นักวิจัยมหิดลวอนรัฐหนุนนำวิจัยไข้เลือดออก
นักวิจัยมหิดลระบุคนไข้ติดเชื้อครั้งที่ 2 ขณะที่มีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ต่ำจะมีอาการรุนแรง และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
นักวิจัย สกว. จากมหิดลไขความจริงทางวิทยาศาสตร์ของไข้เลือดออก ชี้คนไข้ที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 ขณะที่มีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ต่ำจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ยันขณะนี้ไทยยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันได้จริง แต่กำลังพัฒนาวัคซีนต้านสายพันธุ์ที่ 3 วอนรัฐให้การสนับสนุนการวิจัยและผลิตบุคลากรมากขึ้น
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาเรื่อง ไขความจริงทางวิทยาศาสตร์ของ "ไข้เลือดออก" โดย ศ. ดร.ศุขธิดา อุบล ภาควิชาจุลชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญไวรัสเดงกี่ และ ผศ. พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ภาควิชาจุลชีววิทยา กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันและโรคเลือด ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดโรค อาการ การป้องกันและรักษา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีน
ศ. ดร.ศุขธิดาระบุว่า พาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออกคือ ยุงบ้าน ซึ่งในประเทศไทยมียุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกจากการกัดผู้ป่วยโดยตรงร้อยละ 0.2-2 และสามารถถ่ายทอดจากแม่ยุงสู่ลูกยุงผ่านไข่ได้ ทั้ง นี้เชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์มีทั้งเชื้อก่อโรครุนแรงและไม่รุนแรง สำหรับอาการของนายทฤษฎี สหวงษ์ (ปอ) ดาราหนุ่มนั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์หรือไม่ จนกว่าจะแยกเชื้อไวรัสและศึกษา พันธุกรรมรวมถึงคุณสมบัติของไวรัสก่อน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงของโรคเกิดจากระบบภูมิต้านทานของตัวผู้ป่วย โดยผู้ติดเชื้อครั้งที่ 2 ด้วยสายพันธุ์ที่ต่างจากครั้งแรกจะมีอาการรุนแรงมากกว่า 15-80 เท่าของคนที่ติดเชื้อครั้งแรก และ ถ้าการติดเชื้อในครั้งที่ 2 ข้ามสายพันธุ์ในระยะมากกว่า 6 เดือน – 2 ปี จะทำให้ภูมิต้านทานลดต่ำลง และไปส่งเสริมให้เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น เม็ดเลือดขาวไม่สร้างภูมิ คุ้มกันต่อไวรัส 100-1,000 เท่า ไปทำลายเกล็ดเลือดและเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด การแข็งตัวของเลือดเสีย จนนำไปสู่ภาวะช็อค นอกจากนี้ยังมี NS1 ซึ่งเป็นท็อกซินของไวรัสเดงกี่ ถ้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นพร้อมกับที่มีจำนวนของไวรัสมากขึ้น แล้วไปจับกับโปรตีนบนผิวของเม็ดเลือดขาว จะทำให้ผนังหลอดเลือดรั่ว
ผศ. พญ.อรุณีกล่าวเสริมว่า เมื่อเกล็ดเลือดถูกทำลาย ติดเชื้อในสเต็มเซลล์ที่สร้างเกล็ดเลือด และไปกดการสร้างท็อกซินต่อร่างกาย จะทำให้ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เลือดออก ง่าย ยิ่งหากมีแผล เช่น แผลในกระเพาะอาหาร แล้วรับประทานยาลดไข้สูงๆ หรือยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโปรเฟน จะไปกัดกระเพาะอาหาร ยิ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผลมากขึ้น และเสียเลือดไปเรื่อย ๆ เลือดจะเข้มข้นขึ้น มีน้ำเหลืองรั่วออกมา และช็อคในที่สุด ปกติแล้วคนไทยจะรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ในปริมาณที่มากเกินไป ปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ ไม่เกินวันละ 6 เม็ด หรือ 1-1.5 เม็ดต่อมื้อ
แต่คนที่เป็นไข้สูงมักรับประทาน 2 เม็ดทุก 4 ชั่วโมง เฉลี่ย 10-12 เม็ดต่อวัน ทำให้ตับมีปัญหา จึงอยากรณรงค์ให้มีการรับประทานยาลดไข้อย่างถูกต้อง รวมถึงหากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกในช่วงที่จะมีหรือกำลัง มีประจำเดือนให้แจ้งแพทย์ผู้รักษา แพทย์จะให้ยาเลื่อนประจำเดือนเพื่อลดปัญหาโรคแทรกซ้อน เพราะเคยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิตขณะมีประจำเดือนมาแล้วเมื่อ 3-4 ปีก่อน
