สบยช. เตือนภัย 'สมองฝ่อถาวร' อันตรายจากสารระเหย
สบยช. เตือนภัยผู้เสพสารระเหยอาจถึงขั้นพิการทางสมอง กลายเป็นโรค “สมองฝ่อถาวร” ได้
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารระเหย คือ สารที่ได้มาจากขบวนการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม มีลักษณะเป็นไอ ละลายได้ดีในไขมัน ระเหยได้รวดเร็วในอากาศ ออกฤทธิ์กระตุ้นและกดประสาทส่วนกลาง ผลิตภัณฑ์ที่มีสารระเหยเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ทินเนอร์ แลคเกอร์ ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ กาวอินทรีย์สังเคราะห์ที่มียางนิโอปรีนหรือสารกลุ่มไวนิล เป็นตัวประสาน กาวอินทรีย์ธรรมชาติที่มียางสน หรือชันสนยางธรรมชาติหรือสารเซลลูโลส เป็นตัวประสาน เมื่อสูดดมสารระเหยเข้าสู่ร่างกายจะได้รับพิษระยะเฉียบพลัน ทำให้ตื่นเต้น ร่าเริง มีอาการคล้ายคนเมา ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ตาไวต่อแสง หูแว่ว นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และพิษเรื้อรัง หากเสพต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะถูกทำลาย ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคมะเร็งปอด ไตอักเสบ การทำงานของหัวใจผิดปกติ โรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้สารพิษจะไปทำลายเซลล์ประสาท ระบบประสาทและสมอง ทำให้สมองเสื่อม อาจถึงขั้นพิการทางสมอง กลายเป็นโรค “สมองฝ่อถาวร” ระบบกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้อลีบ มือสั่น การทรงตัวไม่ดี เดินเซ อาจเป็นอัมพาตที่แขนหรือขา บางรายจะมีอาการทางประสาท
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สารระเหยเป็นสิ่งเสพติดที่มีความร้ายแรงมาก เพราะเสพติดง่ายและก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะโรค “สมองฝ่อถาวร” ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์พบว่ายังไม่มียาหรือวิธีการใดๆ ที่จะสามารถรักษาโรคสมองฝ่อถาวรให้หายเป็นปกติได้ ผู้ที่ติดสารระเหยเมื่อไม่ได้เสพจะมีอาการขาดยา หงุดหงิด ง่วงเหงาหาวนอน ปวดท้อง เหงื่อออกมาก ปวดตามกล้ามเนื้อ ความคิดฟุ้งซ่าน มีพฤติกรรมก้าวร้าว นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายเจ็บหน้าอก คลื่นไส้และอาเจียน จึงควรได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการโดยแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ด้วยการบำบัดรักษาอาการขาดยา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางกายและทางจิตจนมีสุขภาพดีขึ้นและให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ โดยผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การใช้กระบวนการทางจิตวิทยาในการแก้ไขปัญหา รู้จักหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการเสพสารระเหย การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลิกเสพสารระเหย ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th