'ชา อ่อนแรง' ภัยเงียบของวัยทำงาน

'ชา อ่อนแรง' ภัยเงียบของวัยทำงาน

หากคุณอยู่ในวัยทำงาน มีอาการอ่อนเพลีย ชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มีปัญหาในการทรงตัว ตามัว คุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะป่วยและพิการด้วยโรค ms

เรียบเรียงจากบทความเรื่อง โรคเอ็มเอส...ภัยเงียบใหม่ของคนวัยทำงาน โดย นพ. ชาคร จันทร์สกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพโรคเอ็มเอส (MS) หรือชื่อเต็มในภาษาอังกฤษคือโรคมัลติเพิล สเคลอโรซิส (multiple sclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาท (myelin sheath) ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาการที่พบได้บ่อยของโรคเอ็มเอส ได้แก่ อ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรง อาการชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มีปัญหาในการเดินหรือการทรงตัว ตามัวมองไม่เห็น แขนขาอ่อนแรงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ปัสสาวะไม่ออกหรือกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ มีอาการปวดตามที่ต่างๆ ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และความจำไม่ค่อยดี เป็นต้น ผู้ป่วยแต่ละคน จะมีอาการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการอักเสบของปลอกประสาทที่บริเวณใดในระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าหากเกิดการอักเสบบริเวณเส้นประสาทตา ก็จะทำให้เกิดอาการปวดตา ตามัว มองไม่เห็น ถ้าเกิดการอักเสบบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมเรื่องการทรงตัวก็อาจจะทำให้เกิดอาการ เดินเซ เวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นต้น เมื่อเวลาผ่านไป ความพิการหรือความรุนแรงของโรคจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการอักเสบของปลอกประสาทที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ และร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์ประสาทหรือเส้นใยประสาทใหม่ขึ้นมาทดแทน จึงทำให้ผู้ป่วยจำนวนมาก อาจจะต้องใช้ไม้เท้าในการช่วยเดินหรือต้องนั่งรถเข็นภายในระยะเวลา 10-20 ปีลักษณะการดำเนินโรคนี้ เริ่มจากชนิดที่เป็นๆ หายๆ ซึ่งพบได้มากที่สุด โดยระยะแรกของการดำเนินโรค ผู้ป่วยมักกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติ หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาเป็นซ้ำอีกเมื่อไร แต่เมื่อการดำเนินของโรคเข้าสู่ระยะลุกลามต่อเนื่อง อาการจะไม่บรรเทาลงแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพียงแต่ระยะเวลาก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้ใช้เวลา 15-20 ปีแต่ก็พบผู้ป่วยที่อาการของโรครุนแรงตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพียงแต่มีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มที่เป็นๆ หายๆ อาการจะค่อยๆ แย่ลง และสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อย ไม่มีการฟื้นตัว แต่จะอยู่ในสภาพของร่างกายที่เสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันก็มีผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง หรือเป็นเพียงเล็กน้อยและอาจมีอาการเพียงครั้งเดียวในชีวิต จากนั้นร่างกายจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เกือบสมบูรณ์ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่แพทย์สามารถชะลอการเกิดความพิการ หรือลดจำนวนครั้งของการกำเริบของอาการได้ โดยยาที่ใช้มีอยู่หลายชนิด ทั้งยังสามารถรักษาตามอาการที่ปรากฏ เช่น ให้ยาเพื่อรักษาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ อาการปวด หรืออาการทางระบบขับถ่ายที่ผิดปกติ และยังมียาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ดีขึ้นอีกด้วยอย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัดว่า โรคเอ็มเอสเกิดจากสาเหตุอะไร จึงไม่สามารถหาวิธีการป้องกันได้ ดังนั้น การดูแลใส่ใจสุขภาพตนเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด รวมทั้งเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที จึงน่าจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดให้ห่างไกลจากโรคเอ็มเอสและโรคร้ายแรงอื่นๆ