กรมควบคุมโรค เตือนดูแลบุตรหลานใกล้ชิด กันสุนัข-แมวกัดหรือข่วน

กรมควบคุมโรค เตือนดูแลบุตรหลานใกล้ชิด กันสุนัข-แมวกัดหรือข่วน

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน หลังปี 61 พบผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่า 520,000 ราย และกว่า 30% เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.62 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ฝูงสุนัขจรจัดกัดเด็กวัย 7 ขวบ ในจังหวัดทางภาคใต้ บาดเจ็บและเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล นั้น กรมควบคุมโรค ได้ทบทวนข้อมูลรายงานเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวในหลายปีที่ผ่านมา พบสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.ผู้ที่ถูกกัดหรือทำร้ายส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 2.สุนัขเหล่านี้อาศัยอยู่ตามชายหาด มักอยู่กันเป็นฝูง และมีพฤติกรรมหวงถิ่น และ 3.ปัญหาสุนัขจรจัดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มักเกิดจากเจ้าของสุนัขที่ไม่สามารถเลี้ยงสุนัขได้ เช่น ย้ายที่อยู่ สุนัขออกลูกมากเกินที่จะเลี้ยงได้ ทำให้ปล่อยสุนัขไว้ตามที่ต่างๆ

จากรายงานการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์โดยกรมปศุสัตว์พบว่า ในปี 2561 พบสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่า 1,400 ตัว กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เกือบครึ่งเป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของและไม่ทราบประวัติ นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในปี 2561 มีจำนวนผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่า 520,000 ราย และกว่าร้อยละ 30 เป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ป้องกันและลดความเสี่ยงการถูกสัตว์กัดหรือข่วน โดยเฉพาะที่สาธารณะที่มีฝูงสุนัขจรจัด รวมถึงสัตว์เลี้ยงในบ้าน เนื่องจากสัตว์ไม่คุ้นชินอาจจะทำอันตรายแก่เด็กได้ สำหรับผู้เลี้ยงสุนัข ควรเลี้ยงอย่างรับผิดชอบ เลี้ยงในรั้วรอบขอบชิด หากพาออกข้างนอกควรใส่สายจูง และต้องนำสุนัขไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ทำหมันถาวรเมื่อไม่ต้องการให้สุนัขเพิ่มจำนวน และไม่นำไปปล่อยให้เป็นภาระของสังคม หากในพื้นที่มีสุนัขจรจัด ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสุนัขเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม สุนัขจรจัดควรเป็นความรับผิดชอบของคนในสังคม เช่น การพาสุนัขไปฉีดวัคซีน ระบุเจ้าของหรือมีการรับเลี้ยงจะดีที่สุด

หากถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที ใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง และควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ดังนี้ 1.อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโห 2.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 3.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพราะสัตว์เหล่านี้อาจกัดหรือข่วนได้ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

S__11763854