20บาทกับ 'Thai School Lunch' เพียงพอ-มีคุณภาพก็ทำได้

20บาทกับ 'Thai School Lunch' เพียงพอ-มีคุณภาพก็ทำได้

เจาะประเด็นร้อน! 20บาทกับ 'Thai School Lunch' เพียงพอ-มีคุณภาพก็ทำได้

หลังมีการเผยแพร่คลิปนักเรียนโรงเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ จังหวัดสุราษฏร์ธานี กินขนมจีนคลุกน้ำปลาเป็นอาหารกลางวัน ทำให้เกิดคำถามว่าค่าอาหารกลางวันอยู่ที่ 20 บาท/คน/วัน ที่รัฐบาลจัดสรรให้นักเรียนก่อนประถมศึกษา (ปฐมวัย) ถึงประถมศึกษาตั้งแต่ปี 2535 นั้น เพียงพอสำหรับโภชนาการของเด็ก แก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการได้หรือไม่

“จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี” ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส กล่าวว่างบประมาณที่จัดให้ 20 บาทนั้นเพียงพอสำหรับการจัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพได้เพียงแต่ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่รับผิดชอบใช้เมนูอาหารกลางวันตาม Thai School Lunch ที่จัดขึ้นตามโครงการเด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ (www.thai schoollunch.in.th) ที่ต้องการให้เด็กไทยมีร่างกายสมบูรณ์ ดูแลเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงให้มีร่างกายที่แข็งแรง มีการพัฒนาทางสมองและร่างกายอย่างสมวัย

รวมถึงให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดีทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านประยุกต์องค์ความรู้จากการดำเนินงานตามรอยพระบาทเจ้าฟ้านักโภชนาการตาม 8 แนวทางของโครงการมีการวางแผนทำเมนูอาหารกลางวัน ปัจจุบันมีเวปไซต์ไว้ให้โรงเรียนสามารถโหลดเมนูอาหารไปใช้ได้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับหลักโภชนาการที่ดี ความอ้วน เตี้ย และลักษณะโภชนาการที่ถูกต้องอื่นๆ ด้วย โดยในโปรแกรมจะออกแบบไว้ว่าถ้าจัดรายการอาหารได้ถูกต้องตามหลักโภชนาการจะมีสีเขียว ถ้าเป็นสีแดงขาด สีม่วงเกิน ซึ่งสามารถปรับลดได้ตามขนาดความต้องการ และสามารถจัดเมนูอาหารกลางวันได้เป็นรายสัปดาห์รายเดือนและทั้งภาคเรียนขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละโรงเรียน

2_11

ทั้งนี้ปริมาณอาหารมื้อกลางวันเด็ก 3 กลุ่มอายุกลุ่มอาหาร (ปริมาณ) ข้าว-แป้ง อายุ 3-5ปี 1.5 ทัพพี ป.1-3 (6-8ปี) 2 ทัพพี ป.4-6 (9-12 ปี) 2.5 ทัพพี และ ม.1-3 (13-15 ปี) 3 ทัพพี, เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ 1.5-2, 2, 2, 3 ช้อน กินข้าว ผัก 0.5, 1, 1, 1 ทัพพี ผลไม้ อัตราส่วน 0.5, 1, 1, 1 และ น้ำมัน 1,1.5, 2, 2.5 ช้อนชา

“อาหารกลางวันที่ควรจัดให้นักเรียน 6-13 ปี ควรประกอบด้วย ข้าว แป้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เนื่้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ขนมหวาน นมวันละ 2 แก้ว โดยเฉพาะผักควรจะมีทุกวัน ปริมาณมากน้อยตามวัยส่วนขนมหวานทำมาจากถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หรือเผือก เพราะให้สารอาหาร กับร่างกายในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อย จะได้รับงบอาหารกลางวันน้อยตามไปด้วยสามารถบริหารจัดการโดยใช้ให้ครูและนักเรียนทำอาหารกลางวันเอง โดยวางแผนการผลิตทางการเกษตรเพื่อนำไปป้อนให้กับโครงการอาหารกลางวัน” จงกลนี กล่าว

