เตือน'ยาทรามาดอล'เป็นยาอันตราย ใช้ยาแบบผิดๆถึงตาย

เตือน'ยาทรามาดอล'เป็นยาอันตราย ใช้ยาแบบผิดๆถึงตาย

อย.ลั่น “ทรามาดอล”เป็นยาอันตราย มีมาตรการควบคุมเข้ม เตือนใช้ยาแบบผิดๆถึงตาย

จากกรณีหญิงสาวรายหนึ่ง โพสต์ภาพและข้อความเตือนภัยถึงอันตรายของ ‘ยาทรามาดอล’  หรือที่วัยรุ่นไทยนิยมเรียกติดปากว่า ‘เขียว-เหลือง’ ตามลักษณะสีแคปซูลของยา ซึ่งวัยรุ่นนำมาใช้ในทางที่ผิด ด้วยการรับประทานคู่กับเครื่องดื่มต่างๆ โดยหญิงสาวดังกล่าวระบุว่า  “เตือนภัยน้ะค้ะ คนที่ชอบกินเขียวเหลืองกินจนติด คือ ตอนนี้แฟนเราอาการหนักมากทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก คือแรกๆมันยังไม่เกิดอาการแต่พอมาวันนึงแฟนเราเริ่มเอาแต่นอนไม่ยอมลุกออกจากที่นอนเค้าบอกว่าเค้าลุกไม่ไหวพอเค้าลุกเข้าห้องน้ำเค้าเซเค้าจะล้มตลอดแฟนเราไม่สามารถเดินได้รักษาก็ยังไม่หาย จำอะไรไม่ค่อยได้สมองเบลอหลงๆลืม ตาค้างเหม่อเลยตลอดเวลานอนก็นอนไม่หลับต้องไห้กินยานอนหลับทุกวันกินข้าวก็กินไม่ค่อยได้น้ำหนักลง7-8โล ขนาดลุกนั่งแฟนเรายังทำไม่ได้เลยแฟนเราชอบนอนเพ้อนอนคุยคนเดียวตอนนี้คนที่กินอยู่เลิกเถ่อะเชื่อเรามันจะมีผลค้างเคียงตามมาทีหลังแรกๆมันยังไม่เกิดอาการแต่ถ้ากินเข้าไปมากๆมันจะสะสมในร่างกายทำไห้ร่างกายไม่มีแรงเจ็บกระดูก ทำลายสมองความจำเสื่อม ถ้าไม่อยากเป็นแบบแฟนเราเลิกกินเถ่อะก่อนมันจะสาย #ถ้ารักตัวเองก็เลิกกันเถ่อะค่ะ“

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ภก.ประพนธ์  อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ทรามาดอล เป็นยาแก้ปวดใช้บรรเทาอาการปวดชนิดรุนแรงหรือปวดเรื้อรัง เช่น กรณีแผลผ่าตัด หรือปวดข้ออย่างรุนแรง เฉียบพลัน จัดเป็นยาอันตรายต้องได้รับการควบคุมตามกฎหมาย ในการควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)นั้น ในส่วนของผู้ผลิต จะผลิตปริมาณเท่าใดต้องรายงานมาทางอย.โดยระบบออนไลน์  ขณะที่ร้านขายยาสามารถซื้อยานี้ได้ครั้งละ 1,000 เม็ดต่อเดือน และจ่ายยาให้ผู้ซื้อครั้งละไม่เกิน 30 เม็ดต่อครั้ง ซึ่งจะต้องจ่ายยาตามอาการบ่งชี้ เพราะสามารถใช้ยาตัวนี้ได้ไม่เกิน 5-7 วัน ไม่ควรเกินกว่านี้ และไม่ขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี นอกจะนี้ ร้านขายยาจะต้องทำบัญชีการขายยาตัวนี้ด้วย ดังนั้น การลงระบบออนไลน์สาธารณสุขทุกจังหวัดจะรู้ว่าร้านไหนซื้อยาไปเท่าใด กรณีการขายยาจะขายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น หากพบไปขายในอินเตอร์เน็ต ตลาดนัด หาบเร่แผงลอยถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000บาท

“ยาทุกตัวมีประโยชน์หมด แต่ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน เวลาใช้ยาต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ ดูฉลากยาให้ดี อย.ก็ได้เข้มงวดทางเภสัชกรให้จ่ายยาตามที่มีอาหารบ่งชี้ หากบริโภคยาตัวนี้เกินขนาดก็จะมีอาการตั้งแต่ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ถึงขั้นเสียชีวิตได้”ภก.ประพนธ์กล่าว  

ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังมีการเสนอให้มีการพักใบอนุญาตในการขายยา หากพบว่ากระทำความผิด ซึ่งปกติจะมีการพักใช้ครั้งละ 120 วัน ไม่สามารถขายยาได้  หากเป็นเภสัชก็จะมีการส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมในการพักใช้ใบประกอบวิชาชีพ แนวทางการแก้ไขเรื่องนี้ไม่ใช้การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน โดยคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับขอมึนเมา สื่อเองก็ต้องช่วยกันจะรณรงค์ไม่ให้เยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ปกครอบก็ต้องจับตาดูบุตรหลานเช่นกัน ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการการปราบปรามก็กำลังทำอยู่ แต่ต้องใช้มาตรการอื่นร่วมกันด้วย หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งเรื่องมาได้ที่ เบอร์ 1556 หรือสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นอย.แล้วสามารถส่งเรื่องเข้ามาได้เลยหากมีหลักฐานพร้อมก็สามารถจับกุมได้ทันที