แพทย์เตือนเด็กต่ำกว่า 5 ขวบควรป้องกันไอพีดี
แพทย์เตือน “ป้องกันดีกว่าการรักษา” ผู้ปกครองควรป้องกันโรคไอพีดี โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และโรงพยาบาลศิริราช เร่งส่งเสริมสร้างความรู้เรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและการป้องกันโรคผ่านทางโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงแก่โรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อในเด็กทั่วทุกภูมิภาค หวังเตือนผู้ปกครองสร้างภูมิคุ้มกันโรคไอพีดีแก่เด็กในประเทศไทยหลังพบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากโรคปอดบวมสูงถึงร้อยละ 9.2 ในปี 2558[1]
โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลกประจำปี 2559 ที่ผ่านมาโดยองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ซึ่งปีนี้ได้มีการส่งเสริมเรื่องการลดช่องว่างการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันโรคด้วยวัคซีน และรณรงค์ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการปกป้องจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน จากสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่าการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึง 2 - 3 ล้านคนต่อปี[2] โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน ได้รับการยอมรับให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ลดการเกิดโรคคอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก, หัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, ไวรัสตับอักเสบเอ, ไวรัสตับอักเสบบี, อีสุกอีใส รวมทั้งโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส[3]
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวนัทปรียา พงษ์สามารถ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ทางเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ในการเป็นตัวแทนภาคกลางในการรับมอบวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงในภาคนี้ แม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคไอพีดีในประเทศไทยยังคงมีข้อมูลที่จำกัด แต่จากข้อมูลในประเทศไทยที่ทำการรวบรวมข้อมูลในจังหวัดสระแก้วและนครพนมได้แสดงให้เห็นว่าอุบัติการณ์ของโรคไอพีดีอยู่ที่ 3.6 ต่อ100,000 ประชากรต่อปี ซึ่งอุบัติการณ์จะสูงขึ้นประมาณ 3 เท่าในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสูงขึ้นประมาณ 10 เท่าในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์นี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 4 ได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน ซึ่งอาจทำให้ตรวจไม่พบจากการเพาะเชื้อได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยโรคไอพีดียังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึงร้อยละ 23[4]”
รองศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปีที่แล้ว ทางสมาคมฯได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันไอพีดีเพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวน 500 โด๊สแก่โรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งมีเด็กในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วมากกว่าหลายร้อยคน ในปีนี้เราได้เพิ่มจำนวนการส่งมอบเป็น 5,000 โด๊ส เพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและยังไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันได้เพิ่มมากขึ้นและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยจะครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย”
ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคและลดการเสียชีวิตจากโรคนี้ จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งมอบวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีและยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ได้ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพเด็กเล็กให้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมไทย
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “การร่วมมือกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมทำโครงการร่วมกัน เพื่อเป็นการผสานพลังในการลดช่องว่างของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของมูลนิธิฯเราในการเพิ่มช่องทางการให้ความรู้และการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชาชน พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวัคซีนที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเราได้ให้ความสำคัญในการกระจายการส่งมอบวัคซีนให้เข้าถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุด โดยเน้นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและสมควรได้รับการป้องกันเป็นอันดับแรก”
ทั้งสององค์กรได้ให้ความสำคัญในการส่งมอบวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ทางบ้านมีรายได้ครัวเรือนต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงและยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีมาก่อน เด็กกลุ่มเสี่ยงตามตารางการให้วัคซีนในเด็กซึ่งแนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต และเบาหวาน อีกด้วย
รศ.พญ. วนัทปรียา กล่าวเสริมต่อว่า “โรงพยาบาลศิริราชมีเด็กที่มารับบริการในปี พ.ศ. 2556-2558 ประมาณ 280,000 ครั้งต่อปี โดยตกเฉลี่ยเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคไอพีดีประมาณ 23,000 ครั้งต่อปี หรือประมาณร้อยละ 8 ของผู้ป่วยเด็กทั้งหมดที่มารับบริการที่โรงพยาบาล เนื่องจากทางโรงพยาบาลมีเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก จึงให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดีในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงมากก่อน เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกและอวัยวะ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง และผู้ป่วยไม่มีม้าม เป็นต้น”
“โรคไอพีดีอาจมีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับเด็กที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนี้หากรอดชีวิต อาจจะมีความพิการและความผิดปกติทางระบบประสาทหลงเหลือ หรืออาจมีปัญหาการได้ยินซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการและการพูดในอนาคตได้” รศ.พญ. วนัทปรียา กล่าวปิดท้าย