมื่อ "โหลดของ" เสร็จก็ต้องรีบไปต่อ เพราะหากอยู่นานกว่านี้ รถจะติด และต้นทุนค่าน้ำมันไม่หนีที่จะเพิ่มขึ้น
"หลักการมีเพียงแค่เราต้องไปซื้อของที่ตลาดใหญ่ในราคาขายส่ง แล้วเอามาแบ่งขาย ให้ได้กำไรมาก และราคากับข้าวที่ตั้งไว้ทั้งหมด จะบวกจากราคาขายส่งประมาณ 15-25 เปอร์เซ็นต์ จะแพงกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว ไม่งั้นเดือดร้อนกันหมด" ธัญญภา โยศรีคุณ ผู้ประกอบการรถพุ่มพวงบอก
เหตุที่เรียก "รถพุ่มพวง" เพราะห้อยถุงพลาสติกเป็นพุ่มเป็นพวง หรือจะเรียก "รถเร่" เพราะเสียงเร่ขายเป็นเอกลักษณ์ก็ได้ อย่างไรเสียความหมายก็คืออย่างเดียวกัน สิ่งสำคัญของรถกับข้าวคือการซื้อเวลาและให้บริการกับคุณลูกค้าถึงที่ โดยมีแม่บ้าน-พนักงานบริษัท ซึ่งไม่มีเวลาจ่ายตลาดเองเป็นผู้ซื้อกลุ่มสำคัญ
จะขายกับข้าวบนรถไม่ยากและไม่ง่ายในคราวเดียวกัน กล่าวคือต้องมีรถกระบะดัดแปลงสำหรับหนึ่งคนด้านหลัง พร้อมสัมภาระจำเป็น เช่น ราวแขวนผัก ตู้แช่เย็น เขียง อาหารสดและแห้ง ส่วนธุรกิจจะรุ่งหรือร่วงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการมีลูกค้าประจำ การอ่านใจ-รู้ความต้องการของลูกค้าได้ พร้อมๆ กับการหาสินค้าใหม่ๆ ที่ผู้ขายรายอื่นมองข้าม
กฤษณะพล วัฒนวันยู อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชา Urban Planning และเคยสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับรถกับข้าวในสังคมไทย ให้ข้อมูลว่า วิถีการเดินเร่ขายของ เป็นลักษณะของผู้ค้าแถบเอเชียอยู่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย แต่เมื่อวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้น จากการเดินขายจึงเปลี่ยนมาใช้รถ ทำให้สะดวกขึ้นมาก และตอบสนองเมืองที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
รถกับข้าวจึงเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนซื้อ ซึ่งเลือกจะ "รอ" อยู่กับบ้าน แทนการออกไปตลาด และถึงแม้ว่าสินค้าบนรถ ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด เครื่องปรุง กะปิ ของแห้ง ฯลฯ จะมีราคาแพงกว่าก็ตาม แต่สำหรับผู้บริโภคบางราย เมื่อคำนวณทุกปัจจัยรวมกันแล้ว พวกเขาเชื่อว่ามัน "คุ้มค่า" กว่า
"อาจจะมีราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ แต่เมื่อลูกค้าเลือกที่จะรอ นั่นเพราะเห็นแล้วว่ามันคุ้มค่ากว่าการออกไปข้างนอกเอง ไม่ต้องเสียค่ารถ เสียเวลาอาบน้ำแต่งตัว เดินทาง เมื่อไม่มีแรงจูงใจของการออกจากบ้าน รถกับข้าวซึ่งเข้าไปถึงหน้าบ้านจึงตอบสนองวิถีชีวิตคนเหล่านั้นได้" กฤษณะพล บอก
“ทำอยู่ ทำกิน” ถึง “ซื้อกินซื้ออยู่”
นอกจากกลุ่มแม่บ้าน และพนักงานบริษัท ซึ่งไม่มีเวลาจ่ายตลาดแล้ว เอมอร อำพร แม่ค้าบนรถกับข้าว ละแวกรามอินทรา วิเคราะห์ว่า กลุ่มลูกค้าที่มากที่สุด คือคนงานในไซท์ก่อสร้าง โดยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งโครงการคอนโดหมู่บ้าน-รถไฟฟ้า และด้วยจำนวนของอุปสงค์ที่ว่านี้เอง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของความรู้สึกที่ว่าเหตุใดรถกับข้าวถึงมีมากขึ้นในระยะหลัง
ลูกค้าในไซท์งานก่อสร้างนี้ มีพฤติกรรมบริโภคต่างจากลูกค้าทั่วๆ ไป เพราะพวกเขาซื้อบ่อย ซื้อถี่ ซื้อแทบทุกโอกาส แต่จะซื้อครั้งละไม่มาก อาทิ บางรายแบ่งซื้อเนื้อหมูเพียง 2-3 ขีด ผักกำเล็กๆ ที่แบ่งใส่ถุงน้อยๆ หรือถ้าจะเป็นกะปิ น้ำปลา ผงชูรส ฯลฯ นั่นจะเลือกขนาดเล็กที่สุด
