มหิดลแนะปลูกต้นไม้ 5 ชนิดประสิทธิภาพดักฝุ่นระดับ 4 ดาว
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมมหิดล ชี้ปลูกต้นไม้เพิ่มบรรเทาภาวะPM2.5สูง ช่วยดูดซับสารพิษ 10-90% ขึ้นกับชนิดของพืช กรองฝุ่น 60-80% ต้นไม้ใบมากมีขนยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมแนะ 35 ชนิดเหมาะปลูก หาซื้อง่าย
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.62 ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว “มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการทีป่ระชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดลว่า ฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนจะถูกพัดพาหรือตกลงในใบพืชที่มีผิวใบที่มีความชื้น ผิวหยาบหรือมีขนหรือใบที่มีประจุไฟฟ้าผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการตกกระทบ จากนั้นฝุ่นละอองบางส่วนสามารถย้อนกลับไปสู่สภาวะแขวนลอยในอากาศได้เมื่อถูกลมพัด บางส่วนจะถูกดักจับไว้ที่ผิวใบเมื่อฝนตกก็จะถูกชะล้างลงสู่พื้นดิน แต่หากผิวใบมีความเหนียวมากฝุ่นละอองจะหลุดออกจากผิวของใบได้ยากขึ้นต้องรอให้ใบร่วงฝุ่นจึงจะกลับมาสู่พื้นดิน
พืชทุกชนิดสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ผิวใบและสิ่งปกคลุมบนผิวใบ จากงานวิจัยในหลายๆประเทศ พบว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองโดยทั่วไป สามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนได้ประมาณ 100 กรัม ต้นไม้ใหญ่ในกรุงปักกิ่งสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ประมาณ 300 กรัมต่อปี ต้นไม้ที่โตเต็มที่ในประเทศเนเธอร์แลนด์สามารถดักจับฝุ่นละอองได้ถึง 1.4 กิโลกรัม ทั้งนี้ปริมาณการดักจับฝุ่นละอองจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของฝุ่นละอองด้วย โดยการคัดเลือกพืชเพื่อดักจับฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องยึดเกณฑ์ ไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มที่มีใบที่ใบมีผิวหยาบหรือมีขนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าผิวเรียบมัน ต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบจะมีประสิทธิภาพดีกว่าไม้ผลัดใบ และพืชที่มีผิวใบโดยรวมมากกว่าจะสามารถดักจับฝุ่นละอองได้มากกว่าพืชที่มีผิวใบน้อย ดังนั้น ต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มที่มีขนาดเล็กจำนวนมากจึงมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองสูงกว่าต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่
ชนิดของใบพืชที่เหมาะสมในการดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ในพืช จะมีที่มีลักษณะเรียวเล็ก ใบหยาบ มีขนและเหนียว นอกจาก ลักษณะของใบแล้วลักษณะของลำต้นและกิ่งก้านที่พันกันอย่างสลับซับซ้อนก็มีส่วนช่วยในการดักจับฝุ่นละอองได้เช่นกัน ทั้งนี้ จากการศึกษาพรรณพืช 35 ชนิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น โดยแบ่งเป็น ระดับ 1 ถึง ระดับ 5 จากประสิทธิภาพต่ำที่สุดถึงมากที่สุด พบว่า พืชที่อยู่ในระดับ 4 มี 5 ชนิด ได้แก่ ทองอุไร ตะขบฝรั่ง เสลา จามจุรี และแคแสด ระดับ 3 มี สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง กะทกรก ไผ่รวก แก้ว หางนกยูงไทย กรรณิการ์ คริสตินา ข่อย โมกมัน สกุลชงโค ตะแบก อินทนิล ระดับ 2 ได้แก่ พวงชมพู อัญชัน พวงคราม วงศ์ส้มกุ้ง ฉัตรพระอินทร์ วาสนา โมกบ้าน สั่งทำ โพทะเล พฤกษ์ ขี้เหล็กเลือด ปอกระสา ตะลิงปลิง ขี้เหล็กบ้าน ชมพูพันธ์ทิพย์ และระดับ 1 มีโมกหลวง ส่วนระดับ 5 ในพืชที่ศึกษาไม่มี
“ประโยชน์ของพืชพรรณกับการบรรเทามลพิษสำหรับชุมชนเมืองและเมืองใหญ่ จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศและดูดซับสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากวัสดุที่ใช้ตกแต่งอาคารได้ 10 -90 %ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่เลือกใช้และช่วยกรองฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปลูกไม้พุ่มที่มีใบเล็กละเอียดช่วยเก็บฝุ่นได้มากถึง 60-80% ของพุ่มทั้งหมด ทั้งนี้ หากเป็นชีวิตคนเมืองที่อยู่คอนโดหรือมีพื้นที่น้อย แนะนำให้ปลูกคริสตินาซึ่งจะมีใบมากเป็นพุ่มสามารถปลูกไว้ที่ระเบียงได้หรือทำสวนแนวดิ่งด้วยการปลูกต้นไม้แขวนที่มีใบห้อยลงมาและปลูกให้เป็นแพ ”ผศ.ดร.ธรรมรัตน์กล่าว