ยาเบาหวานรุ่นใหม่ลดเสี่ยงน้ำตาลต่ำและไม่อ้วน
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในเขตเมือง คือ ความอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ผู้หญิงไทยมีภาวะอ้วนมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากมาเลเซีย มีสาเหตุจากการกินอาหารไม่ถูกสุขภาวะ และขาดการออกกำลังกาย
ในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานรวมกันแล้วกว่า 5 ล้านคน และอีกกว่า 415 ล้านคนยังต้องเผชิญกับโรคเบาหวาน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 50 ที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งหมายความว่า ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเพราะได้รับการวินิจฉัยล่าช้า นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละกว่า 8,000 คน โดยในปี 2557 มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 หรือ 4.8 ล้านคน สูงกว่าปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมีร้อยละ 6.9 หรือ 3.3 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือมีคนไทยมากถึง 2 ล้านคนที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ทราบว่าตนเองเป็นและยังไม่เข้าถึงการรักษา และยังมีอีก 7.7 ล้านคนที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในเขตเมือง คือ ความอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยภาวะอ้วนของคนไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงไทยมีภาวะอ้วนมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากมาเลเซีย โดยมีสาเหตุจากการกินอาหารไม่ถูกสุขภาวะ และขาดการออกกำลังกาย
เบาหวาน ตัวการสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงอันดับ 2
นอกจากไตวาย ความดันโลหิตสูงแล้ว โรคเบาหวานยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคแทรกซ้อน อย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทยอีกด้วย โดยโรคเบาหวานที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ชนิด โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเกิดจากร่างกายทำลายเซลล์ของตัวเองที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินโดยปฏิกิริยาอิมมูน เกิดได้กับทุกอายุ แต่มักพบในวัยเด็กหรือผู้ใหญ่วัยต้น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องการอินซูลินเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน แม้ร่างกายผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่เพียงพอที่จะควบคุมระดับน้ำตาล มักพบในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 30 ปี สัมพันธ์กับการมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการดื้ออินซูลิน
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด คือ การเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน มีสาเหตุการเสียชีวิตจากภาวะไตวายและโรคหลอดเลือดหัวใจสูงสุดใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน โรคหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว รวมถึงยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดไตวายในประเทศไทยอีกด้วย"
โรคเบาหวานจัดเป็นโรคที่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรงและต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการรักษาพยาบาล จากข้อมูลของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2551 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยทั้งของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโรคเบาหวานสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี
แนวทางการป้องกันโรคเบาหวาน
กุญแจสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการป้องกัน คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตมาสู่รูปแบบที่ถูกสุขลักษณะ เช่น การลดน้ำหนัก มีกิจกรรมที่ออกแรงมากขึ้น เพิ่มอาหารที่มีไฟเบอร์ ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถ้าสามารถทำได้มากเท่าใด อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานก็จะลดลงมากเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงทุกคนควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน ซึ่งการประเมินความเสี่ยงเพื่อตรวจกรองหาผู้ป่วยนั้น นอกจากจะช่วยค้นหาผู้ที่มีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานในอนาคต ซึ่งจะได้ให้การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานแล้ว ยังช่วยให้ตรวจพบผู้ที่เป็นเบาหวานโดยไม่มีอาการและสามารถให้การรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อีกด้วย
นวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดนี้ยากต่อการควบคุม การรักษาจึงต้องมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ การควบคุมอาหารอย่างระมัดระวัง วางแผนเรื่องการออกกำลังกาย การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และการฉีดอินซูลินแบบหลายครั้งในหนึ่งวัน (MDI) ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น จำเป็นต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และอาจต้องรักษาด้วยยารับประทานและ/หรือฉีดอินซูลินร่วมด้วย
ศ.คลินิก นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ ประธานวิชาการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้วิธี close loop insulin pump หมายถึงผู้ป่วยจะพกพาเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและเครื่องให้อินซูลินเข้าใต้ผิวหนัง ติดไว้กับตัวตลอดเวลา เครื่องตรวจระดับน้ำตาลจะทำการส่งสัญญาณค่าน้ำตาลที่ตรวจได้ไปยังเครื่องให้อินซูลินซึ่งจะเป็นตัวกำหนดขนาดอินซูลินที่จะให้เข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา วิธีนี้เริ่มมีการใช้ในชีวิตจริงทางการวิจัยมาไม่นาน ซึ่งกว่าจะพัฒนาให้ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ทั่วไปคงอีกหลายปี ส่วนการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น ปัจจุบันมียาเม็ดลดระดับน้ำตาลชนิดใหม่ๆ ออกมาหลายขนาน ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดน้อยลงและไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่วนยาฉีดนั้น มีทั้งยาฉีดชนิดที่ไม่ใช่อินซูลิน ซึ่งทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นและทำให้น้ำหนักตัวลดลง และยาฉีดที่เป็นอินซูลิน ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมของยาฉีดอินซูลินที่ออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำน้อยลง และเพิ่มความสะดวกต่อคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องฉีดในเวลาเดิมทุกวัน สามารถเลื่อนหรือฉีดก่อนเวลาประจำได้บ้างโดยที่ประสิทธิภาพในการรักษาไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคเบาหวานให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากการใช้อินซูลินได้ครบตามกำหนดที่แพทย์แนะนำแล้ว ผู้ป่วยยังต้องคุมน้ำตาลด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะควบคู่ไปด้วยเสมอ ทั้งการลดน้ำหนัก รับประทานอาหารที่สมดุล ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่ และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