กรมอุทยานฯ แจงเหตุต้องปรับปรุงถนนพะเนินทุ่ง ในป่าแก่งกระจาน
กรมอุทยานฯ ชี้แจงเหตุผลที่ต้องปรับปรุงผิวเจราจรถนนพะเนินทุ่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และการตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่
จากกรณีที่ "เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่า 15 องค์กร นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เตรียมเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 พ.ย.นี้ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนพะเนินทุ่ง (สายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง) ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เนื่องจากกังวลกระทบขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่อาจด้อยคุณค่าจากการทำถนนผ่าป่าและชีวิตสัตว์ โดยมีประเด็นปัญหาผลกระทบต่อสัตว์ป่า โดยให้เหตุผล 3 ด้านคือ การปรับปรุงถนนไม่ได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วม ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างการปรับปรุงพื้นผิวถนนเครื่องจักรกลจะกระทบกับสัตว์ป่าหลบหนีลึก และปริมาณรถที่วิ่งจะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติกับศูนย์มรดกโลกไว้แล้วตั้งแต่ปี 2554 และยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นห่วงว่าการปรับปรุงถนนคอนกรีตในแก่งกระจานอาจจะกระทบต่อความเป็นมรดกโลก โดยอ้างถึงตัวอย่างจากกรณีของมรดกโลก 2 แห่งคือ ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ไม่ต้องปรับปรุงถนนคอนกรีตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่กรณีถนนสาย 304 ที่ตัดผ่ากลางป่าเขาใหญ่ -ทับลาน และถนนที่ขึ้นเขาใหญ่ทั้งด่านเนินหอม ปราจีนบุรี และปากช่อง จ.นครราชสีมา ก็เป็นโจทย์ที่คณะกรรมการมรดกโลกให้ไทยแก้ปัญหาด้วยการทำอุโมงค์เชื่อมป่า และถึงตอนนี้มีรายงานยืนยันว่าที่เขาอ่างฤาไนมีสัตว์ป่าหลายชนิดตายปีละ 3,000 ตัว เนื่องจากการทำถนนคอนกรีตต้องผูกเหล็กและเอาเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ ต้องใช้ปูนเทถนน ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างมาก
ทั้ง 2 ประเด็น นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่าถนนสายบ้านกร่างพะเนินทุ่ง สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ระยะทาง 18 กม. เป็นเงิน 28 ล้านบาท หลังดำเนินการเสร็จได้ใช้เป็นเส้นทางตรวจการณ์ในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ ในการเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.19 (เขาพะเนินทุ่ง) และเดินทางไปลาดตระเวนตามแนวชายแดน อีกทั้งยังเป็นถนนสายท่องเที่ยวปกติ ซึ่งจะปิดการท่องเที่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม เดือนตุลาคม ของทุกปี ระยเเวลา 30 ปีถนนทรุดโทรม กรมอุทยานฯ จึงอนุมัติโครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ระยะทาง 3.4 กม. และถนนน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง ใช้งบพัฒนาจังหวัด 10 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ระยะทาง 18.50 กม.พร้อมรางระบายน้ำ ใช้งานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 86 ล้านบาทกำหนดแล้วเสร็จ 9 เมษายน 2563 เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2549 รวมทั้งแนวทางพิจารณาการก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2550 อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงผิวถนนเดิมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เป็นการตัดถนนขึ้นมาใหม่ มิได้ขยายเส้นทางหรือเปิดเส้นทางใหม่
ทั้งนี้ ได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งที่ 1 วันที่ 6 กันยายน 2560 และครั้งที่ 2 28 มิถุนายน 2561 ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประกอบด้วย หน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน (NGO) องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ ซึ่งได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นในการปรับปรุงผิวการจราจรให้คณะกรรมการฯที่มาจากทุกภาคส่วนได้ทราบแล้ว จึงไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยลำพังแต่ประการใด