ทั้งนี้ผู้ป่วยไข้เลือดออกระยะเริ่มแรกมักแยกอาการไม่ออกกับไข้ปกติ หากมีไข้สูงเกิน 2-3 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระบอกตา กระดูก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของ สภาพร่างกายด้วย ในผู้ใหญ่มักวินิจฉัยโรคได้ช้าไม่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ไม่มีการวัดไข้ และมีสติดี คิดว่านอนพักฟื้นแล้วจะดีขึ้น คนที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่อาศัยอยู่คนเดียว จากสถิติพบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดคือ ทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อขณะแม่ตั้งครรภ์ ส่วนอายุมากที่สุดคือ 92 ปี โดยกลุ่มหลักที่ติดเชื้อไข้เลือดออกมากที่สุดในขณะนี้คือ ผู้มีอายุระหว่าง 10-25 ปี
สำหรับการให้เลือดแก่ผู้ป่วย ศ. ดร.ศุขธิดากล่าวว่า จะไม่ให้เกล็ดเลือดกับผู้ป่วยทุกราย หากไม่มีแผลเลือดออก เกล็ดเลือดจะเพิ่มปริมาณเองโดยธรรมชาติเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น ส่วนการบริจาคเลือด ในขณะนี้ยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกจึงน่าเป็นห่วง เพราะบางคนไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ขณะที่การพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกนั้นยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออก โดยทั่วไปอาการของโรค จะรุนแรงในวันที่ 4-5 แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หลังจาก 2-3 วันไปแล้ว แพทย์มีโอกาสให้ยาเพียง 1-2 วันจึงไม่สามารถรักษาได้ทัน ความหวังจึงอยู่ที่การใช้วัคซีนป้องกันเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน
โดย ศ. นพ.ณัฐ ภมรประวัติ และ รศ. ดร.สุธี ยกส้าน เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกในโลกที่พัฒนาเชื้อไวรัสเดงกี่อ่อนฤทธิ์ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ยังไม่สามารถพัฒนาออกมาเป็นวัคซีนได้ ทั่วโลกพยายามทำวิจัยและพัฒนาวัคซีน จากไวรัสเชื้อเป็นและเชื้อตาย และโปรตีนบางส่วนของไวรัส แต่ที่พัฒนาได้ไกลที่สุดคือ นำโปรตีนของเปลือกหุ้มไวรัสมาโคลนอยู่ในไวรัสไข้เหลืองและใช้ในแอฟริกา จากการทดสอบในประชากรพบว่ามี ประสิทธิภาพสูงสุดเพียงร้อยละ 60 และครอบคลุมเฉพาะเดงกี่ที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยฉีดเข้าไปพร้อมกัน แต่เกิดปัญหาการต่อสู้กันเองของแต่ละสายพันธุ์ ทำให้ภูมิต้านทานไม่เท่ากัน อีกทั้งไม่ครอบคลุมถึง NS1 ท็อกซินของไวรัสที่ก่อปัญหา
“ปัจจุบันนักวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว.และสถาบันวัคซีนในการทำวิจัยระดับปริญญาเอก รวมถึงการพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 3 ภายใต้ทุนโครงการปริญญาเอก กาญจนาภิเษก (คปก.) เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ได้ยากที่สุด หากประสบความสำเร็จก็จะขยายผล ให้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ เหตุที่ใช้การพ่นทางจมูกเนื่องจากการให้วัคซีนโดยการฉีดประมาณ 3-4 ครั้ง เด็กมักงอแง การพ่นจมูกจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยนักวิจัยจะทำการทดลองกับสัตว์ในห้องปฏิบัติการเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนทำการทดลองในคนซึ่งต้องทำกับคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเท่านั้น จึงอยากวิงวอน ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยเกี่ยวกับไข้เลือดออกและการผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่ คือ ความรวย เพราะการใช้ชีวิตที่สุขสบายตั้งแต่เด็กจะทำให้มีภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชิ้อได้มากขึ้นและง่ายขึ้น” ศ. ดร.ศุขธิดากล่าวทิ้งท้าย