เล็งออกกฎฟาร์มเพาะลูกกุ้งสกัดโรค'ตายด่วน'

เล็งออกกฎฟาร์มเพาะลูกกุ้งสกัดโรค'ตายด่วน'

เล็งออกกฎฟาร์มเพาะลูกกุ้งสกัดโรค"ตายด่วน" นายกสมาคมกุ้งไทยชี้สถานการณ์ดีขึ้น คาดผลผลิตปีนี้ 3 แสนตัน

มกอช.เตรียมประกาศออกมาตรฐานฟาร์ม เพาะลูกกุ้งขาวแวนนาไมระยะนอเพลียสปลอดโรค หวังใช้เป็นเครื่องมือแก้โรคระบาด"อีเอ็มเอส"

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมประมง จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มเพาะลูกกุ้งขาวแวนนาไมระยะนอเพลียสปลอดโรค เพื่อให้สอดรับกับปัญหาระดับประเทศที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ต้องการลูกกุ้งคุณภาพดี ปลอดโรคที่ผลิตจากโรงเพาะฟักที่มีมาตรฐานการผลิต รวมทั้งเป็นการจัดระเบียบผู้ผลิตกุ้งให้มีระบบการกักกันโรคที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่าร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มเพาะลูกกุ้งขาวแวนนาไมระยะนอเพลียสปลอดโรค ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว โดยคณะกรรมการวิชาการฯมีมติให้มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้เป็นมาตรฐานบังคับ ในฟาร์มเพาะลูกกุ้งขาวแวนนาไมระยะนอเพลียสเท่านั้น เป็นขั้นตอนแรกของการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงกุ้ง เพื่อให้ได้ลูกกุ้งขาวแวนนาไมที่มีคุณภาพและปลอดจากโรคที่กำหนด

ออกมาตรฐานฟาร์มกันโรคตายด่วน

สำหรับแนวทางการป้องกันโรคกุ้งที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากการผลิต ที่ระดับต้นน้ำ หรือการผลิตนอเพลียสจะต้องมีการผลิตในระบบที่ปลอดโรค เพื่อไม่ให้มีการถ่ายทอดโรคจากพ่อแม่พันธุ์มาสู่ลูกกุ้ง ทำให้ลูกกุ้งไม่มีคุณภาพ เป็นสาเหตุทำให้โรคมีการแพร่กระจายไปยังแหล่งผลิต คาดว่ามาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มเพาะลูกกุ้งขาวแวนนาไมระยะนอเพลียสปลอดโรค จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาโรคกุ้งตายด่วนได้

“เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งของไทยประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (อีเอ็มเอส) ในลูกกุ้งอายุประมาณ 1-2 เดือน สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งลดลงกว่า10 % ในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากุ้งปีละเกือบ 100,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก หากไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วนได้ อนาคตคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากุ้งอย่างสูง” นายพิศาล กล่าว

นายพิศาล กล่าวว่าร่างมาตรฐานดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงร่างมาตรฐานฯให้มีความสมบูรณ์ อยู่ในแนวทางที่เหมาะสมและนำไปใช้ปฏิบัติได้ในระดับฟาร์ม ก่อนที่จะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับใช้

สมาคมกุ้งชี้สถานการณ์ดีขึ้น

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่าขณะนี้เกษตรกรกล้าลงลูกกุ้งมากขึ้น หลังจากเริ่มเรียนรู้แนวทางการเลี้ยงให้รอดได้ ที่ต้องอาศัยเทคนิควิธีการการ พิถีพิถันมากขึ้น ทั้งการคัดลูกกุ้ง การเตรียมบ่อ และการดูแลฟาร์ม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในภาพรวม ทั้งหมดนี้แม้จะส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น แต่จากราคากุ้งที่ยังสูงอยู่ ขนาด 80 ตัวต่อกิโลกรัมที่ 186 บาทถือว่าจูงใจให้ขยายเลี้ยง คาดว่าปีนี้จะได้ผลผลิตอย่างน้อย 2.5 แสนตัน โดยต้องรอผลจัดเก็บกุ้งรอบแรกของครึ่งปีหลัง หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เต็มที่ปีนี้ผลผลิตกุ้งจะได้ประมาณ 3 แสนตัน และการเลี้ยงกุ้งของไทยน่าจะดีขึ้นในกลางปีหนน้า

คสช.อนุมัติ16ล้านแก้โรคอีเอ็มเอส

การให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพื่อควบคุมและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากกลุ่มอาการตายด่วนในกรอบวงเงิน 16.095 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากการปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ภายใต้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2557 มาดำเนินการก่อน หากไม่เพียงพอให้ขอการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับงบประมาณส่วนที่เหลือจากการอนุมัติให้จัดตั้งคำของบประมาณในปี 2558

ทั้งนี้ กรมประมงได้ดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2557 เพื่อมาดำเนินโครงการเร่งด่วน ในวงเงิน 16.095 ล้านบาทแล้ว และจะขอสนับสนุนรายจ่ายจากงบกลาง วงเงินอีก 80 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 3 กิจกรรม คือการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธ์กุ้งคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน เฝ้าระวังโรคกุ้งเพื่อยับยั้งโรคตายด่วน และเพิ่มกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 เพื่อฟื้นฟูแหล่งเลี้ยงกุ้งทะเล