'หอมแดงโมเดล'ตัวอย่างจากยางชุมน้อย

'หอมแดงโมเดล'ตัวอย่างจากยางชุมน้อย

เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง จัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง วันนี้ได้มีการวางระบบในการที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาว

หอมแดง ศรีสะเกษ นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลัก รองจากข้าวหอมมะลิของจังหวัดศรีสะเกษ ในบรรดาพืชอายุสั้น ที่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกรที่ปลูกหอมแดงได้อย่างมหาศาล พร้อมๆ กับความเพียรพยายามที่จะต้องใส่ใจ นอนดึก ตื่นแต่เช้า เอาใจใส่ดูแลมากยิ่งกว่าเลี้ยงลูกน้อย

ซึ่งที่ผ่านๆ มาเกษตรกรต้องดูแลตนเอง เริ่มนับตั้งแต่การแสวงหาพันธุ์ การแสวงหาภูมิความรู้ การปลูก การดูแลเอาใจใส่ การเตรียมดิน การเก็บเกี่ยว รวมทั้งการนำไปจำหน่าย เรียกได้ว่าตามยถากรรม และที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาตกต่ำ และพ่อค้าคนกลางกดราคาจนนำไปสู่ปัญหาเทหอมทิ้ง จนเป็นข่าวหน้า 1 หลายวัน

เมื่อปี 2554 ได้มีองค์กรของรัฐเข้ามาจัดระบบการจัดซื้อ การรวบรวมหอมแดง จากมือเกษตรกร เพื่อที่จะแทรกแซงตลาดหอมแดง โดยคาดการว่าจะทำให้พ่อค้าขยับราคาให้สูงขึ้น รัฐจะเป็นตัวกลางในการส่งออกหอมแดงศรีสะเกษ ไปยังแหล่งผู้บริโภค รวมทั้งการส่งต่อไปยังพ่อค้าคนกลาง ปลายทาง แต่ผลกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด พ่อค้าหันไปซื้อหอมจากที่อื่น ทำให้หอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษราคาตกเหมือนเดิม จนสุดท้าย อคส.เข้ามารับซื้อและเอาหอมแดงไปเก็บรักษาไว้ตาม ศาลาวัด อาคารหอประชุม โรงยิม ต่างๆ สุดท้ายหอมแดงเน่าเสียหายจนกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า

จากนั้นสำนักงานเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการประชุมทีมงานเกษตรกรอำเภอยางชุมน้อย เชิญผู้รู้ ภูมิปัญญามาร่วมหารือ ในการที่จะเริ่มดำเนินงาน หอมแดงยางชุมน้อยโมเดล โดยการตั้งประเด็นปัญหา ว่าทำอย่างไรหอมแดงศรีสะเกษ หอมแดงยางชุมน้อยจะ ได้คุณภาพ ได้ราคา และแน่นอนว่าจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเกษตรกรก่อนเป็นลำดับแรก เกษตรกรจะต้องมีภูมิปัญญา วิชาการในการปลูก มีความชำนาญ เป็นมืออาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอยู่แล้ว ปลูกมามากกว่า 10 ปี แต่การที่จะเข้าสู่กระบวนการทางวิชาการเกษตรจะต้องได้ มีการตั้งโรงเรียนหอมแดง ประจำหมู่บ้าน รับสมัครทั้งนักเรียน และครูผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ มีการเรียนรู้ศึกษาการปลูกหอมแดงไปด้วยกัน โดยมีเกษตรกรตำบล เกษตรกรยางชุมน้อย เป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลา

จากนั้นจะต้องจดทะเบียน ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกหอมแดง กับสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อควบคุมพื้นที่ปลูก ระยะเวลาในการปลูก เก็บเกี่ยว การตากแขวนหอมแดง ตลอดจนการนำลงมามัด การตัดหอมแดง ก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด ทุกอย่างจะต้องมีปฎิทิน ซึ่งด่านราคานั้น เชื่อว่าหากหอมแดงมีคุณภาพ หัวใหญ่ แห้งแดง คอเล็ก เก็บได้ตามระยะเวลาคุณภาพ ราคาดีแน่นอน