ที่สำคัญเด็กได้ทักษะต่างๆ มากขึ้น เช่น ทักษะการชั่งน้ำหนักผัก การขายผัก สามารถคำนวณปริมาณการจัดเก็บผักจากแปลงในแต่ละวันเพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวัน รวมถึงเด็กได้เรียนรู้การลงบันทึกบัญชีผลผลิต โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ รวมทั้งให้ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงปลูกผักปลอดสารพิษนำมาจำหน่ายเป็นอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนได้

“สมร ศิลาคม” ผอ.โรงเรียนบ้านนามั่ง จ.อุดรธานี กล่าวว่า เป็นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ยากจน และทุพโภชนาการ มีนักเรียน 269 คน ครู 17 คน งบค่าอาหารกลางวันที่ได้ 20 บาทไม่เพียงพอ จึงต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นช่วยให้นักเรียนได้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ทุกวิชาที่เรียนผ่านฟาร์มต่าง และบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ โดยมีครู 1 คน นักเรียน 3 คนรับผิดชอบฟาร์มหมุนเวียนเรียนรู้ทุกฟาร์มที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อมีรายได้ก็นำมาใช้จ่ายหมุนเวียนในโรงเรียนและปันผลให้กับผู้รับผิดชอบบริหารจัดการในแต่ละฟาร์ม

ที่นี่มีฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เลี้ยงปลาเป็นอาหารกลางวัน ผลผลิตที่มีมากพอก็นำไปขายเพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนในโรงเรียน แต่ละฟาร์มมีเงินหมุนเวียนประมาณ 50,000-60,000บาท และทุกครั้งที่ทำโครงการต่างๆนักเรียนทุกคนจะต้องถอดบทเรียนวิเคราะห์ว่าพอเพียงหรือไม่ มีเหตุมีผลหรือไม่ กระทบกับสังคม และวัฒนธรรม หรือไม่ ถ้ามีคำถามหรือเหตุต้องปรับปรุงแก้ไขก็ว่าไปตามที่มาของปัญาและแก้ไขตามเหตุและผลตามหลักคำสอนของพ่อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นำมาสอนนักเรียนในการดำรงชีวิต

4_5

เช่นเดียวกับ “สมศักดิ์ วุฒิสัตย์” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง จ.ตาก มีนักเรียนอนุบาล-ม.6 โรงเรียนหลักและสาขา รวมทั้งสิ้น 1,512 คนก็ใช้หลักบริหารของโครงการเด็กไทยแก้มใสใช้เมนูอาหารตาม Thai School Lunch โดยให้ครูและนักเรียนที่ร่วมกันรับผิดชอบในแต่ละวันไปตลาดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหาร โดยหลังจากที่ซื้อมาแล้วจะมีคณะกรรมการตรวจรับว่าถูกต้องตามหลักโภชนาการหรือไม่ และมอบหมายให้ครูเวรและนักเรียนนำไปประกอบอาหารกลางวันต่อไป

“ถามว่า 20 บาทพอมั้ยสำหรับอาหารกลางวันตอบได้เลยว่าถ้าไปซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารอย่างเดียวไม่พอ แต่เราต้องมีวิธีบริหารจัดการให้เพียงพอและมีคุณภาพได้ เช่น ผักเราก็ปลูกเอง ไก่ ปลา ก็เลี้ยง เอาวัตถุดิบเหล่านี้มาประกอบอาหาร และใช้แนวทางเหล่านี้สอนนักเรียนไปในตัวด้วยเพราะนักเรียนทุกคนจะได้เข้าเวรทำอาหารกลางวัน” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ “เด็กไทยแก้มใส” น้อมนำแนวทางการดำเนินงานและเจริญรอยตามพระราชดำริ 8 กิจกรรม ได้แก่ 1) การเกษตรในโรงเรียน 2)สหกรณ์นักเรียน 3) การจัดการบริการอาหารของโรงเรียน 4) การติดตามภาวะโภชนาการ 5) การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน 6) การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ 7) การจัดบริการสุขภาพ และ 8) การจัดการเรียนรู้ : เกษตร โภชนาการ และสุขภาพอนามัย โดยมีเป้าหมายที่จะให้เด็กนักเรียนทุกคนมีโภชนาการดีสุขภาพแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 มีโรงเรียนทุกสังกัดเข้าร่วมกว่า 544 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค 4 สังกัด ได้แก่ สพฐ. อปท. สช. และ กทม.