“หนังกลางแปลง” ที่หล่นหายในยุค 4.0
สำรวจชีพจร “หนังกลางแปลง” ในกระแสความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อยุคดิจิทัล เดินมาถึงทางแยก อะไรคือ “ทางเลือก” เพื่อ “อยู่รอด”
หากดูภาพยนตร์สักเรื่อง นอกจากผู้ชมจะได้รับความสนุก เศร้า หลากอารมณ์คละเคล้าไปกับเนื้อเรื่องแล้ว การเข้าไปนั่งชมภาพยนตร์ยังเสมือนเป็นธรรมเนียมที่ต้องแต่งตัวออกจากบ้าน ซื้อตั๋ว ขนมขบเคี้ยวร่วมไปกับคอหนังคนอื่น ๆ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กรุ่นหลังมีความทรงจำกับการดูหนังใน “โรงภาพยนตร์” ผิดกับคนรุ่นก่อนจำนวนไม่น้อยที่มีความทรงจำกับการชม “หนังกลางแปลง”
หนังกลางแปลง ถือเป็นมหรสพกลางแจ้งที่เป็นศูนย์รวมสิ่งต่างๆ งานบุญ งานวัด ประเพณีต่างๆ ตลอดจนการพบปะสังสรรค์ หรือกระทั่ง กิจกรรมยามค่ำคืน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงิน เวลาและโอกาสการเข้าถึงการดูหนังในโรงภาพยนตร์ อีกทั้งโรงหนังทั่วไป ก็กระจุกตัวอยู่ในเขตตัวเมืองต่าง ๆ
ยุคสมัยที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์กำลังเฟื่องฟู และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย หนังกลางแปลงจึงกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของคนดูหนังให้มีช่องทางการรับชมที่หลากหลายขึ้น มหรสพกลางแจ้งก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง กระทั่งปัจจุบัน หนังกลางแปลงดูจะกลายเป็นของหายาก จนแทบจะเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์บันเทิงท้องถิ่นของเมืองไทยก็ว่าได้
ในวันที่ โรงภาพยนตร์สแตนอโลนกำลังกลายเป็นความถวิลหาของคอหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากโรงหนังลิโด้ได้รูดม่าน 5 ทศวรรษปิดฉากตัวเองลง
"คน (เคย) ทำอาชีพหนังกลางแปลงมีชะตากรรมอย่างไร"
คำถามนี้นำไปสู่งานวิจัยเรื่อง “การปรับตัวของหนังกลางแปลงในประเทศไทยต่อการฉายภาพยนตร์ในระบบดิจิทัล” โดย ฐิติยา พจนาพิทักษ์ จากเอกภาพยนตร์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
เธอเริ่มด้วยข้อสังเกตที่ว่า เมื่อโลกเปลี่ยน คนทำหนังกลางแปลงก็ต้องปรับตัว...