ทองสี สีหะวงษ์ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/1 บ้านยางชุมน้อย หมู่ที่ 9 ตำบลยางชุมน้อย อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็น อาสาสมัครเกษต บ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรในเขตอำเภอยางชุมน้อย ที่มีการปลูกหอมแดง เป็นพืชรองจากนาข้าวมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนาข้าวได้ผลน้อย รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่พอมาปลูกหอมแดง ก็ต้องเสี่ยงสภาวะราคาที่ตกต่ำมาโดยตลอด บางปีใครที่ขายหอมแดงก่อนโดยนำหอมอ่อนเริ่มฉีดน้ำออกมาขายก็ได้ราคาดี พอส่งไปถึงปลายทางพ่อค้าพบว่าหอมแดงอ่อนเน่าเสียก็ตีกลับราคาก็ตกลง จากขายได้ต้นปีกิโลกรัมละ 18 บาท ตกลงมาเหลือ กิโลกรัมละ 5 บาท สุดท้ายก็ขอร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วย พอภาครัฐเข้ามาเกษตรกรเองก็ไม่มีความซื่อสัตย์ บางกลุ่มยังเห็นแก่ตัว ก็ทำพัง ราคาก็ตกลงมาอีก

" วันนี้ได้มีการวางระบบในการที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาว จากตัวเกษตรกร สู่เกษตรกรกันเอง พูดคุยวางระเบียบกันโดยมีเกษตรกรอำเภอ เกษตรตำบล เป็นที่ปรึกษา ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง จัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง วางระเบียบวินัยนับตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การควบคุมการฉีดยา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว เพื่อให้หอมแดง ออกมาคุณภาพ ได้ขนาดที่ตลาดผู้บริโภคต้องการ คำจำกัดความหอมแดงคุณภาพก็คือ มัน แห้ง แดง คอเล็ก ผิวเป็นมัน หัวแห้งพอดี สีแดงสด คอเล็กเรียว คือ หอมคุณภาพดี"ทองสี บอก

ด้าน อดิศักดิ์ คำสงค์ เกษตรอำเภอยางชุมน้อย กล่าวว่า ตนมาทำงานที่อำเภอยางชุมน้อย ก็มาพบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรในการปลูกหอมแดงออกสู่ตลาดมีมาก มีตลอด หอมแดงไม่ได้ราคา หอมแดงไม่ได้คุณภาพ หอมแดงราคาตกต่ำ ม๊อบเกษตรกรหอมแดง พ่อค้าโก่งราคา รวมทั้งหอมแดงเน่า อื่นๆ ตนจึงได้นำเรื่องหอมแดง เข้าสู่ที่ประชุมเกษตรจังหวัด นำเสนอต่อ ทวี มาสขาว เกษตรจังหวัด ต่อที่ประชุมเกษตรอำเภอ หาทางแก้ไขตามหลักวิชาการ ได้รับคำแนะนำ และร่วมนำออกมาปฎิบัติ ก็คือ การรวบรวมเกษตรกรที่หัวไวใจสู้ ต้องการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอย่างยั่งยืน นำมาจัดตั้งเป็นโรงเรียนหอมแดง สอนการปลูกหอมแดงคุณภาพ GAP คือ Good agricural practice หรือ การทำเกษตรที่ดี ที่ถูกกต้อง เหมาะสม การรักษาวินัยการปลูกหอมแดงของเกษตรกร การซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกหอมแดง การร่วมวางแผนการปลูกตามคิว ตามระยะ การเก็บเกี่ยว อายุของการปลูกจนเก็บเกี่ยวต้องได้ 70 -75 วัน จากนั้นนำมาแขวนไว้ผึ่งลม 14 วัน ขณะที่ปลูกจะต้องมีสายตรวจเข้าไปสุ่มตรวจเป็นระยะๆ การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี การฉีดยาเท่าที่จำเป็น การรดน้ำ ทุกอย่างจะต้องอยู่ในการควบคุมของผู้นำโรงเรียนหอมแดง เมื่อได้ตามมาตรฐานแล้ว จึงจะได้ใบรับรอง หอมแดง GAP ขายได้ราคาแน่นอน เพราะพ่อค้าที่จะมารับซื้อไปขายส่งต่อยังผู้บริโภคก็มั่นใจ ราคาไม่มีตกแม้จะปลูกก่อนปลูกหลัง

"เพราะหอมแดงจะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกันยายน มาเก็บมกราคม ยาวไปจนถึง มีนาคม ของทุกปี ในปีนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกหอมแดง ทั้งสิ้น จำนวน 2,956 ราย มีพื้นที่ปลูกหอมแดง จำนวน 12,995 ไร่ คาดว่าผลผลิตตจะได้ราวๆ 38,000 ตัน หรือ 380,000 กิโลกรัมๆ ละ 16 - 20 บาท จะมีเงินไหลเข้าอำเภอยางชุมน้อย ราว 6 - 8 ล้านบาท ขณะที่ในจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกหอมแดงที่อำเภอราษีไศล, วังหิน, กันทรารมย์, ปรางค์กู่, ศรีรัตนะ และอำเภอบึงบูรณ์ บางส่วน รวมแล้วในปีหนึ่งๆ จะมีเงินไหลเข้าจากการขายหอมแดงมาสู่จังหวัดศรีสะเกษ กว่า 100 ล้านบาทในแต่ละปี"อดิศักดิ์ บอก

ในขณะที่ผู้รวบรวมหอมแดงอย่าง รจนา พิมโคตร อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 6 ตำบลยางชุมใหญ่ อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรับซื้อหอมแดงจากพื้นที่จากมือเกษตรกรโดยตรง ก่อนส่งไปยังพ่อค้าปลายทาง คนกลาง กล่าวว่า ตนเองอยู่ในพื้นที่ก็พอที่จะทราบว่าหอมแดง ของเกษตรกรรายไหนคุณภาพไม่คุณภาพ มีการผลิตที่เอาใจใส่เป้นอย่างดีหรือปล่อยปละละเลย ไม่ได้คุณภาพ นับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การปลูก การเก็บเกี่ยว การผึ่งลมแขวนหอม การมัดหอม ตัดหอม จะตระเวนดูหมดเพื่อที่จะคัดเลือกรับซื้อหอมแดง เอาไปส่งขาย เพราะตนเองก็จะต้องรักษาชื่อเสียงของตนในปีต่อๆ ไปด้วย หากเลือกซื้อหอมแดงไมดีมีมีคุณภาพส่งไปก็จะถูกตีกลับหอมแดงมาคืน ตนเองก็ขาดทุนเพราะซื้อไปแล้วขายต่อไม่ได้ ก็จะเลือกเอาเฉพาะที่ดีมีคุณภาพ

"ภายหลังจากที่เกษตรได้เข้ามาจัดระเบียบในการปลูก นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การจัดตั้งโรงเรียนหอมแดงเพื่อให้เกษตรกรดูแล ตรวจสอบคุณภาพซึ่งกันและกัน ให้ปฎิบัติตามวินัยที่ร่วมกันวางไว้ในการผลิตหอมแดงคุณภาพ พ่อค้าอย่างตนก็สบายใจเพราะจะได้หอมแดง คุณภาพที่ดีไปส่งต่อ และสามารถที่จะให้ราคาสูงได้หากของดีจริง ปีต่อๆ ไปก็จะสามารถขยทายตลาดไปได้เพิ่มมากขึ้น หากหอมแดง ออกจากมือเกษตรกรคุณภาพดีตลอดเช่นนี้"รจนา กล่าว

อย่างไรก็ดี วันนี้แม้ว่าทุกภาคส่วน โดยเฉพาะส่วนราชการ ซึ่งจะมีทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ มีวิชาการ มีขั้นตอนที่ชัดเจน แต่หากขาดซึ่งความร่วมมือจากเกษตรกรแล้ว ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย และหอมแดงโมเดลจากอำเภอยางชุมน้อยนี้ คงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชผลการเกษตรอื่นๆ ให้มีการเตรียมพร้อมและผลิตออกมาให้มีคุณภาพเพื่อจะได้ไม่ให้ราคาตกต่ำต้องเทผลผลิตทิ้งอย่างที่เห็นๆกัน.