'ประดิษฐ'แจงแพทย์ลาออกเป็นเรื่องปกติ

'ประดิษฐ'แจงแพทย์ลาออกเป็นเรื่องปกติ

"ประดิษฐ"แจงแพทย์ลาออก เป็นเรื่องปกติทุกปี เฉพาะปี 55 ลาออก 341 คน

จากกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทระบุว่าเริ่มมีแพทย์ในชนบททยอยลาออกจากการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นการคิดตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance) โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นมีแพทย์ลาออกแล้ว 7 คน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การพูดตัดตอนแบบนี้ คนก็ตกใจ เพราะทุกปีมีแพทย์ลาออกอยู่แล้ว หากจะพูดต้องบอกว่าลาออกกี่เท่า อย่างข้อมูลที่ผ่านมาในปี 2553 มีลาออก 382 คน ปี 2554 ลาออก 389 คน ปี 2555 ลาออก 341 คน เป็นแพทย์ที่ลาออกเพื่อไปศึกษาต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานปีแรก เพื่อใช้ทุนจบก็จะลาออกไปศึกษาต่อ หากจะบอกว่าแพทย์ลาออก ต้องมากกว่าปีก่อนๆ แต่นี่ไม่ใช่ เพราะจะทำให้ประชาชนไขว้เขว่ อย่างกรณีจ.ขอนแก่น ที่ระบุว่ามีแพทย์ลาออกมากนั้น ข้อเท็จจริง คือ ในปี 2553 ลาออก 14 คน ปี 2554 ลาออก 15 คน ปี 2555 ลาออก 15 คน และปี 2556 ลาออก 8 คน จะเห็นว่าก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่ลาออกไปศึกษาต่อ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่าในทำนองเดียวกันในแต่ละปีมีคนเรียนจบและขอไหลกลับอีก 100 กว่าคน แต่ปัญหาคือ ที่ผ่านมาให้ตำแหน่งรับแพทย์จบใหม่มาก โดยในแต่ละปีมีแพทย์ ทันตแพทย์ 2,900 กว่าตำแหน่ง ดังนั้น ควรมีตำแหน่งให้กับแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้วย เพราะตอนนี้จะขอตำแหน่งก็ไม่พอ ดังนั้น ต่อไปจะต้องมีตำแหน่งให้คนกลุ่มนี้ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการในชุมชนต่างๆ ซึ่งในเรื่องของการหาตำแหน่งมารองรับแพทย์กลุ่มดังกล่าว ขณะนี้ สธ. มีตำแหน่งเกษียน 700-800 ตำแหน่งใน 3 ปี จึงให้ทิศทางว่าขอให้กำหนดโควตาในการรับแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้วย โดยอาจกันไว้ปีละ 200-300 ตำแหน่ง

รมว.สธ. กล่าวอีกว่า การที่มาบอกว่าตนมุ่งสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับ หากเป็นจริง คงไม่อยากเพิ่มตำแหน่งตรงนี้ และการไปเรียกร้องขึ้นป้ายประท้วงนั้น เรื่องนี้คงไม่เข้าไปตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่คงเป็นเรื่องของฝ่ายราชการประจำไปตรวจสอบว่าขึ้นได้หรือไม่มากกว่า เพราะตามระเบียบราชการถ้าอนุญาตให้ทำลักษณะนี้ได้ ก็ไม่ว่าอะไร ทุกอย่างปล่อยให้เป็นไปตามระเบียบราชการ จากนี้ไปจะชี้แจงการปฏิรูปกระทรวงฯ รวมทั้งการปรับปรุงค่าตอบแทนจะส่งผลดีอย่างไรกับประชาชน และจะกำชับให้ผู้บริหารลงพื้นที่มากขึ้น เพื่อไปทำความเข้าใจเรื่องนี้

“การทำพีฟอร์พีนั้น พูดมาตลอดว่า เป็นภาระงานร่วมกับภารกิจ เนื่องจากภารกิจ จะครอบคลุมการทำงานรอบด้านมากกว่า ทั้งการเยี่ยมคนไข้ หรือแม้กระทั่งงานบริหารด้วย โดยเฉพาะการทำพีฟอร์พีของฝ่ายบริหาร หลังจากนี้จะมีรายละเอียดว่าพีฟอร์พีของผู้บริหารเป็นอย่างไร เพื่อความยุติธรรมของทุกวิชาชีพและทุกกลุ่ม”นพ.ประดิษฐ กล่าว