เปลี่ยนผ่าน “กลางแปลง”
“พอหนังเล่นไปถึงตอนกำลังมัน หนังก็จะตัด มีโฆษกประกาศขายของ คนมาดูก็ต้องซื้อของให้ถึงยอด หนังถึงจะฉายต่อ สินค้ามีทั้งสบู่ผงซักฟอกยาแก้ไข้แก้ปวด เป็นการทำการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย” ฐิติยา ย้อนความหลังสมัยวัยเด็กที่ต่างจังหวัดของเธอในการดูหนังกลางแปลงแบบหนังขายยา
ย้อนไปยุคเฟื่องฟูของหนังกลางแปลงราวปีพ.ศ. 2521-2535 จะมีเจ้าภาพติดต่อจ้างหนังกลางแปลงไปฉายในงานบุญประเพณีต่างๆ ตั้งแต่งานบวช งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานวัด งานชุมชน บางงานอาจมีการจ้างหนังกลางแปลงมาฉายมากกว่า 1 จอ ซึ่งจำนวนจอหนังที่นำมาแสดงนั้น นอกจากจะยิ่งสร้างความครึกครื้นให้กับงานแล้ว ยังถือเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความมีหน้ามีตาของเจ้าภาพอีกด้วย
แม้ในวันที่ โทรทัศน์เริ่มเข้ามาเป็นความบันเทิงหลักภายในบ้าน หนังกลางแปลงก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ หากแต่เริ่มมีเค้าลางการปรับตัว อย่างการฉายหนังหลังจากละครค่ำหลังข่าวที่ได้รับความนิยมจบลง ทำให้คนยังออกมาดูหนังกลางแปลงต่อได้
กระทั่งยุคหลังพ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เนื่องจากมีแผ่น วีซีดี ดีวีดี โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ หรือแม้แต่การดูหนังผ่านช่องทางออนไลน์อย่างที่หลายคนทำอยู่ในทุกวันนี้ ทำให้มีการว่าจ้างหนังกลางแปลงลดน้อยลง
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็มุ่งไปที่ระบบดิจิทัล เนื่องจากข้อกำหนด DCI Compliance (การปฏิบัติตามข้อตกลงขององค์กร DCI) ของกลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศอเมริกา ซึ่งกำหนดมาตรฐานคุณภาพของไฟล์ภาพยนตร์เพื่อฉายในระบบดิจิทัล ส่วนคนฉายหนังกลางแปลงในประเทศไทยพลอยผลกระทบสภาวะ “ขาดแคลนฟิล์มใหม่” กล่าวคือภาพยนตร์ยุคหลังแทบจะไม่ได้ทำฟิล์มสำหรับฉายกลางแปลงอีกแล้ว
ยุคที่ทุกอย่างเสร็จสรรพได้ด้วยเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบดีวีดี ฮาร์ดดิสก์ ส่งผ่านดาวเทียม หรืออินเทอร์เน็ตทำให้การเข้าถึงหนังกลางแปลงกลับเป็นเรื่องยากลำบาก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการฉายแบบดิจิทัลที่สะดวก มีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิตในมุมของผู้ประกอบการ
ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง
เมื่อลำพังเพียงสถานะคนทำหนังกลางแปลงไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อีกต่อไป คนฉายหนังจึงมีอาชีพอื่นควบคู่กัน
ฐิติยา เล่าว่า “คนทำหนังกลางแปลงที่ภาคอีสานคนหนึ่งเป็นช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้าลำโพง บางคนก็ให้เช่าเครื่องเสียงดนตรี อีกคนมีรถกระบะปิกอัพรับจ้างขนสินค้า พอมีหนังกลางแปลงก็เอารถคันนั้นมาขนอุปกรณ์หนังกลางแปลง ในกรุงเทพบางคนขับมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ เวลามีคนเรียกจ้างเขาก็มาเป็นทีมงานหนังกลางแปลง”
ด้านการปรับตัวของหนังกลางแปลงในยุคที่ภาพยนตร์เปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล ผู้วิจัยพบว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายก็จะมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันไป เช่น บางรายฉายหนังด้วยระบบดิจิทัลโดยใช้ไฟล์ที่ไม่ได้รับลิขสิทธิ์ โดยผู้ประกอบการอาจโหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ต หรือดีวีดี บลูเรย์แล้วไปฉายกับเครื่องโปรเจคเตอร์ ซึ่งการกระทำลักษณะนี้มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ผู้ฉายหนังบางกลุ่มจึงหลีกเลี่ยงปัญหาลิขสิทธิ์ด้วยการนำหนังต่างประเทศมาฉาย เพราะคิดว่าบริษัทผู้ผลิตซึ่งอยู่ต่างประเทศไม่สนใจฟ้องร้อง แต่ที่จริงแล้ว แม้ว่าจะนำไฟล์ที่เป็นหนังไทยหรือหนังต่างประเทศมาฉายอย่างไม่ถูกลิขสิทธิ์ก็สามารถถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้จากบริษัทตัวแทนที่ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น รวมถึงการนำฟิล์มหนังที่หมดกำหนดสัญญาอนุญาตไปฉายกลางแปลง ก็เข้าข่ายเช่นกัน
ดังนั้น ไม่ใช่แค่คนฉายหนังเท่านั้นที่ต้องปรับตัว หากสายหนังในแต่ละพื้นที่ (ผู้ได้รับสิทธิการฉายภาพยนตร์ตามช่วงเวลาที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด) ก็มีการปรับตัว โดยบางสายหนังจะให้เช่าหนังแบบระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถกระทำได้หากผู้นั้นได้รับสิทธิทางกฏหมายจากบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยยังได้นำเสนอความคิดเห็นของสายหนังโดยต้องการให้ภาครัฐช่วยดูแลเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะเมื่อไปขอคำปรึกษาก็อยากให้มีหน่วยงานหรือผู้ให้คำแนะนำที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก
ขณะที่การปรับตัวนี้ก็มีคนที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคนกลุ่มนี้มีฟิล์มหนังเก่าให้เช่า บวกกับยังมีเครื่องฉายแบบเดิม ทำให้สามารถฉายหนังด้วยระบบฟิล์มได้
วัฒนธรรมการดูหนังกลางแจ้งลักษณะนี้ไม่เป็นที่นิยมดังสมัยก่อน แต่ก็ใช่ว่า จะหายสาบสูญไปเสียทั้งหมด
“สมัยก่อนหนังกลางแปลงเคยเป็นมหรสพที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตแบบไทย แต่จากการวิจัยพบว่า ปัจจุบันมีการว่าจ้างหนังกลางแปลงในแต่ละภูมิภาคที่ต่างไปจากเดิม กล่าวคือ ในภาคเหนือที่โดดเด่นคือ งานบุญปอยหลวง ส่วนภาคอีสานได้แก่งานบุญแจกข้าว และงานแก้บน ภาคตะวันออกพบหนังกลางแปลงในงานแก้บนที่เกี่ยวกับการค้าขายพืชสวนผลไม้ ส่วนภาคใต้ไม่ปรากฏการจ้างหนังไปในงานสวดอภิธรรมอย่างในอดีต แต่เป็นการใช้เพื่อแก้บนศาลเจ้ามากที่สุด”
“เมื่อก่อนแก้บนเจ้า (ศาลเจ้า-เทพเจ้า) ต้องใช้งิ้ว เมื่องิ้วหายาก และราคาจ้างสูงมาก จึงเอาหนังกลางแปลงไปใช้แทน คือ จะเริ่มด้วยการฉายหนังจีนเทพเจ้าก่อนเป็นธรรมเนียม คล้ายกับหนังกลางแปลงคัดย่องิ้วมาอยู่ในจอ” เธอเล่าวัฒนธรรมหนังกลางแปลงที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
งานวิจัย “การปรับตัวของหนังกลางแปลงในประเทศไทย ต่อการฉายภาพยนตร์ในระบบดิจิทัล” ได้เสนอให้ภาครัฐควรจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหนังกลางแปลงอย่างเป็นระบบ ส่วนภาคสังคมก็สามารถอนุรักษ์หนังกลางแปลงได้ด้วยการจ้างไปฉายในงานกิจกรรมต่างๆ
ข้อเสนอถัดมาคือ ในฐานะที่หนังกลางแปลงเป็นกิจกรรมหนึ่งในมหรสพแบบวิถีไทย ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งมีรูปแบบของธุรกิจ และกฎหมายลิขสิทธิ์มาเกี่ยวข้อง ภาครัฐควรให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ผู้ประกอบการ ส่วนบริษัทผู้ผลิตและบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์อาจกำหนดนโยบายเพื่อสร้างมาตรฐานให้หนังกลางแปลงสามารถฉายในระบบดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง
ขณะเดียวกันกลุ่มคนฉายหนังกลางแปลง ก็ต้องการให้ภาครัฐช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับคนทำอาชีพนี้ในฐานะมหรสพคู่สังคมไทย และเป็นความบันเทิงที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้