นายธัญญา แถลงด้วยว่า ประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการขนส่งวัสดุก่อสร้างจะรบกวนความเป็นอยู่ของสัตว์ นั้น ข้อมูลในปี พ.ศ. 2561 มีรถยนต์ที่เข้าไปท่องเที่ยวยังพะเนินทุ่ง จำนวนรวม 21,860 คัน (มีค่าเฉลี่ยจำนวนรถยนต์ ขึ้น ลง วันละ 80 คัน ส่วนการขนส่งวัสดุก่อสร้าง 5,000 เที่ยว เฉลี่ยวันละ 9 คัน สำหรับความกังวลที่อาจทำให้สัตว์ป่าที่เคยเจอตัวง่ายต้องหลบหนีลึกเข้าไปและไม่กล้าออกมาด้านนอกให้เห็นอีกเลย จากการตรวจสอบถนนลาดยางในบริเวณใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ด่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.2 (เขาสามยอด) ถึง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.4 (บ้านกร่าง) ระยะทาง 15 กม. ถนนลาดยาง กว้าง 8 เมตร ซึ่งภายหลังการก่อสร้างและใช้ประโยชน์ยังสามารถพบเห็นสัตว์ป่าออกมาใช้ประโยชน์ บริเวณเส้นทาง และสองข้างทางสม่ำเสมอ อาทิเช่น เสือดาว เสือดำ หมาจิ้งจอก หมาไน กระทิง ช้างป่า ลิงลม เม่น ย่อมแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และยังสามารถปรับตัวอยู่อาศัยได้ตามปกติ
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีความเข้มงวดกวดขัน ในเรื่องการควบคุมการจราจร ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาไม่พบสัตว์ป่าถูกรถชนตาย ในถนนตลอดเส้นทาง ถนนบ้านกร่าง พะเนินทุ่ง กำหนดเวลา ขึ้น ลง และเดินรถทางเดียวไม่ให้สวนทางกัน เนื่องจากสภาพถนนมีความลาดชันสูง คดเคี้ยวและแคบ มีขนาดกว้าง 4 เมตร ไม่สามารถทำความเร็วได้ และกำหนดจำนวนผู้พักค้างแรม ต้องจองล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ และมีการให้บริการรถยนต์สาธารณะของชุมชน ซึ่งทำให้ลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล สำหรับการป้องกันความเร็วของรถยนต์สามารถจัดทำสิ่งกีดขวางเพื่อชะลอความเร็วได้ ตลอดจนจำนวนและระยะเวลาในการเข้าออกของรถยนต์ สามารถประกาศกำหนดได้ตามข้อระเบียบกฏหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น กำหนดให้รถเข้าออก ตั้งแต่เวลา 06.00 น. - 18.00 น. ห้ามรถเก๋งและรถตู้โดยสารขับขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งปัจจุบันได้ใช้มาตรการนี้มาโดยตลอด
ส่วนกรณีข้อกังวลต่อสถานภาพการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก เนื่องจากขณะนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังนั้นหากมีการพัฒนาหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างอันใด จึงไม่จำเป็นต้องรายงานต่อศูนย์มรดกโลก หรือคณะกรรมการมรดกโลก เนื่องจากไม่เข้าข่ายที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางอนุวัตอนุสัญญา (Operational Guidelines)อนึ่ง สำหรับคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของกลุ่มป่าแก่งกระจาน เส้นทางปรับปรุงถนนบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่า OUV ตามเอกสารที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติฯได้สั่งการให้ชะลอโครงการปรับปรุงผิวการจราจรไว้ก่อนแล้ว โดยในขณะนี้ผู้รับจ้างยังไม่ได้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างแต่ประการใด เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้แจ้งให้ผู้รับเหมาทราบว่ายังมีปัญหาข้อขัดแย้ง ต่อกรณีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวข้างต้น จึงยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างเข้าดำเนินการปรับปรุงผิวการจราจรได้ พร้อมทั้งได้มีหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เข้าร่วมหารือเพื่อหาทางออก ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ให้ได้ข้อยุติ ต่อไป