สสวท.เดินหน้านำวิทยาการคำนวณดันสู่ชั้นเรียน
สสวท.เดินหน้านำวิทยาการคำนวณดันสู่ชั้นเรียน จัดประชานานาชาติ ISMTEC 2018 อบรมครู สร้างเครือข่ายด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเร่งเสริมศักยภาพเด็กไทยก้าวทันเทคโนโลยี
วันนี้(18 ต.ค.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ The International Science,Mathematics and Technology Education Conferentce 2018 (ISMTEC 2018) หัวข้อ Bringing Computational Thinking to K-12 การนำการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณเข้าสู่ชั้นเรียน ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.2561 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานร่วมจัดได้แก่ สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวคท.)
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า การประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และในประเทศจำนวนมากที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อบรมครูให้มีศักยภาพ มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน เพราะต้องยอมรับว่าหากมีการอบรมครูคนละทิศละทาง การพัฒนาครูย่อมเกิดความไม่มีความชัดเจน ไม่เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น งานประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ และเครือข่ายให้แก่ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี หรือครูทุกคนที่เข้าร่วมได้เข้าใจกระบวนการเรียนการสอน ได้มุมมองในการคิดค้นกิจกรรม นำวิทยาการคำนวณ และเข้าใจสะเต็มศึกษามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาครูไทยมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากหากครูได้รับการพัฒนา ยกระดับคุณภาพ ย่อมเกิดการถ่ายทอดไปยังเด็ก ทำให้เด็กมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสสวท. กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าการประชุมวิชาการและนานาชาติครั้งนี้ จะเป็นเวทีกลางที่ให้ครูนักการศึกษาและผู้สนใจจากทั่วโลกได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องร่วมกันโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยทั้งนี้เนื่องจากการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปรับปรุงพ.ศ. 2560 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ได้เพิ่มสาระเทคโนโลยีซึ่งรวมวิชาวิทยาการคำนวณไว้ในการเรียนการสอนด้วย โดยวิทยาการคำนวณเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในการคิดเชิงคำนวณการวางแผน ตลอดจนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบช่วยให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นของกำลังคนคุณภาพในศตวรรษที่ 21 มีความสามารถในการแก้ปัญหาและทักษะการใช้ชีวิตส่งเสริมศักยภาพในการสร้างอาชีพที่แข่งขันได้ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีได้
“งานนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะประสบการณ์ พัฒนาศักยภาพครูวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การบรรยายพิเศษจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ การนำเสนอผลงานวิชาการงานวิจัยและนวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งครูสามารถนำแนวทางในการปรับใช้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้เข้าถึงผู้เรียนทุกวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายชูกิจ กล่าว