"บางคนมีรายได้เป็นวัน อย่างถ้าได้วันละ 300 บาท จะไปซื้อหมูกิโลละเป็นร้อยคงไม่ได้ มันบริหารเงินลำบาก บางคนไม่มีตู้เย็นเก็บของอีก พวกเขาจึงต้องซื้อกันวันต่อวัน และซื้อกินกันตลอด"
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อธิบายว่า การ ซื้อกิน-ซื้ออยู่ เช่นนี้เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของคน โดยเฉพาะในสังคมที่มีลักษณะ urban (สังคมเมือง) ที่แม้จะเคยปลูกเองกินเองในชุมชนดั้งเดิม หากแต่เลือกเข้ามาอยู่ในเมือง อย่างไรก็ต้องเปลี่ยนมาซื้อกิน ยิ่งเฉพาะกับผู้ที่มีรายได้น้อย ทางเลือกไม่เยอะ ก็ต้องเลือกรูปแบบชีวิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ทางเลือกแบบรถกับข้าวจึงเป็นทางเลือกที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ เพราะมัน "ถูก" ไม่แพ้ใคร เปรียบรูปร่างหน้าตา ไม่ต่างกับร้านแผงลอยไม่ก็สินค้าราคาถูกในตลาดนัด
ถึงเช่นนั้นทางเลือกแปรผันได้ตามรายได้ที่มี สามารถเคลื่อนที่ได้ ยกตัวอย่างบางคนที่เคยมีรายได้น้อย แต่ต้นเดือนอู้ฟู่ ก็อาจจะถีบตัวเองไปหาทางเลือกใหม่ๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือรับประทานอาหารบนสายพานบุฟเฟต์
ชุมชนข้างรถเร่
ไม่ใช่แค่เอาของบรรทุกใส่ท้ายรถแล้วขายก็จบ หากคิดนิยามตัวเองว่าคือรถเร่ขายกับข้าว มันต้องมีวิธีการที่ "เนียน"มากกว่านั้น
อย่างแรกคือการรู้เส้นทางการขาย โดยพิจารณาจากชุมชนรอบๆ เพื่อคำนวณเส้นทางหาความคุ้มทุน เช่น เมื่อเลือกซื้อสินค้าละแวกตลาดไท จุดเหมาะสมที่จะเร่ขายน่าอยู่แถวๆ รังสิต โดยมีโรงงาน, ไซต์งานก่อสร้าง, ชุมชนในหมู่บ้านเป็นเป้าหมาย หากเขยิบมาย่านรามอินทราลาดพร้าว คงต้องขยันเข้าซอย หาลูกค้าละแวกแฟลตตำรวจ หรือไม่ก็หอพัก. ส่วนถ้าใครคิดจะ "เล่น" ละแวกสำนักงาน จำไว้ว่าไม่ต้องรีบไปขายตอนเช้า แต่ให้ "ดึงเวลา" ถึงช่วงสายและบ่าย ไม่ก็ไปจอดเนียนๆ ละแวกตลาดนัดใกล้ออฟฟิศจะดีกว่า
เดชา คนขับรถพ่วงตำแหน่งผู้ช่วยแม่ค้า บอกว่า นอกจากแหล่งประจำแล้ว ย่านไหนมีการก่อสร้างคอนโด หมู่บ้าน ฯลฯ บรรดารถขายกับข้าวจะรู้กันและเข้าไปจับจองเวลาขายทันที แต่การขายเช่นนี้จะสิ้นสุดลงในเวลา 3-4 ปี เพราะการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงต้องมองหาที่ใหม่เรื่อยๆ ส่วนลูกค้าเจ้าเดิมนั้น ถ้าซื้อกันแล้วก็มักจะเป็นลูกค้าประจำ อาจมีเล็กๆ น้อยๆ เช่น น้ำปลา ผงชูรส ที่มีซื้อกับเจ้าอื่นบ้าง แต่ถ้าเป็นกับข้าวของสด นั่นเป็นเรื่องของความไว้ใจและความเคยชินล้วนๆ
"เพราะเป็นร้านค้าไม่อยู่กับที่ 'จุดแข็ง' ของรถเร่กับข้าว จึงเป็นการรู้จักชุมชนที่ตัวเองเข้าไปขาย รู้ถึงความต้องการของลูกค้า กระทั่งรู้เวลาจอดรถเพื่อรอให้คนซื้อเดินมาหาเอง สังเกตดูว่าหากรถกับข้าวจอด จะเกิดการพูดคุยกันของคนที่มาซื้อ คุยกันหลายเรื่อง คนข้างบ้านที่ไม่ค่อยเจอกัน ก็จะใช้โอกาสที่รถกับข้าวมานี่แหละ แลกเปลี่ยนความเห็นกัน" ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิก ซึ่งเคยศึกษาเรื่องชุมชนกับรถกับข้าวให้คำนิยาม
บรรยากาศข้างรถเร่จึงมีความเป็นสังคมย่อมๆ ในชั่วขณะ ทั้งความใกล้ชิดระหว่างคนซื้อกับคนขายยังพิเศษไปตามระยะเวลา ต่างจากการซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ระบบได้สร้างให้ผู้ซื้อเดินเข้ามาและผละออกไป
เพราะเหตุนี้ ถึงจะอ่อนล้า ขึ้นลงตามกระแสเศรษฐกิจไปบ้าง แต่รถกับข้าวที่เปล่งเสียงว่า “กับข้าวจ๋า มาละจะ กับข้าว” ไม่เคยเปลี่ยน